วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทางรอดไทย ใน วิกฤษยูโร จุดอ่อน"งูเห่า 11 ตัว"จุดแข็ง"เสือ11ตัว

ท่ามกลางวิกฤตการเงินในสหภาพยุโรป (ยูโรโซน) ที่ยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง และไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถแก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว การรับมือของประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่หันมาทบทวนนโยบายการบริหารจัดการประเทศอย่างรู้เขา รู้เรา ทั้งด้านบวกและด้านลบ

วิกฤตก็จะเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ได้ เพราะบนโลกที่ไร้พรมแดน มีทั้งปัญหาและโอกาส การตีโจทย์ให้แตกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

ทางออกของวิกฤตยูโรโซนในกรณีเลวร้ายที่สุด เชื่อว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ อาจจะต้องดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) ข้ามทวีป เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ยูโรโซนเช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรป(ECB) ที่ต้องดำเนินมาตรการ QE ด้วยตนเอง โดยอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบไม่จำกัด จนทำให้เกิดเป็น Double QE Action

ทางรอดของ ยูโรโซน จึงต้องดำเนินการ 3 เรื่องไปพร้อมๆ กัน

1. Macro-Economic Reform ยกเครื่องเศรษฐกิจมหภาคใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบายการเงิน (Monetary Policy) หรือนโยบายการคลัง (Fiscal Policy)

2. Real-Sector Reform ตรงนี้สำคัญมาก เพราะว่าจะเห็นได้ชัดว่า นอกจากเยอรมันแล้วประเทศอื่นๆน่ากังวลมาก แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเองก็มีปัญหาหนักในเรื่องนี้

3. จะต้องทำ Financial –Sector Reform อย่างจริงจัง

สภาวะเช่นนี้จะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจเอเชีย และเศรษฐกิจไทย แล้วประเทศไทย 
จะเอาอยู่หรือเอาไม่อยู่ ?

จากตรงนี้ต้องมาวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของประเทศไทย ว่ามีอะไรบ้าง

สิ่งที่น่าสนใจ เวลานี้ประเทศไทยมีจุดอ่อนและจุดแข็งอยู่ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน

จุดอ่อน 11 เรื่องหรืองูเห่า 11 ตัวที่ประเทศไทยต้องระวังส่งผลกระทบในห้วงเวลานี้ แบ่งเป็น งูเห่าภายนอกประเทศ 5 ตัว และงูเห่าที่อยู่ภายในประเทศอีก 6 ตัว

ปัจจัยที่เป็นจุดอ่อนภายนอกประเทศที่อาจจะส่งผลสะเทือนถึงประเทศไทยมีทั้งหมด 5 เรื่อง

1. ปัญหาของประเทศอินโดนีเซีย เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าอินโดนีเซียเนื้อหอมมาก แต่ยังมีปัจจัยต่างๆภายในประเทศอินโดนีเซียที่ไม่ดีนัก ทั้งปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาเศรษฐกิจ และในปีหน้าอินโดนีเซียจะมีการเลือกตั้งใหม่อีก หากอินโดนีเซียมีปัญหาก็จะส่งผลทำให้อาเซียนมีปัญหาตามไปด้วย เพราะอินโดนีเซียมีจีดีพีใหญ่ที่สุดในอาเซียน

2. เวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในกลุ่ม CLMV หรือประเทศริมฝั่งโขง ขณะนี้เริ่มมีปัญหาเงินเฟ้อสูง ซึ่งหากประเทศไหนที่เงินเฟ้อสูงจะมีปัญหาการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เช่น นโยบายการเงินการคลัง ฯลฯ

3. ประเทศอินเดีย ที่ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อพุ่งไปถึง 7.5 เปอร์เซ็นต์กว่า อัตราดอกเบี้ยก็สูงมาก ถ้าอินเดียมีปัญหาก็จะลามเข้ามาในเอเชียอื่นๆ เช่นกัน

4. ฮ่องกง ด่านหน้าที่เป็นศูนย์รวมสถาบันการเงินของสภาพยุโรป ฉะนั้นทันทีที่มีปัญหาที่ยุโรป นายทุนจะถอนเงินกลับ เพื่อไปรักษาบริษัทแม่ไว้ หากฮ่องกงมีปัญหาจะกระทบกับจีน เพราะฮ่องกงเป็นปากประตูของจีนที่ใช้ปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก

5. สิงคโปร์ วันนี้มีสถานะคล้ายๆ กับฮ่องกง เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญ และที่สำคัญสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก หากเกิดอะไรขึ้นกับสิงคโปร์ ประเทศไทยก็จะลำบากไปด้วย

ส่วนของปัจจัยที่เป็นจุดอ่อนภายในประเทศหรืองูเห่าอีก 6 ตัว ประกอบด้วย

1. ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งขณะนี้เริ่มประทุขึ้นเรื่อยๆ นอกจากสร้างปัญหาทางด้านการเมืองแล้วยังสร้างปัญหาต่อการเกิดสุญญากาศของการดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะใช้บริหารจัดการประเทศอย่างทันการณ์ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และจะกระทบกับการจัดการกับปัญหา ถ้าความขัดแย้งบานปลาย

2. ช่วงเวลานี้เป็นระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย ใน 2 เรื่อง นั่นคือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งกระทบต่อค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ และสองเป็นการเปลี่ยนผ่านของการยกเลิกประกันเงินฝาก 
ถ้ารัฐบาลดูแลไม่ดีจะทำให้ประเทศสั่นมากขึ้นได้

3. ระวังภาวะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งขณะนี้เริ่มก่อตัวให้เห็นบ้างแล้ว รถไฟฟ้าเส้นสุขุมวิทไปถึงสำโรงแล้ว เฉพาะในช่วงซอยทองหล่อถึงเอกมัย 4-5 ซอย มีโครงการเกิดขึ้น 35 โครงการ เกือบ 10,000 ยูนิต ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

โครงการอสังหาริมทรัพย์เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และสนองตอบต่อความจำเป็นด้าน “ปัจจัยสี่” ของประชาชน แต่ต้องระมัดระวังปัญหา “ฟองสบู่” เพราะถ้าเกิดขึ้นและแตกตัวออกมาแล้วจะสร้างความเสียหายและแก้ไขยากมาก ดังเช่นปัญหาที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นในปี 1990 เป็นต้นมา ปัญหา “Subprime crisis” ในสหรัฐ และล่าสุดคือ ปัญหาในสเปน

4. การขยายตลาดสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบในทุกด้าน เพราะจากสนามบินสุวรรณภูมิบินไปกรุงพนมเปญใช้เวลา 50 นาที ไปย่างกุ้งใช้เวลา 1 ชั่วโมง 5 นาที ไปฮานอยใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ฉะนั้นทำอย่างไรให้กรุงเทพกลายเป็นเมืองหลวงของอาเซียนหรือ Hub of Mainland ASEAN และไม่บิดเบือน (Distort) ระบบเศรษฐกิจ

5. ปัญหานโยบายประชานิยมต้องบริหารจัดการให้ดี ทำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชน

6. ภาคส่งออก ในช่วง 5 เดือนแรกเห็นได้ชัดว่า การส่งออกของไทยยังติดลบอยู่ 1.74 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่าการส่งออกในปีนี้ทำให้ขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลักได้ยาก ฉะนั้นถ้าปีนี้ทำได้ 8-9% ก็ไม่น่ามีปัญหา

ทั้งหมดคือจุดอ่อนที่ประเทศไทยต้องบริหารจัดการให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้ฉุดประเทศไทยดิ่งตามวิกฤตโลก

อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ยังมีจุดที่เป็นความเข้มแข็งที่ทำให้อุ่นใจอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ขอเรียกจุดแข็งของประเทศไทยว่าเสือ 11 ตัว ประกอบด้วย

1. ประเทศไทยยังมีทุนสำรองต่างประเทศเทียบสัดส่วนกับจีดีพีอยู่ในระดับสูงที่สุดในโลกในขณะนี้

2. อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ 2% กว่าเท่านั้น ดังนั้นการดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติยังทำได้คล่องตัวมาก ต่างจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศอินโดนีเซีย อินเดียและเวียดนามที่อยู่ในระดับสูงมาก

3. ธุรกิจเอกชนของไทยกลุ่มใหญ่ๆ ยังมีทุนสำรองอยู่ค่อนข้างมาก

4. ภาระหนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ ทุนสำรองของไทยมีมากกว่าหนี้ต่างประเทศ 3-4 เท่าตัว

5. ภาพลักษณ์ประเทศไทยยังดูดีในสายตาชาวโลก ยกเว้นภาคการเมือง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่แต่ละประเทศจะนำเงินมาฝากไว้หรือลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะเงินจากยุโรป จะเป็นตัวที่ทำให้ทุนต่างประเทศมองว่าถ้าเขาจะย้ายเงินไปฝากผีฝากไข้กับใครจะใช้ใครเป็นศาลาพักผ่อน ก็ต้องดูตัวแบบนี้

6. หนี้ภาคเอกชนไทยอยู่ในระดับต่ำ เพราะหลังจากที่ผ่านเลยวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งมาแล้ว หนี้เราลดลงมาก ทำให้ความคล่องตัวในการบริหารวิกฤตทำได้ง่ายขึ้น

7. หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 40% ของจีดีพี ถ้ารักษาระดับอย่างนี้ไปได้ต่อเนื่อง ประเทศไทยก็จะมีความแตกต่างจากยูโรโซนราวฟ้ากับเดิน เพราะปัญหานี้เขย่ายูโรโซนอยู่

8. ปัญหาการว่างงานของประเทศไทยล่าสุด มีตัวเลขไม่ถึง 1% ของคนในวัยทำงาน ตรงข้ามกับยูโรโซนที่ว่างงานเป็นตัวเลข 2 หลัก คือมากกว่าเรากว่า 10% ซึ่งว่างงานมากกว่าไทยกว่า 10 เท่าตัว

9. โอกาสในการโดยสารAEC โดยชูยุทธศาสตร์ Hub of Mainland ASEAN

10. การเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจจากภาคการผลิตไปสู่ภาคบริการ ถือว่าส่งผลดีกับประเทศไทย ฉะนั้นต้องบริหารให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และใช้ประโยชน์จากการขยายตัวของภูมิภาคจากแรงหนุนของAEC ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด

11. เงินคงคลัง 5.5 แสนล้านบาทถือว่าอยู่ในระดับสูงแต่ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง

บทเรียนของยูโรโซนในห้วงเวลานี้อาจจะดูเลวร้ายจนสร้างความกังวลให้กับทุกประเทศทั่วโลก แต่หากประเทศไหนรู้จักที่จะเรียนรู้ ตื่นตัววิเคราะห์ศักยภาพของประเทศอย่างตรงไปตรงมา ก็จะสามารถบริหารจัดการนำพาประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ เพราะเหรียญมีสองด้านเสมอ

โดย..รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM)


www.matichon.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม