วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

CESA จัดประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 8 ที่ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้รับเกียรติจากสมาคมการศึกษาเปรียบเทียบแห่งเอเชีย หรือ The Comparative Education Society of Asia(CESA) ในการจัดประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 8 ของสมาคม ในหัวข้อเรื่อง “Education at the Dawn of the New Decade : When the Quality and Sustainability Movement Converge" โดยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน(ฟุลไบรท์) เป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 8-11 กรกฎาคม 2555 ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการจัดประชุมครั้งนี้ว่า ในวาระครบรอบ 55 ปี แห่งการสถาปนาคณะครุศาสตร์ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กรกฎาคม นอกจากจะมีการประกาศเกียรติคุณปูชนียาจารย์ของคณะครุศาสตร์แล้ว ปีนี้คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ยังได้รับเกียรติจากซีซ่า ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมนานาชาติ ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญของนักการศึกษาจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ ที่สนใจ ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดอีกทั้งประสบการณ์การจัดการศึกษาในประเทศของตนเอง รวมถึงการเรียนรู้จากบทเรียนในต่างประเทศ เพื่อผลักดันให้การปฏิรูปการศึกษา และการจัดการศึกษาของประเทศตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบแนวคิด การศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการเชิงรุกเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

“การประชุมครั้งนี้ จุฬาฯ ได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม ฟังการบรรยาย และเสวยพระกระยาหารกลางวันในวันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม นอกจากนั้นทางซีซ่าแห่งเอเชีย จะขอพระราชทานพระราชานุญาตทูลเกล้าฯ ถวายโล่ตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคม เนื่องจากในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ยกย่องพระองค์ท่านเป็นนักการศึกษาเปรียบเทียบ”

กิจกรรมในการประชุมจะมีผู้เชี่ยวชาญการศึกษาเปรียบเทียบระดับโลก เข้าร่วม อาทิ Professor Lee Wing On จาก National Institute of Education, Singapore ซึ่งเป็นประธานสมาคมนักการศึกษาเปรียบเทียบระดับโลก, Professor Mark Bray จาก The University of Hong Kong อดีตประธานสมาคมนักการศึกษาเปรียบเทียบระดับโลก, Professor Kengo Mochida ประธานของซีซ่า ร่วมปาฐกถา บรรยายพิเศษ และอภิปราย รวมถึงมีการแสดงผลงานทางวิชาการจากนักการศึกษาเปรียบเทียบหลากหลายประเทศ จำนวน 290 เรื่อง จาก 22 ประเทศเข้าร่วม

ศ.ดร.ศิริชัย เล่าต่อว่า มีความจำเป็นอย่างมากที่นักการศึกษาทั่วโลกต้องให้ความสนใจ และพยายามพัฒนาคุณภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้ความพยายามเรื่องคุณภาพเกิดขึ้นต้องมีหลักสูตร นโยบาย และการบริหารจัดการทางการศึกษาที่ดี ขณะที่การพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนนั้น ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่นอกจากจะสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือละเลยที่จะคืนสภาพให้เป็นดั่งเดิม

รวมถึงต้องเปลี่ยนการยกระดับฐานะทางสังคมโดยการสร้างเสริมอำนาจ ซึ่งเป้าหมายหลักของการศึกษาเปรียบเทียบ เน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การจัดการศึกษาในแต่ละประเทศของตนเองระหว่างกัน จะทำให้เกิดความหลากหลาย ความแตกต่างที่ทำให้เห็นถึงบทเรียน การจัดการศึกษาที่มีปัจจัยข้อจำกัด และเกื้อหนุน มาประยุกต์ใช้กับการจัดการศึกษา ประเทศของตนเองต่อไป

“ภาพของนิสิตครุศาสตร์ จุฬาฯ ในอนาคต คือนักการศึกษาโลกที่มีทักษะความรู้ และทัศนคติที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาการศึกษา การใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนา ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสให้แก่นิสิต นักศึกษาในสถาบันการศึกษาด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษา ในกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานราชการ สมาชิกของซีซ่า และนักการศึกษา บุคลากร ได้เรียนรู้บทบาททางการศึกษาในกระบวนการพัฒนา ในลักษณะที่การกำหนดเป็นเป้าหมายสูงสุดของการจัดการศึกษามุ่งไปที่ความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศ เพื่อความมั่นคง อีกทั้งเสถียรภาพในระยะยาว และสามารถแข่งขันในระดับโลก”

โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกอย่างเชื่อมโยงส่งต่อถึงกันได้อย่างรวดเร็ว ความร่วมมือและความสัมพันธ์ของสถาบันการศึกษาในภูมิภาคจึงมีความจำเป็นอย่างมาก และการประชุมในครั้งนี้จะเป็นอีกเวทีหนึ่งในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แก่นักการศึกษา สนใจเข้าร่วมการประชุม http://cesa2012.edu.chula.ac.th



www.komchadluek.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม