พ.ศ.2475 เมื่อกรุงเทพมหานครจะมีการฉลองพระนครคร 150 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าเพื่อเชื่อมกรุงเทพมหานครกับกรุงธนบุรี พร้อมทั้งได้สร้างพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไว้ที่เชิงสะพานฝั่งพระนคร ในโอกาสเดียวกันนี้ พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์กว่า 9 ล้านบาท เป็นทุนในการจัดสร้างโรงภาพยนตร์ทันสมัยสำหรับฉายภาพยนตร์เสียงในฟิล์มขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพราะยุคนั้นสื่อบันเทิงที่เฟื่องฟูมากที่สุดคือภาพยนตร์ เพื่อให้พสกนิกรมีความเพลิดเพลินสนุกสนานจากภาพยนตร์และการแสดงอื่นๆ ที่จะมี ณ โรงมหรสพหลวงแห่งนี้
นฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการ ศาลาเฉลิมกรุง ย้อนอดีตของการก่อสร้างอาคารศาลาเฉลิมกรุงว่า เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิก ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันชั้นนำของประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง และได้พระราชทานนามของโรงมหรสพเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ออกแบบ และเป็นอนุสรณ์แห่งงานฉลองพระนครครบ 150 ปี ว่า “ศาลาเฉลิมกรุง”
3 ปี ของการก่ออิฐถือปูนจนสำเร็จเป็นรูปร่าง ศาลาเฉลิมกรุง เปิดทำการครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 และดำเนินกิจการให้ความบันเทิงแก่ประชาชนยืนหยัดมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้ มีอายุรวม 79 ปี
"สมัยนั้นอาคารศาลาเฉลิมกรุงจัดได้ว่าเป็นอาคารที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย ด้วยว่าสถาปนิกยังเลือกใช้โครงสร้างภายในเป็นตัวรับน้ำหนัก โดยแบ่งส่วนอาคารรอบห้องโถงใหญ่ให้เป็นห้องเล็กห้องน้อย ทำให้อาคารห้องโถงใหญ่มีเนื้อที่กว้างขวางแม้จะมีพาไลชั้นบนยื่นมาถึงหนึ่งในสามของพื้นที่ก็สามารถรับน้ำหนักได้โดยไม่ต้องมีเสามาบดบังสายตาผู้ชมให้ต้องเสียอารมณ์ เช่นเดียวกับความศิวิไลซ์ในเรื่องระบบแสง สี เสียง ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจให้หนุ่มสาวหัวสมัยในยุคนั้นได้มากโข อีกทั้งยังเป็นโรงมหรสพแห่งแรกของเมืองไทยที่ใช้เครื่องปรับอากาศ" นฤมลเล่าพร้อมกับยกตัวอย่างความไม่ธรรมดาของ "ศาลาเฉลิมกรุง" ให้ฟังว่าเมื่อครั้งฉายภาพยนตร์เรื่อง “แม่นาค” มีการใช้น้ำอบไทยในระบบปรับอากาศ สร้างบรรยากาศสยองขวัญให้แก่ผู้ชมยิ่งขึ้น
อีกมุมของ "โรงมหรสพหลวง" ซึ่งกรรมการผู้จัดการสาว ออกปากว่าเชื้อเชิญให้ร่วมสัมผัส โดยเฉพาะที่บริเวณด้านบน ของโรงภาพยนตร์ในยุคเปิดโรง มีห้องเล็กๆ ใช้เป็นที่นั่งชมภาพยนตร์สำหรับผู้ที่ต้องการบัตรราคาย่อมเยา ต่อมาในยุคที่ภาพยนตร์ไทยมีการพากย์จึงปรับห้องนี้เป็นห้องพากย์ เรียกว่า “ห้องนกกระจอก” ส่วนบริเวณ ชั้นลอย มีแผ่นเหล็กฉลุลวดลายเมขลา-รามสูร ประดับอยู่หน้า “ห้องเมขลา” ในอดีตเป็นห้องอาหารหรูหรา สำหรับพบปะสังสรรค์เริงลีลาศของผู้คนในวงสังคมชั้นสูง และที่น่าสนใจอีกหนึ่งห้อง ได้แก่ “หอประวัติศาลาเฉลิมกรุง” เป็นสถานที่รวบรวมและบันทึกเรื่องราวที่ศาลาเฉลิมกรุงยืนหยัดผ่านความรุ่งเรือง มรสุม และความเปลี่ยนแปลง และเปิดให้บุคคลทั่วไปได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อความรู้ และความเข้าใจต่อศาลาเฉลิมกรุงรวมถึงวงการภาพยนตร์ไทยในอดีต ตลอดจนถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมศิลปะการแสดงแขนงต่างๆ ให้กัแก่กลุ่มคนไทยและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมประวัติศาสตร์ต่างๆ บนเกาะรัตนโกสินทร์อีกด้วย
เสน่ห์ของ "ศาลาเฉลิมกรุง" ใช่ว่าแค่เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทยเท่านั้น ทว่ายังแฝงไว้ซึ่ง "ศิลปะไทย" ล้วนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งสิ้น
"หากสังเกตดีๆ ภายในศาลาเฉลิมกรุงล้วนอุดมไปด้วยศิลปะ เรียกว่านับตั้งแต่เยื้องกายเข้าสู่ประตูอาคารก็จะพบ พญาครุฑ สัญลักษณ์แทนข้อความ “ในพระบรมราชูปถัมภ์” ที่ชัดเจนยิ่งกว่าอักษรใด รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พญาครุฑให้มีลักษณะใกล้เคียงกับพญาอินทรีอย่างตะวันตก พญาครุฑที่ศาลาเฉลิมกรุง จึงมีความสง่างามไม่เหมือนที่ใด เช่นเดียวกับ พระแสงศรและห่วง อันเป็นสัญลักษณ์ในพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ทรงอัญเชิญมาตกแต่งแทรกในจุดต่างๆ อาทิ เหนือประตูทางเข้า
นอกจากนี้ยังมีรูปสลัก พระประโคนธรรพ (ครูนักรำ) พระวิษณุกรรม (ครูช่าง) และ พระปัญจสิงขร (ครูดนตรี) ประดับไว้เหนือเวที เพื่อเป็นการบูชาและแสดงความเคารพบรมครูแห่งนาฏศิลป์ไทย เทพนม ปฐม พรหมสี่หน้า ท่ารำแม่บทเบื้องต้นที่ผู้เรียนนาฏศิลป์ทุกคนได้รับการฝึกฝน แผ่นเหล็กฉลุลายนี้ประดับไว้เหนือห้องโถงใหญ่ของศาลาเฉลิมกรุง หรือแม้แต่บริเวณด้านนอกและรอบอาคารจะเห็นว่ามี ฤษี ลิงดำ ลิงขาว เป็นสัญลักษณ์ของศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งศิลปินทุกแขนงต้องแสดงความเคารพก่อนเริ่มทำงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น