วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แมวไทย ใกล้สูญพันธ์ เหลือแค่ 4 สายพันธุ์

ในประเทศไทยมีหลายครัวเรือนที่เลี้ยงแมวไว้ในบ้านเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัว ด้วยความน่ารัก ขี้อ้อน และแสนซนของเจ้าแมวตัวน้อย ทำให้สามารถพิชิตใจเหล่าคนรักสัตว์มาเป็นเวลานาน คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ว่า ประเทศไทยมีแมวพันธุ์ไทยแท้หลากหลายสายพันธุ์ตั้งแต่สมัยอดีต แต่ปัจจุบันกลับเหลืออยู่เพียง 4 สายพันธุ์

แมวไทยจัดเป็นแมวพันธุ์แท้ที่สืบเชื้อมาจากแมวโบราณ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นแมวขนสั้นที่สวยสง่าที่สุดในโลก ด้วยลักษณะรูปร่างที่สมส่วน ศีรษะไม่กลมหรือแหลมจนเกินไป หน้าผากกว้าง จมูกสั้น หูตั้งสั้น ลำตัวเพรียวบาง รูปร่างขนาดปานกลาง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว ขนแน่นอ่อนนุ่มไปทั้งเรือนร่าง หางยาว โคนหางใหญ่ปลายหางเรียวแหลมชี้ตรง รวมถึงจุดเด่นที่สำคัญคือ มีสีสันงดงามแปลกตาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากกว่าแมวพันธุ์อื่น และมีความฉลาด ซื่อสัตย์ มีความเป็นตัวของตัวเอง รู้จักคิด ชอบประจบ รักบ้านรักเจ้าของ

ถามถึงความเป็นมาของแมวไทยกว่ามีทั้งหมดกี่ชนิดในสมัยโบราณและยังหลงเหลืออยู่กี่ชนิดในปัจจุบัน นายปรีชา พุคคะบุตร เจ้าของศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน แมวไทยโบราณ กล่าวว่า ตามหลักฐานที่ปรากฏในสมุดข่อยโบราณ กล่าวไว้ว่าแมวไทยมีทั้งหมด 23 ชนิด เป็นแมวมงคล 17 ชนิด และแมวร้ายให้โทษ 6 ชนิด แมวมงคล 17 ชนิด ประกอบด้วย นิลรัตน์ วิลาศ ศุภลักษณ์ เก้าแต้ม มาเลศ แชมเศวต รัตนกัมพล วิเชียรมาศ นิลจักร มุลิลา กรอบแว่นหรืออานม้า ปัดเศวตหรือปัดตลอด กระจอก สิงหเสพย์ การเวก จตุบท และโกนจา ส่วน แมวร้ายให้โทษ 6 ชนิด ได้แก่ ทุพพลเพศ พรรณพยัคฆ์หรือลายเสือ ปีศาจ หิณโทษ กอบเพลิง และเหน็บเสนียด

“ประเทศไทยไม่ได้มีการอนุรักษ์แมวไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันนี้แมวมงคลสูญพันธุ์ไปแล้วถึง 13 ชนิด หลงเหลือให้คนรุ่นหลังได้ชมเพียง 4 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ วิเชียรมาศ สีสวาดหรือโคราช(มาเลศหรือดอกเลา) ศุภลักษณ์หรือทองแดง และโกนจาหรือดำปลอด รวมถึงอีกหนึ่งชนิดคือ ขาวมณี ที่ถูกสันนิษฐานว่าเกิดในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ จึงไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณ ที่รวบรวมลักษณะแมวมงคล 17 ชนิด เป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่พันธุ์แมวไทยแท้เหลือน้อยลงทุกวัน เพราะคนไทยมองข้ามแมวไทยหันไปเลี้ยงแมวสายพันธุ์ของต่างประเทศเป็นจำนวนมาก”

ด้านความเป็นมาและลักษณะสำคัญของแมวไทย 4 ชนิดที่ยังหลงเหลืออยู่ เจ้าของศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน แมวไทยโบราณ เปิดเผยว่า แมวไทยทั้ง 4 ชนิดจะมีลักษณะและจุดเด่นที่แตกต่างกัน แมววิเชียรมาศ ตามหลักฐานในสมุดข่อยโบราณของไทย ระบุว่าเป็นแมวที่คนไทยเลี้ยงไว้ในพระราชสำนัก เพราะเชื่อว่าเป็นแมวนำโชคลาภ ชาวบ้านธรรมดาไม่มีโอกาสได้เลี้ยง แมววิเชียรมาศ มีลักษณะเด่น คือ มีตาสีฟ้าสดใส เหมือนตาฝรั่ง ส่วนสีขนลำตัวนั้นเป็นสีครีม และมีแต้มสีเข้ม ที่เรียกว่า แต้มสีครั่ง ได้แก่ ที่บริเวณหน้า หูทั้งสองข้าง ขาทั้งสี่ข้าง หาง และที่อวัยวะเพศ รวม9ตำแหน่ง

สำหรับ แมวสีสวาด หรือแมวโคราช สมัยโบราณเรียกว่า แมวมาเลศ แต่ที่เรียกว่าแมวโคราช เพราะเรียกตามถิ่นกำเนิด คือค้นพบที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา มีความเชื่อว่าเป็นแมวแห่งโชคลาภ เพราะมีสีขนคล้ายสีเมฆ ตามีสีเหลืองอมเขียวประดุจข้าวกล้า ดังนั้นจึงถูกใช้ในพิธีแห่นางแมวขอฝนในสมัยโบราณ แมวโกนจา หรือแมวดำปลอด มีสีขนดำทั้งตัวไม่มีขนสีอื่นแซม ตาสีเหลืองดอกบวบแรกแย้ม ลักษณะการเดินทอดเท้าคล้ายสิงโต สมัยก่อนมีความเชื่อว่าถ้าเลี้ยงแมวโกนจาไว้เจ้าของจะมีสมบัติมากมาย

แมวศุภลักษณ์ หรือแมวทองแดง มีขนสีน้ำตาลเข้มเหมือนสีทองแดงทั้งตัว ตามีสีเหลืองเป็นประกาย นับเป็นแมวพันธุ์ไทยแท้ที่เหลือจำนวนน้อยมากในปัจจุบัน แต่มีแมวลักษณะคล้ายกันอยู่ในประเทศพม่า น่าจะเป็นแมวศุภลักษณ์ของไทยหลงเข้าไปในประเทศพม่าครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดย ดร.โจเซฟ ซีทอมสัน ขาวอเมริกัน ได้นำลูกแมวจากประเทศพม่าไปพัฒนาสายพันธุ์ และจดทะเบียนที่ประเทศอังกฤษในชื่อ แมวพม่า ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแมวศุภลักษณ์ของไทย

คนรักแมวและอยากเห็นแมวไทยแท้อย่างใกล้ชิด พร้อมได้ความรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์แมวไทย เดินทางไปได้ที่ ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน แมวไทยโบราณ ตั้งอยู่ที่ ม.7 ต.แควอ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 0 3473 3284 , 0 3470 2068 , 08 4003 4194


www.dailynews.co.th


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม