วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ASEAN-WEN ร่วกับจีน สกัดการลักลอบตัดไม้

การลักลอบค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชป่า ยังคงเป็นปัญหาที่ทุกประเทศไม่อาจละเลย แต่ต้องร่วมกันหามาตรการพิทักษ์รักษา ในประเทศไทยแม้ไม่ใช่ประเทศปลายทางสำคัญที่นิยมการบริโภคสิ่งเหล่านี้ แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยในการใช้เป็นเส้นทางผ่านไปยังหลายประเทศปลายทาง ทำให้ยังคงพบเห็นการจับกุมขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าอย่างต่อเนื่อง

อย่างที่รู้กันว่าหลายประเทศทั่วโลกต่างประสบปัญหาการค้าสัตว์ป่า พืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ จนทำให้เกิดการรวมกลุ่มประเทศสมาชิก 175 ประเทศ โดยประสานความร่วมมือกันภายใต้ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชป่าไม่ให้สูญพันธุ์จากการค้าระหว่างประเทศ

นอกจากความร่วมมือต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าในระดับโลกแล้ว ในระดับภูมิภาคอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เองก็มีการจับมือกันทำงานด้านการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่ามานานกว่า 7 ปีแล้วเช่นกัน ในนาม เครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN-Wildlife Enforcement Network) หรือมีชื่อย่อว่า “อาเซียนเวน” (ASEAN-WEN) ประกอบด้วย ไทย บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวเดลินิวส์ว่า กลุ่มอาเซียนเวน ริเริ่มโดยประเทศไทยที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปราบปรามอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมายที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยจึงได้ใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมภาคีอนุสัญญาไซเตส ครั้งที่ 13 ประกาศสร้างความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเสนอให้มีการจัดตั้งอาเซียนเวน ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ที่ล้วนเป็นสมาชิกอนุสัญญาไซเตส ให้ทำงานในเรื่องดังกล่าวเข้มข้นขึ้น

ในปัจจุบันอาเซียนเวน มีศูนย์ประสานงานใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการเครือข่าย อยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช บทบาทสำคัญของอาเซียนเวน คือ การประสานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อให้การแก้ไขปัญหาลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่ามีความรวดเร็ว ในประเทศไทยมีหน่วยปฏิบัติการ 3 หน่วยสำคัญคือ 1. หน่วยปฏิบัติการตามอนุสัญญาไซเตส 2. ตำรวจ บก.ปทส. และ 3. ศุลกากร พร้อม

กันนี้ยังได้จัดตั้ง เครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าแห่งประเทศไทย หรือ “ไทยแลนด์เวน” เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศภายใต้เครือข่ายอาเซียนเวนด้วย

ขณะเดียวกัน นายมานพ เลาห์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่อาวุโสสำนักงานงานศูนย์ประสานงานอาเซียนเวน เปิดเผยว่า แถบประเทศอาเซียนถือเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก การกระชับความร่วมมือกันในเรื่องการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมายถือเป็นสิ่งจำเป็น และเมื่อมารวมกันเป็นเครือข่ายอาเซียนเวนแล้วได้มีข้อตกลงสำคัญคือสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ตลอด มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีมาตรฐานการทำงานในระดับเดียวกัน มีการจัดทำคู่มือแจกจ่ายให้ด่านตรวจต่าง ๆ ช่วยกันสกัดการลักลอบขนสัตว์และพืชต้องห้าม

’อาเซียนเวน เข้ามามีบทบาทสำคัญในการประสานข้อมูลการทำลายทรัพยากรป่าไม้มากมายโดยเฉพาะการลักลอบค้าไม้พะยูงที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนกรมอุทยานฯได้จัดชุดปฏิบัติการพิเศษป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าไม้พะยูง เพื่อออกกวาดล้างขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงและลำเลียงไม้พะยูงออกไปนอกประเทศตั้งแต่มีการตั้งชุดทำงานมาเกือบ 4 ปีแล้วนั้น ปรากฏว่า ในส่วนกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ สามารถจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับไม้พะยูงได้ 3,251 คดี ผู้ต้องหา 1,919 คน ไม้ของกลาง 59,650 ท่อน ปริมาตร 4,206.288 ลูกบาศก์เมตร มูลค่ากว่า 900 ล้านบาท”

ล่าสุดทาง กรมอุทยานฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย นายอรรถพล เจริญชันษา ผอ.ส่วนยุทธการด้านการป้องกันและปราบปราม นายรณสิทธิ์ มณีไสย์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กลุ่มงานประสานงานและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาไซเตส พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมประมง กรมศุลกากร และตำรวจ บก.ปทส. ร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่จีนและกลุ่มอาเซียนเวน ภายใต้หัวข้อ ความร่วมมือป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชระหว่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนและจีน นับตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง เพื่อสกัดกั้นขบวนการลักลอบค้าไม้พะยูง

ในการประชุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ประเทศไทย 1 ในสมาชิกของอาเซียนเวน โดยนายอรรถพล ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงสถานการณ์ลักลอบค้า “ไม้พะยูง” ในพื้นที่ประเทศไทยและเพื่อนบ้านว่าปลายทางของการลักลอบค้าไม้นั้นส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศจีน เจ้าหน้าที่ไทยได้ดำเนินการกวาดล้างจับกุมอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูงขึ้นแต่ก็ยังมีขบวนการนำไม้พะยูงเล็ดลอดออกไป จึงอยากจะประสานงานขอให้เจ้าหน้าที่จีน ช่วยสกัดกั้นขบวนการดังกล่าว รวมทั้งยังประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่จีนทราบว่าไม้พะยูงของไทยเป็นไม้ที่คนไทยไม่นิยมนำไปเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ เพราะจะทำให้ประสบแต่ความโชคร้าย

อย่างไรก็ดีภายหลังการประชุมนั้น เจ้าหน้าที่จีนขอความร่วมมือจากไทยในการทำเอกสารลักษณะเฉพาะของไม้พะยูงที่สำคัญ เพื่อไว้สำหรับตรวจสอบไม้ที่นำเข้ามาในประเทศด้วย รวมถึงข้อมูลการลักลอบค้าไม้พะยูงไว้ศึกษาด้วย ถือเป็นเรื่องดีที่ทางการจีนกระตือรือร้นกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และให้ความร่วมมือกับอาเซียนเวนในการบังคับใช้กฎหมายและการลดความต้องการไม้พะยูงด้วย

ที่สำคัญทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ยังได้แสดงเจตจำนง ในการผลักดันให้ไม้พะยูงขึ้นอยู่ในบัญชี 2 ขออนุสัญญาไซเตส (ควบคุมการนำเข้าส่งออก) ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมช่วงเดือนมี.ค. 2556 อันจะทำให้ความพยายามของไทยที่ต้องการรักษาไม้มีค่าและผืนป่าไว้จะประสบความสำเร็จได้ในไม่ช้า.

 

www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม