เมื่อเวลา 14.08 น. วันที่ 29 มิ.ย. ที่ห้องบอลรูม 2 ชั้น 4 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ถนนเพลินจิต แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สถาบันศึกษาสาธารณะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ จัดเสวนาเวทีสาธารณะ " 9 ปีความรุนแรงภาคใต้ : อัศจรรย์ความรู้ในแดนเนรมิต?"
ศาสตราจารย์ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการแผนงาน นสธ. กล่าวถึงการจัดเสวนา ว่า อยากให้สังคมมีความรู้รวมกันให้มากกว่านี้ อาทิ เรื่องนาซา ส่วนชุดโครงการนี้มีการศึกษาจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในโดยอาศัยข้อมูลจากสำจักงานสถิติแห่งชาติ เรื่องชีวิตคนไทยว่าตอนนี้เรามีชีวิตดีขึ้นหรือไม่ และเราจะหลุดพ้นจากรายได้ปานกลางได้เมื่อไหร่ จึงมีคำถามที่ต้องมองไปข้างหน้า นอกจากนี้สถาบันเคยมีการวิจัยปัญหาภาคใต้ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งคนในกรุงเทพและพื้นที่อื่นก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับภาคใต้ การจัดกิจกรรมเพื่อจะมองว่าวันนี้เราเดินไปถูกทางหรือไม่
ยอดเสียชีวิต101เดือนพุ่ง5พันคน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเสวนาหัวข้อ "ทางเลือก สำหรับทางรอดของภาคใต้" ว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา 101 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค.2547 ถึง พ.ค.2555 มีเหตุการณ์กว่่า 11,700 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ 1.4 หมื่นคน แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 5 พันคน บาดเจ็บอีก 9 พันคน โดยช่วงแรกมีเหตุการณ์เกิดขึ้นสูงมาก แต่หลังจากปี 2550 เหมือนเหตุการณ์จะลดลง แต่ยังคงที่เดือนละ 60-100 ครั้ง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์แต่ละเดือน พบว่าความสูญเสียไม่เด่นชัดเท่ากับจำนวนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สรุปได้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงลดลง แต่ความตาย ความบาดเจ็บยังคงที่ ซึ่งเรามองว่าเหมือนเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งคลายกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีปมปัญหาภายในที่แก้ไม่ตก คล้ายกับว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งขึ้นไปสู่ที่ราบสูงที่ยาวมาก แต่กลับไม่มีทางลง
ชูโมเดลทางออกเลือกตั้งผู้ว่าฯ-เจรจา
ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อว่า นโยบายของรัฐที่ลงไปในพื้นที่ 9 ปีที่ผ่านมา มีงบประมาณ 1.8 แสนล้านบาท แต่งบประมาณที่ลงไปต่อปีถือว่าช่วยพยุงให้ภาวะเศรษฐกิจอยู่ได้ แต่การกระจายรายได้ยังไม่ตกไปอยู่กับคนส่วนใหญ่ เนื่องจากมีปัญหาความไม่โปร่งใสด้วย และนโยบายมีการใช้เรื่องการทหารมาก มีกำลัง 1.5 แสนคน ทั้งทหาร ตำรวจอาชีพ อาสาสมัคร เป็นต้น ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐยังมีไม่สูง จึงต้องดูว่าทางรอดจะมีอย่างไรบ้าง โดยมีข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจแบบพิเศษประมาณ 6 โมเดล อาทิ มีศอ.บต. มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรง หรือมหานครปัตตานี ซึ่งโมเดลทั้งหมดก็ยังอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอพูดคุยกับผู้ใช้ความรุนแรงในการเจรจาฝ่ายตรงข้ามกับรัฐเพื่อหาทางออกด้วย
"สิ่งที่ควรจะทำควรเน้นเรื่องของความริเริ่มแก้ไขปัญหาโดยอาศัยทุกแนวทางทำไปพร้อมกัน ทั้งเรื่องการกระจายอำนาจ การแก้ปัญหาความยุติธรรมในพื้นที่ การปฎิรูปความมั่นคง และมีการประสานงานหลายๆฝ่าย ถามว่าอนาคตเราพอมองเห็นแต่ต้องมีการปฎิรูปทางนโยบาย เพราะมีความสำคัญมากจึงต้องประกอบความร่วมมือหลายๆฝ่าย " ดร.ศรีสมภพ กล่าว
กอ.รมน.ชี้ความรุนแรงปะทุเป็นซีรี่
ด้านพ.อ.ชินวัฒน์ แม้นเดช กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาใหญ่ด้านความมั่นคงที่กระทบฐานรากของประเทศ ถึงเราพูดถึงประชาคมอาเซียน แต่ประตูทางภาคใต้ยังมีปัญหา การขับเคลื่อนต่อไปอาจจะมีปัญหาถ้าเราไม่ช่วยกันแก้ปัญหาของประเทศ หากสามารถแก้ปัญหายิ่งเร็วก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็จะเป็นผลดีต่อลูกหลาน ความรุนแรงที่เผชิญหน้ายังเป็นความท้าทายของคนไทยทุกคน เราเคยผ่านองค์ความรู้เรื่องสงครามเย็นมาแล้ว แต่ปัญหาภาคใต้ต้องมีองค์ความรู้ งบประมาณ 9 ปีที่ผ่านมามีต่อเนื่องและมหาศาล แต่ยังไม่สามารถลดการเผชิญหน้าได้ เป้าหมายความรุนแรงไปสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ปรากฎการณ์ความรุนแรงหลายเหตุการณ์เป็นซีรี่ มีการยิงไทย-พุทธ หรือมีระเบิดก็จะเกิดพร้อมกัน 3 จังหวัด แต่กลับไม่มีกลุ่มใดออกมาแสดงความรับผิดชอบแม้องค์กรเดียว
รับนโยบายรัฐแบ่งแยกความเหมือน
พ.อ.ชินวัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการโฆษณาชวนเชื่อในพื้นที่ เบี่ยงเบนข้อเท็จจริง และเชิงปฎิบัติการ ทำให้พื้นที่สับสนไปหมด จึงเป็นวิวาทะของสังคมไทยในภาคใต้ แบ่งเป็น 1.เป็นปัจเจกชนที่แค้นรัฐส่วนตัว 2.การสร้างสถานการณ์ 3.การแบ่งแยกดินแดน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ถ้าหาโจทย์ไม่เจอก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะพื้นที่ภาคใต้มีความโดดเด่นเชิงอัตลักษณ์ ซึ่งนโยบายขอรัฐบางอย่างทำลายความแตกต่างเพื่อสร้างความเหมือนที่นำไปสู่ปัญหา จึงอยากให้ความแตกต่างคือต้นทุนทางสังคมที่รัฐต้องบริหารจัดการให้ดี เช่น สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ตัวแสดงความรุนแรงภาคใต้ มี 3 ส่วน 1.ตัวแสดงที่ใช้อำนาจรัฐ 2.ตัวแสดงที่ต้องความอยู่ของอัตลักษณ์ 3.พี่น้องประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นมาลายู-มุสลิมซึ่งเป็นตัวกลางของตัวแสดง 1 และ 2 ซึ่งตัวแสดงที่ 2 แฝงตัวหลังประชาชนอย่างลับๆ และไม่เคยแสดงความรับผิดชอบ
"ทางรอดสำคัญอยากให้สังคมไทยทั้งหมด สร้างเอกภาพทางความคิด หยุดวิวาทะทั้งหมด ยิงปืนให้ตรงเป้า แก้ปัญหาให้ตรงเป้า ผมเชื่อว่าอยู่ได้ เราต้องกุมสภาพประชาชนพี่น้องมุสลิมให้ได้ ให้ได้ใจพี่น้องมาลายูให้ได้ ส่วนรัฐต้องควบคุมองค์กรให้มีเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน และสุดท้ายต้องกุมสภาพต่างประเทศให้ได้ ให้เห็นว่านานาชาติไม่ยอมรับความรุนแรง โดยเราจะทำลายความชอบธรรมกลุ่มเหล่านี้อย่างไร ถ้าทำได้ทั้งหมด การแก้ปัญก็ไม่ยาก"พ.อ.ชินวัฒน์กล่าว
ชูแผน 3 ปีดับไฟใต้-หนุนมีส่วนร่วม
ด้านนายดนัย มู่สา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาถ้าใช้ความรู้ และจินตนาการที่มีอยู่ไม่นำไปสู่ทางรอดที่ดีได้ จึงต้องอาศัยการวิจัยทางวิชาการด้วย ถ้าทางเลือกต้องมีการชี้กรอบ และทางรอดต้องมีการประเมิน หลายครั้งทำนโยบายดีมาก แต่บางเรื่องก็ปฎิบัติไม่ได้สักครั้ง อันแรก 1.เจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจนโยบาย และไม่ทำ 2. รู้ เข้าใจ แต่ไม่ทำ 3. รู้ เข้าใจ แต่ไม่ศรัทธา ทั้งนี้ เรามีนโยบายทางเลือก 3 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ 2555-2557 มีการกำหนดการกระจายอำนาจไว้ ส่วนวิธีคิดทางเลือกเราได้ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม 4 กลุ่ม 1.ภาครัฐ 2.ภาควิชาการ 3. ภาคประชาคมข่าวกรอง 4. ภาคประชาชน ซึ่ง 4 กลุ่มนี้ คิดคนละวิธี ทำให้สมช.ทำกรอบใหญ่ยังปวดหัวมาก แต่เราจะประเมินสถานการณ์ไปด้วย เช่น มีทั้งระดับบุคคล ระดับโครงสร้าง หรือชั้นวัฒนธรรม ที่มีเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง
"ส่วนทางออก 3 ปีข้างหน้า ต้องใช้พื้นฐานการมีส่วนร่วมสูงมาก การความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงได้ ต้องมีการสร้างสมดุลในพื้นที่ การเคารพสิทธิมนุษยชน และสำคัญที่สุดกลไกบริหารจัดการภาครัฐต้องไปด้วยกันให้ได้ อย่างไรก็ตาม หัวใจทางรอดระยะสั้นต้องมุ่งความปลอดภัย ขณะที่ระยะยาวต้องให้ความสำคัญด้านการศึกษา ถ้าทำให้สำเร็จได้ หน่วยงานรัฐต้องเข้าใจตรงกัน ให้ภาคส่วนต่างๆมาร่วมกัน และต้องให้รัฐบาลแสดงความจริงจังแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน"นายดนัยกล่าว
ศอ.บต.แนะระดมการศึกษาแก้ปัญหา
นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า การศึกษาชายแดนใต้ยังมีความไม่รู้อยู่สูงมากในระบบ การศึกษาในชายแดนใต้ไม่เหมือนกับกรุงเทพฯ เชียงใหม่ แต่จะทำให้สิ่งเหลานี้ลงรอยได้หรือไม่ โดยให้การศึกษาสร้างสรรค์ ซึ่งเด็กเหล่านี้มีการเรียนหนักมากทั้งสามัญและด้านศาสนา มีจำนวนกว่า 4.5 แสนคนในพื้นที่ ดังนั้น ถ้าเราต้องหาทางรอดการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่จะเห็นภาพปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่เรื่องเลือกตั้ง แต่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ปัญหาชายแดนใต้จะผ่านไปได้ โดยต้องไปดูแลประชาชน 1.ต้องมีความรู้ด้านนั้นให้จริง 2.มีศักยภาพเรียนรู้ ใจเปิด หูฟัง ตามอง ทั้งนี้ ตนยืนยันการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะเปลี่ยนผ่านการก้าวสู่สันติภาพ
จี้ปรับโครงสร้างปกครองรับ3จว.ใต้
ขณะที่นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน สื่อมวลชนอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า ทางคิดทางเลือกให้เกิดทางรอดเราจะปฎิเสธความจริงไม่ได้ ความจริงที่มีความแตกต่างด้านโครงสร้าง ส่วนอีกหนึ่งความจริงของทางเลือกมีการตายจริงๆ สถิติวันละ 2 คนครึ่ง สังคมไทยต้องคิดเรื่องนี้ไม่ใช่ตั้งคำถามจากหนังสือพิมพ์ เว็ปไซค์ อินเตอร์เนต ก็จะไม่ได้กลิ่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ แต่ตนเชื่อว่าถ้ามีทางเลือกก็ยังสะท้อนการมีความหวัง แต่ว่าทางเลือกสำหรับคนที่อยู่ข้างในตะโกนเป็นฉันทามติร่วมกันว่าอยากได้ทางเลือกนี้หรือไม่ จะต้องทำให้เสียงนี้ตะโกนออกมา ทำให้คนกล้าพูด กล้าคิด กล้าเถียง ถ้าไม่มีเวทีจะเป็นเรื่องอันตราย โดยต้องสร้างบรรยากาศ และเปลี่ยนวิธีมองไม่ใช่คิดแค่เรื่องวางอาวุธอย่่างไร แต่ต้องคิดถึงประชาชนอีกด้าน ซึ่งตนเชื่อว่าภาคใต้จะไปได้ต้องทำพร้อมกัน 4 ส่วน 1.ต้องปรับการเมืองการปกครองให้เข้ากับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.ความยุติธรรม 3.ต้องมีการพูดคุย และ4.เดินด้วยความรู้ ดังนั้น ไม่มีที่ใดในโลกที่จัดการความขัดแย้งได้ โดยไม่ใช่วิธีใหม่
จากนั้นเวลา 16.20 น. ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสวนาหัวข้อ " 9 ปีความรุนแรงภาคใต้: อัศจรรย์ความรู้ในแดนเนรมิต?" ทั้งนี้ ดร.ชัยวัฒน์ ได้เผยแพร่รายงานวิจัยจากนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ ผู้ก่อการใช้ความรุนแรงเป็นชายหนุ่ม ไม่ได้แต่งงาน อายุ 16 - 50 ปี อายุเฉลี่ย 26.6 ขณะที่ผู้ฝึกสอนและหัวหน้าหน่วยของอาร์เคเค อยู่ในวัยปลาย 30 และผู้นำดีพีพี อายุประมาณ 40-70 ปี หรือ ร้อยละ 54 เป็นขาวนามีนาของตัวเองมร้อยบะ 1 ไม่มีงานทำ ร้อยละ 5 เป็นเจ้าของกิจการ ร้อยละ 12 ทำงานรับจ้าง มีเพียงร้อยละ 2 เป็นครูสอนศาสนา นอกจากนี้ในหัวข้อ "ปัญหาทำการวิจัยกับผู้ก่อการร้าย" ระบุว่า ข่าวกรองประมาณร้อยละ 60 ถึง 70 ที่ได้จากหมู่บ้านเป็นเรื่องเท็จ หรือเก่าเกินไป หรือไม่ก็ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ บางทีคนให้ข่าวก็อยากได้เงินและให้ข่าวเก่าๆ หรือบอกข่าวลือที่เก็บตกมาได้
นอกจากนี้ หัวข้อ "เรื่องเล่าจากยูแว" ระบุว่า "เขาไม่ได้รับเงินจากต่างประเทศ ปืนที่ใช้ก็มีแค่ไม่กี่กระบอก มือปืนก็มีไม่กี่คน ปืนเวียนกันใช้ใน 3 จังหวัด มือปืนเล่าว่า เขาคิดว่าปืนที่เปื้อนเบือดมีวิญญาณหรืออะไรคล้ายๆอย่างนี้อยู่กับปืน ที่ยูแวต้องลุกขึ้นมาสู้กับรัฐไทย โดยใช้ความรุนแรงเพราะว่ามันเสียงดัง เราสู้มานานแต่ไม่เคยมีคนหันมามองเราเลส ตอนนี้มีเสียงปืน เสียงรัเบิดคนก็เลยมามอง องค์กรต่างประเทศก็หันมามอง ยูแวก็เปรียบเหมือนแตงโม ส่วนรัฐไทยก็เหมือนทุเรียน ทุกครั้งที่เราสู้ก็เหมือนเอาแตงโมไปชนกับทุเรียน เรารู้ว่ายังไงแตงโมก็แพ้ทุเรียน แต่เราก็ยังสู้ เพราะเราทนไม่ไหว"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น