วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นักวิทยาศาสตร์ไทย เตรียมศึกษาการก่อตัวของเมฆ

นักวิทยาศาสตร์ไทย เตรียมเดินหน้าโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆ ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย พร้อมสร้างเครือข่ายเยาวชน มีทุนให้ คาดใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท...เมื่อวันที่ 3 ก.ค.นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมประชุมกับตัวแทนนักวิทยาศาสตร์ไทย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นักวิจัยเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) ศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ศรภอ.) เพื่อกำหนดแนวทางและเป้าหมายการศึกษาวิจัยใหม่ หลังองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐฯ (นาซา) ถอนตัวจากโครงการศึกษาเบื้องต้น การก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย นายปลอดประสพ กล่าวว่า ในวันนี้ตนจะเสนอโครงการยื่นของบประมาณส่วนกลางจากคณะรัฐมนตรี เพื่อเดินหน้าโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งทำโดยเครือข่ายนักวิจัยไทยมั้งหมด โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 200 ล้านบาท สำหรับบริหารโครงการทั้งในระยะสั้น 6-9 เดือน รวมถึงโครงการในระยะยาว ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กล่าวว่า ข้อสรุปจากที่ประชุมตัวแทนนักวิทยาศาสตร์ไทยจาก 5 หน่วยงาน เห็นตรงกันว่าควรดำเนินโครงการต่อโดยนักวิทยาศาสตร์ไทยมีศักยภาพเพียงพอ โดยโครงการวิจัยนี้ ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือการศึกษาปัจจัยที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศและการเกิดเมฆจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผา BiogenicAerosols และฝุ่นละอองจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมตัวล่วงหน้า โดยข้อมูลที่ได้จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำขึ้น ทั้งนี้ เครื่องมือที่ใช้ในการสำรวจ มีทั้งเครื่องมือทางอากาศ และทางทะเล โดยจะใช้เครือข่ายดาวเทียมที่มีในประเทศ ได้แก่ ดาวเทียมไทยโชติ (ธีออส) ของประเทศไทย ดาวเทียมโมดิส (MODIS) ซึ่งไทยมีสถานีรับเป็นของตัวเอง และดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (SmallMulti-Mission Satellite) หรือ SMMS ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการเก็บข้อมูลการกระจายตัวของเมฆ พร้อมกันนี้โครงการวิจัยได้ขอความร่วมมือจากสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อใช้เครื่องบิน Super King Air ที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน แทนเครื่องบิน ER2 ของนาซาซึ่งถูกยกเลิกไปก่อนหน้านี้ เสริมกับการสำรวจชั้นบรรยากาศด้วยบอลลูนและข้อมูลที่ได้จากสถานีตรวจวัดสภาพอากาศภาคพื้นดิน โดยการสำรวจทางอากาศจะทำคู่ขนานไปกับการเรือสำรวจทางทะเล ที่ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลต่อไป "สิ่งที่ต้องการศึกษาในช่วงปลายมรสุม เดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ คือฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาไหม้ชีวมวลโดยเน้นไปที่ป่าพรุในภาคใต้ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อเก็บข้อมูลฝุ่นละอองจากการเผาชีวมวลจากประเทศใกล้เคียง เช่น อินโดนีเซีย โดยใช้เครื่องมือที่มีอยู่ทั้งหมด ลงเก็บข้อมูลร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่" ดร.อานนท์ กล่าว ดร.อานนท์ กล่าวอีกว่า ในเดือน ก.พ.-มี.ค. ช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือโครงการดังกล่าวจะย้ายขึ้นไปทำที่ภาคเหนือในลักษณะเดียวกัน เพื่อเก็บข้อมูลฝุ่นละอองจากการเผาป่าผลัดใบ การเผาพื้นที่เกษตรทางภาคเหนือ และผลกระทบจากประเทศลาว และจีน เนื่องจากฝุ่นละอองจาก 2 พื้นที่มีความแตกต่างกัน ปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อคุณภาพอากาศ ปัญหาสุขภาพ ไปจนถึงการจราจรทางอากาศที่เป็นอุปสรรคต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยืนยันว่าข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการสำรวจจะเปิดเผยสู่สาธารณะ เพื่อให้หน่วยงานที่สนใจได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทั้งในประเทศ และระดับภูมิภาค สำหรับแผนของโครงการในระยะยาว คือการจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรขึ้น เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบงานด้านวิชาการที่เป็นรูปธรรมโดยเฉพาะ โดยในอีก 1 เดือนนับจากนี้ จะมีการประชุมเพื่อระดมนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจเพื่อหาแนวทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะดำเนินการคู่ขนานไปกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มเยาวชนที่สนใจ อาทิ เครือข่ายโครงการ GLOBE เครือข่าย LESA โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เป็นต้น และให้ทุนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และทุนหลังปริญญาเอก เพื่อสร้างองค์ความรู้พื้นฐานกับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องต่อไป.

www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม