ในที่สุดก็ชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญคงยังไม่ชี้ขาดกรณีคำร้องเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญผิดมาตรา 68 เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย! วันที่ 5 และ 6 กรกฎาคม จึงยังไม่ใช่วันท้าดวลได้เสียกันเสียทีเดียว แต่คงมีการซักถามและสืบพยานเพื่อหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีกหลายยก ส่วนจะวินิจฉัยชี้ขาดวันไหนนั้นคงต้องมีกระบวนการอีกหลายอย่างกว่าจะชี้ขาดได้
แม้แต่ปัญหาในเรื่องการสืบพยานที่มีการถอนตัวไปหลายราย รวมทั้งพยานบางรายก็ยังเป็นหน้าเดิมๆที่เคยทำงานด้วยกันแบบวัวเคยค้าม้าเคยขี่กันมาแล้วทั้งนั้น เปิดหน้ามาก็พอจะรู้คำตอบได้เลยว่าจะให้การต่อศาลว่าอย่างไร? ซึ่งคงไม่แคล้วจากที่เคยให้สัมภาษณ์อยู่ทางหน้าจอทีวี.นั่นเอง!
เสียงส่วนใหญ่ที่ติดตามข่าวสารการเมืองระดับลึกค่อนข้างเชื่อว่างานนี้น่าจะมีธงตั้งเอาไว้เรียบร้อยแล้ว นักวิชาการบางคนระบุว่า ศาลคงจะเรียกคนมาเป็นพยานให้การสัก 4-5 คนพอเป็นพิธี เหมือนอย่างเหตุการณ์ในอดีต ท้ายที่สุดก็ลงมติให้ยุบพรรคเพื่อไทยไป
นั่นค่อนข้างเป็นการมองเหตุการณ์ด้านลบ แต่ในบางส่วนก็มองว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีความเป็นกลางพอสมควรสำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะถ้าขืนเอียงกระเท่เร่เหมือนอย่างสมัยเล่นงานพรรคไทยรักไทย ความขัดแย้งคงมีอย่างฝังลึกมากกว่าเดิม
เหตุการณ์คราวนั้นกับคราวนี้แตกต่างกันมาก คราวนี้เป็นเรื่องที่พยากรณ์ได้ยากว่าสังคมจะผันแปรไปอย่างไรกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วถ้าหากศาลฉลาดเพียงพอก็น่าจะมีคำวินิจฉัยที่เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายคัดค้าน เนื่องจากการชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะมีผลค่อนข้างชัดเจนต่ออนาคตของบ้านเมืองไทยกับทางหนึ่งทางใดค่อนข้างแน่นอน เพราะนั่นจะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไปที่ส่งผลสะท้อนสู่อนาคตของชาติบ้านเมืองในมิติต่างๆทุกมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถ้าศาลเห็นว่าขั้นตอนการยื่นฟ้องต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อน การวินิจฉัยตรงนี้ก็จะนำไปสู่การดำเนินงานต่อไปของฝ่ายรัฐสภา คือจะมีการลงมติรับร่างในวาระ 3 เป็นไปตามคิวของรัฐสภาที่กำหนดเอาไว้แต่เดิม ซึ่งถ้าเป็นไปอย่างนี้ก็เป็นทางออกที่ดี ซึ่งรัฐสภาจะได้ดำเนินการของตัวเองไปตามขอบเขตอำนาจของรัฐธรรมนูญ
แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญผ่านการวินิจฉัยเกี่ยวกับขั้นตอนการร้อง ไปเห็นว่าผู้ร้องสามารถร้องได้โดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากคิวเป็นไปอย่างนี้ก็จะต้องมีการวินิจฉัยที่อาจนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยได้ แถมด้วยการเว้นวรรคทั้งหัวหน้าพรรคและลูกพรรคอีก 5 ปีรวด
ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในวันใด สังคมคงตั้งหน้าตั้งตารอคอยกับคำตอบตรงนี้อย่างถ้วนหน้าถ้วนตา เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการชี้ว่าอนาคตของสังคมไทยจะผันแปรไปทางไหนกันแน่? อาจมีความเป็นไปได้ตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องดำเนินไปต่อไป โดยเฉพาะในมาตรา 68 ที่เป็นปัญหาในขณะนี้สำหรับกรณีข้อหาล้มล้างการปกครอง
คำชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญยังอาจนำไปสู่อนาคตที่มืดมนของบ้านเมืองได้ โดยเฉพาะการยุบพรรคเพื่อไทยและเว้นวรรคนักการเมือง แน่นอนว่าตรงนี้จะกลายเป็นจุดผกผันที่ผลักดันสังคมเข้าสู่ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น แล้วอาจบานปลายเป็นความรุนแรงที่เหลือประมาณก็ได้
ในด้านหนึ่งมีนักวิชาการทางรัฐศาสตร์หลายคนคาดหมายว่าสังคมคงไม่น่าจะลงเอยด้วยความขัดแย้งที่รุนแรงมากไปกว่านี้ ศาลรัฐธรรมนูญคงไม่ทำให้คนไทยเข้าสู่จุดตันทางการเมือง เพราะเชื่อว่าในเบื้องหลังการถ่ายทำมีการเกี๊ยะเซียะไว้เรียบร้อยแล้ว นี่เองที่อาจทำให้บ้านเมืองพอมีทางออกกันได้ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าการเกี๊ยะเซียะจะทำให้บ้านเมืองราบรื่น เพราะมีโอกาสที่จะเกิดการหักหลังจนสามารถมีกรณีร้องไห้กลางสภา เนื่องจากเรื่องรัฐธรรมนูญกับเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองนั้นถูกผูกเอาไว้เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งฝ่ายบุคคลที่เรียกว่าอำมาตย์ย่อมไม่ยินยอมอ่อนข้อให้กับพรรคเพื่อไทยเด็ดขาด
สรุปแล้วการพลิกผันของการเมืองในประเทศไทยจึงอยู่ที่ชะตากรรมในกำมือของศาลรัฐธรรมนูญนั่นเองว่าจะชี้ไปทางไหน? หนทางสันติภาพหรือหนทางสงครามในสยามประเทศ และขณะนี้คงไม่มีใครรู้ดีว่าศาลรัฐธรรมนูญคิดและตัดสินใจอย่างไร? แม้กระทั่งเครือข่ายอำมาตย์ยังอาจไม่รู้เรื่องนี้ด้วยซ้ำ นอกจากผู้มีอำนาจแฝงตัวจริงบนยอดพีรามิด ซึ่งคอยกำกับบงการอำมาตย์อีกชั้นหนึ่ง!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น