วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิกฤติเศรษฐกิจ สร้างบทเรียน-ประสบการณ์ให้ภาคธุรกิจ พร้อมรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่

ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยถึง การครบรอบ 15 ปีวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ว่า บทเรียนที่ไทยได้รับจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้ไทยเรียนรู้ และมีประสบการณ์อย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ผลที่เกิดขึ้น คือ ทำให้ภาคเอกชนเกิดความระมัดระวังอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกัน ยังมุ่งเน้นการทำธุรกิจในสิ่งที่ถนัด และเพิ่มขีดความสามารถเพื่อก้าวไปสู่มาตรฐานระดับโลกได้

"ธุรกิจไทยมีการเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น มีโฟกัสที่ชัดเจนมากขึ้นในสิ่งที่ตนทำอยู่ และมีมาตรฐานที่สูงขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ทำให้เรามีความสามารถในการปรับตัวรับกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นได้มากพอ"

นอกจากนี้ ในส่วนของภาครัฐ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ดำเนินนโยบายที่มีความระมัดระวัง เป็นประโยชน์ในการสร้างมาตรฐาน และแนวทางใหม่ๆ ให้โอกาสเกิดขึ้น

@ภาค "ธุรกิจ-การเงิน" บริหารเสี่ยงดี

บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา คือ ภาคธุรกิจและภาคการเงินมีความระมัดระวังมากขึ้น และมีความเข้าใจความเสี่ยงรวมถึงการบริหารความเสี่ยงเป็นอย่างดี ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ระยะเวลาการจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตของคนไทยสั้นเกินไป หรือต้องเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในยุคต้มยำกุ้งเท่านั้น จึงจะจำความเสียหายครั้งนั้นได้ แต่ถือเป็นโชคดีของไทยที่ใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐ และยุโรปมากระตุ้นเตือนให้เห็นถึงความเสี่ยง

"ความพร้อมของไทยถือว่าดีขึ้น แม้วิกฤติในโลกอนาคต จะมีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น แต่ก็จะฟื้นตัวได้เร็ว จากข้อมูลที่เร็วขึ้น ความพร้อมเผชิญวิกฤติอาจจะดีขึ้น แต่ขอแค่อย่าประมาท อย่าคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรป จะไม่กระทบเอเชียหรือไทย ดังนั้น ต้องคิดว่า หากเกิดเหตุการณ์ขั้นไหน จะกระทบกับการบริโภคอย่างไร ควรมีแนวทางรับมือ แต่ละขั้นอย่างไรมากกว่าจะคิดว่าผลกระทบจะมาถึงหรือไม่"

@ชี้ไทยเสี่ยงสภาพคล่องหด

บุญทักษ์ ยังกล่าวอีกว่า ความเสี่ยงที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ คือ การพึ่งพิงภาคต่างประเทศมากไป โดยสัดส่วนการส่งออกของไทยสูงถึง 70-80% ของจีดีพี เมื่อปัจจัยภายนอกไม่แน่นอน ควรเตรียมความพร้อมของเศรษฐกิจไทย ด้วยการพึ่งพิงภาคการลงทุนจากรัฐและเอกชน หรือการบริโภคอย่างไร เพื่อทดแทนการส่งออก นอกจากนี้ ไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ลดลงด้วย ซึ่งที่ผ่านมา เคยชินกับการมีสภาพคล่องส่วนเกินสูงมาโดยตลอด จึงน่าเป็นห่วงว่าเอกชนอาจประมาท และคิดว่าจะมีสภาพคล่องในระดับสูงตลอดไป

แนวโน้มสภาพคล่องขณะนี้ลดลงอย่างมากจากที่เคยมี 1 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ลดลงมาอยู่ที่ 7 แสนล้านบาทในขณะนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการขาดดุลการค้าต่อเนื่อง หรือเกิดจากการถอนเงินลงทุนของสถาบันการเงินต่างชาติในไทย ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทย ต้องเข้าไปทดแทนสินเชื่อส่วนนั้น ถ้าเศรษฐกิจโลกเกิดภาวะชะงักงัน ทำให้เงินลงทุนจะไหลไปสู่สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำอย่างสกุลดอลลาร์ ทำให้น่ากังวลว่าผู้ประกอบการไทยอาจพบความยากลำบากได้

ส่วนภาคการเงิน ขณะนี้ ถือว่ามีความแข็งแกร่งมากเพียงพอ ด้วยระบบการบริหารความเสี่ยงที่ได้รับการพัฒนามากขึ้น แต่หากวิกฤติโลกมีความรุนแรง และยาวนานอาจส่งผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทย และผู้ประกอบการไทย ซึ่งอาจจะต่อเนื่องมาภาคการเงินได้ในที่สุด

@บาทมีเสถียรภาพมากขึ้น

ตรรก บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า หลังจากที่ไทยลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 ประเทศได้เปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ มาสู่ระบบลอยตัวค่าเงินแบบ มีการจัดการมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว จนถึงวันนี้ภาคเอกชนให้ความสำคัญและตระหนักถึงการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น โดยเฉพาะผลที่เกิดจากการไหลเข้าออกของเงินทุน ที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทำให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทขณะนี้ มีเสถียรภาพมากขึ้น เห็นจากกรอบความเคลื่อนไหวของเงินบาทเริ่มแคบลงเรื่อยๆ โดยปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 29.66-31.75 บาทต่อดอลลาร์ หรือเคลื่อนไหวช่วง 2 บาท แต่ปีนี้ ค่าเงินบาทยังขึ้นลงไม่ถึง 2 บาท หรือ 30.21-31.93 บาทต่อดอลลาร์

"ตลาดเงินพัฒนาดีขึ้นเพราะว่า เราเรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีต เรารับมือความเสี่ยงได้ดีขึ้น การที่ไทยมีความเข้าใจในระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ทำให้ต่างชาติมองว่า ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าออกจึงไม่ค่อยเกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้น จะเป็นของนักลงทุนระยะสั้น ที่ต้องการทำกำไร ทำให้ความผันผวนที่เกิดขึ้นในเวลานี้ อยู่ในกรอบที่ผู้ประกอบการรับได้"

ส่วนผู้ประกอบการใส่ใจซื้อเครื่องมือบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น เพราะเรียนรู้จากอดีตที่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงไว้ ผู้ที่ป้องกันความเสี่ยงส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ หรือรายกลาง ส่วนลูกค้ารายเล็ก มีการป้องกันความเสี่ยงไม่มาก เพราะขนาดธุรกรรมไม่คุ้มกับต้นทุนที่ต้องเสีย

@เข้าใจกลไกตลาดเงินดีขึ้น

ขณะที่นายวศิน ไสยวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ประสบการณ์ของไทย มีความเข้าใจกลไกตลาดเงินได้ดีมากขึ้น และพร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีกครั้ง โดยติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดใกล้ชิด ทั้งผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน และ ธปท. ซึ่งผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น จากในอดีตที่คิดถึงแค่การผลิตและส่งออก จึงทำให้ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจไปแล้ว

"สิ่งที่แบงก์แนะนำลูกค้า คือ ต้องศึกษาตลาดให้ดี ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงและบริหารต้นทุน และให้ความสำคัญต่อการปิดความเสี่ยงมากกว่ามองเรื่องเก็งกำไร"

ส่วนนายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย มองว่า เหตุการณ์ดังกล่าว สร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อค่าเงินบาทไทย เพราะตลาดเงินบาทหลังประกาศลอยตัวเงินบาท คือ กรอบการซื้อขายเงินบาทที่กว้างมากถึง 3 บาท ทั้งที่ไม่ควรเกิน 1 บาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของตลาด และการเก็งกำไรของนักลงทุนส่วนหนึ่ง และผู้ประกอบการก็ไม่ซื้อเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

หากมองไปในอนาคต ความท้าทายของตลาดเงินระยะต่อไป คือ การหันมาใช้เงินสกุลเพื่อนบ้านเป็นสกุลหลักในการซื้อขายสินค้า โดยสามารถกำหนดราคาได้เองโดยไม่ต้องอ้างอิงเงินสกุลที่ 3 อย่างดอลลาร์อีกต่อไป


paidoo.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม