วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กสร. ร่วม ILO จัดสัมมนา การบริหารการตรวจแรงงานในประเทศไทย

กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การบริหารการตรวจแรงงานในประเทศไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพพนักงานตรวจแรงงานให้เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพในการตรวจคุ้มครองแรงงาน โดยมุ่งหวังให้ปรับปรุงระบบการตรวจแรงงานให้ดียิ่งขึ้น สามารถคุ้มครองแรงงานทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าวและแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เมื่อวันที่ 28-29 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมอมารี ออร์คิด พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมีนายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ Mr. Jiyuan Wang ผู้อำนวยการ ILO สำนักงานประเทศไทย กัมพูชาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมเปิดสัมมนา นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า กสร.มีภารกิจหลักในการกำกับดูแลให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย และให้นายจ้างปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในเรื่องของมาตรฐานแรงงาน ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อนำไปสู่การสร้างงานที่มีคุณค่า แรงงานมีความมั่นคงในการทำงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณค่า และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน โดยกลไกหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวคือ การตรวจแรงงาน ซึ่งแบ่งการตรวจออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การตรวจด้านคุ้มครองแรงงาน เพื่อกำกับดูแลนายจ้างและลูกจ้าง ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และการตรวจด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งเป็นการกำกับดูแลให้นายจ้างจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม ปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ปัจจุบันมีพนักงานตรวจแรงงานทั่วประเทศ ประมาณ 700 คน ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและตรวจสอบให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ให้คำแนะนำแก่นายจ้างและลูกจ้างให้ได้รู้และเข้าใจวัตถุประสงค์ รวมถึงสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย อีกทั้งยังมีหน้าที่ศึกษาข้อเท็จจริงในเรื่องสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน ปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยดำเนินการตามคู่มือการตรวจแรงงาน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน อธิบดี กสร.กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ประเทศไทยถือว่าได้ก้าวเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ระบบการตรวจแรงงาน รวมถึงพนักงานตรวจแรงงานในประเทศไทย จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และวิธีการ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป "การสัมมนาที่จัดขึ้นจะทำให้พนักงานตรวจแรงงาน ได้เรียนรู้ระบบการตรวจแรงงานในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อจะนำมาเปรียบเทียบกับระบบการตรวจแรงงานของไทย รวมทั้งจะได้วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของระบบการตรวจแรงงานที่มีอยู่ในครั้งนี้ นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพพนักงานตรวจแรงงานให้เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพในการตรวจคุ้มครองแรงงาน โดยสนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณในการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริหารการตรวจแรงงาน โดยเฉพาะการตรวจแรงงานกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าวและแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายอีกด้วย" นายอาทิตย์กล่าว.

www.thaipost.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม