วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กลุ่มนักวิจัย ใช้อากาศยานเบาพารามอเตอร์ โปรยเมล็ดพันธุ์ในป่า หลังพบป่าลดลง

ป่าไม้ของไทยในปัจจุบัน นับวันจะเหลือพื้นที่ป่าไม้ลดลงเรื่อย ๆ โดยจากการประเมินสถานการณ์พื้นที่ป่าไม้อย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลในช่วงเวลา 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ปี 2504-2552 พบว่า ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าไม้มากกว่า 72 ล้านไร่ หรือเฉลี่ยประมาณ 1.6 ล้านไร่ต่อปี จนถึงปี 2555 ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ประเทศ กลุ่มนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้วิจัยนำเอาเทคโนโลยีการบินมาผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีด้านการเกษตร โดยนำอากาศยานเบาพารามอเตอร์มาใช้ในการโปรยถุงเมล็ดพันธุ์พืชผสมสารช่วยการเจริญเติบโตและสารอาหารหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์พืช วิธีการปลูกป่าแบบนี้ จะเพิ่มอัตราการอยู่รอดเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์พืช และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ได้มากกว่าการปลูกโดยใช้แรงงานคนปกติ เนื่องจากการปลูกโดยใช้พารามอเตอร์โปรยเมล็ดพันธุ์พืชบรรจุสารอาหาร จะทำให้ได้ต้นไม้ที่มีรากแข็งแรง ชอนไชได้ไกลและลึก จนรากสามารถยึดเหนี่ยวดินไว้ได้อย่างถาวร ทนต่อการชะล้างพังทลายของดินเมื่อเกิดน้ำป่าไหลหลากหรือน้ำท่วมเป็นเวลานาน และยังสามารถช่วยเก็บความชุ่มชื้นในดินได้เป็นอย่างดี กลุ่มนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ระบุว่า การปลูกป่าทดแทนในปัจจุบันทำได้ในพื้นที่จำกัด เพราะพื้นที่ป่าไม้ส่วนใหญ่ที่ถูกบุกรุกทำลายจะอยู่กระจัดกระจายในพื้นที่ที่ยากต่อการเดินทางเข้าถึง เนื่องจากถูกจำกัดด้วยสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน การคมนาคมเข้าไปไม่ถึง รวมถึงสังคมพืชป่าไม้ ส่วนใหญ่ที่ถูกทำลายเป็นป่าดงดิบ ผลัดใบ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ที่มีความสูง ลาดชัน และรกทึบ ไม่ปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่หรือประชาชนในการเข้าไปเพื่อปลูกป่าทดแทน การใช้พารามอเตอร์เข้าไปโปรยเมล็ดพันธุ์จึงเป็นทางเลือกที่ดี ใช้เทคโนโลยีในการวิจัยของคนไทยให้เกิดประโยชน์ การปลูกพืชโดยใช้เมล็ดพันธุ์พืชชนิดบรรจุซองกระดาษสา จะทำให้อัตราการอยู่รอดและเจริญเติบโตเป็นกล้าไม้มีสูง ในซองจะบรรจุสารอาหารหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์พืช และ สารอุ้มน้ำเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งมีคุณสมบัติในการหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์พืชให้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในช่วงสำคัญของพืชในการแตกรากและการหยั่งรากลงไปในดินเป็นต้นกล้า แม้จะอยู่ในสภาวะแห้งแล้งหรือขาดน้ำได้นานถึง 10 สัปดาห์ ช่วยลดความสูญเสียงบประมาณและเวลาในการปลูกแต่ละครั้งด้วย หากสนใจร่วมสนับสนุนผลงานการวิจัยดังกล่าว ติดต่อได้ที่กลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง โทร. 08-1473-5215 หรือ facebook:นวัตกรรม ภูมิปัญญา.

www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม