เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นมันนี่ ได้เผยแพร่คำอธิบายเกี่ยวกับปัญหาการปลอมแปลง การส่งรายงานจัดทำดอกเบี้ยเรียกเก็บระหว่างธนาคารในตลาดลอนดอน (ไลบอร์) ของธนาคารบาร์เคลย์ ในอังกฤษ ซึ่งกำลังกลายเป็นประเด็นร้อนและได้รับการจับตามองจากสื่อต่างประเทศในขณะนี้ ให้ทราบถึงที่มาและที่ไป รวมไปจนถึงผลกระทบที่มีต่อผู้คนทั่วโลก
ไลบอร์ คืออะไร
ไลบอร์ หรือชื่อเต็มว่า อัตราดอกเบี้ยเรียกเก็บระหว่างธนาคารในตลาดลอนดอน (London Interbank Offered Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ถูกใช้อ้างอิงในการกู้ยืมระหว่างธนาคารและถูกนำไปอ้างอิงในหลายประเทศทั่วโลก
การจัดทำดอกเบี้ยไลบอร์ จะคำนวนทุกวันทำการออกมาในรูปของสกุลเงินสำคัญ 10 สกุลของโลก โดยคำนวนตามระยะเวลา 15 ประเภท ตั้งดอกเบี้ยระยะเวลาข้ามคืน ไปจนถึง 1 ปี ตามปกติแล้ว ไลบอร์จะถูกกำหนดโดยสมาคมธนาคารของอังกฤษ ซึ่งจะมีการสอบถามไปยังธนาคารชั้นนำราว 7 – 18 ถึงอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารจะต้องจ่ายเพื่อกู้ยืมเงิน ภายในระยะเวลาหนึ่ง และในรูปสกุลเงินใดสกุลเงินหนึ่ง จากนั้นข้อมูลที่ได้จะถูกรวบรวมและนำไปประเมินโดย ทอม์สัน รอยเตอร์ส เพื่อประเมินค่าดอกเบี้ยมาตรฐานกลางออกมา และนำไปใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยไลบอร์
อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารในรูปแบบเดียวกันนี้ งมีใช้ในประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกัน อาทิเช่น อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารโตเกียวของญี่ปุ่น หรือเรียกอีกชื่อว่า ทิบอร์ หรือของยุโรปก็จะเรียกว่า ยูริบอร์
การส่งผลต่อผู้บริโภค
ลิบอร์ คือมาตรวัดอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญที่สุดของโลก เพราะถูกนำไปใช้อ้างอิงและเกี่ยวพันกับทุกๆ ธุรกรรมทางการเงิน โดยคาดว่าเกี่ยวข้องกับการกู้ยืมทั่วโลกในสัดส่วนถึงราว 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 300 ล้านล้านบาท) ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และดอกเบี้ยบ้านแบบลอยตัว เออาร์เอ็ม นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับการซื้อขายอนุพันธุ์ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าถึง 350 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.085 หมื่นล้านล้านบาท)
ทั้งนี้ อีกตัวอย่างที่เห็นชัดว่าจะกระทบต่อผู้คนเช่นไรก็คือ หากอัตราดอกเบี้ยไลบอร์ปรับตัวสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ทุกๆ คนจะต้องชำระก็จะต้องเพิ่มสูงขึ้นตาม
แต่หากอัตราดอกเบี้ยไลบอร์ปรับตัวลดลง ผู้กู้ยืมก็จะได้ประโยชน์เพราะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่ถูกลง ทว่าหากนักลงทุนนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวม หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ ที่มีตราสารหนี้ผูกติดกับดอกเบี้ยไลบอร์ จะเสียผลประโยชน์ เพราะจะได้ดอกเบี้ยผลตอบแทนน้อยลง
ความวุ่นวายจากกรณีบาร์เคลย์ส
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการลงทุน บาร์เคลย์ส แคปปิตอล (บีซีเอส) ของอังกฤษ ได้ถูกคณะกรรมการตลาดซื้อขายล่วงหน้า (ซีเอฟทีซี) ของสหรัฐ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และคณะบริหารการเงินของรัฐบาลอังกฤษ ปรับเป็นเงิน 453 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.39 หมื่นล้านบาท) หลังจากที่ บาร์เคลย์ส ให้การรับสารภาพว่า เคยจัดส่งรายงานการจัดทำดอกเบี้ยเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดเรตไลบอร์ ให้ตํ่าเกินกว่าความเป็นจริงในอดีต
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 2548 - 2551 โดยเทรดเดอร์ของบาร์เคลย์ส ได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งรายงานการจัดทำดอกเบี้ยไลบอร์ ให้ส่งรายงานดอกเบี้ยในอัตราที่ตํ่ากว่าความเป็นจริง เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับธนาคารเอง และยังเปิดเผยอีกว่า ยังมีธนาคารรายใหญ่อื่นๆ อีก ที่สมรู้ร่วมคิดกันกระทำการเหมือนกัน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีรูปแบบคล้ายคลึงกับ การใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหุ้น (อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง) โดยเมื่อนักเล่นหุ้นล่วงรู้ข้อมูลก่อนว่าหุ้นที่ถืออยู่จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร นักเล่นหุ้นคนดังกล่าวก็จะสามารถสร้างผลกำไร หรือตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเพื่อหลบเลี่ยงผลกระทบที่ไม่ดีซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
เหตุดังกล่าวยังเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี 2551 - ต้นปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่วิกฤตการณ์ทางการเงินโลกกำลังถึงจุดวิกฤตหนัก โดยบาร์เคลย์ส ได้ส่งอัตราดอกเบี้ยไลบอร์ตํ่าเกินกว่าความเป็นจริงเพื่อสร้างผลกำไรให้กับธนาคาร และบาร์เคลย์ส ยังเกรงว่าหากส่งรายงานอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไป จะถูกตลาดและนักลงทุนมองทันทีสถานะของธนาคารไม่มีความมั่นคง
ไม่ใช่ บาร์เคลย์ส เท่านั้นที่เกี่ยวพันกับการพยายามตบแต่งดอกเบี้ย แต่ยังมีการสงสัยกันว่าธนาคารอื่นๆ อาจมีส่วนรู้เห็นกับการจัดทำอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ซึ่งได้แก่ ดอยซ์แบงก์ รอยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ (อาร์บีเอส) เครดิตสวิส ซิตี้ กรุ๊ป และเจพีมอร์แกน ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการสอบสวนของทางการในแต่ละประเทศ
อื้อฉาวแค่ไหน
แอนดริว โล ศาสตราจารย์ด้านการเงินแห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาจูเซ็ตส์ (เอ็มไอที) กล่วว่า ถึงแม้เรื่องดังกล่าวอาจจะดูเล็กน้อย เมื่อเทียบกับคดีการฉ้อโกงและการทุจริตในประวัติศาสตร์ทางการเงิน แต่ทว่าเมื่อดูถึงความสำคัญของไลบอร์ ที่ถูกใช้อ้างอิงในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงการสมรู้ร่วมคิดกันของบริษัทและธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่ง เรื่องดังกล่าวจึงเป็นที่ได้รับความสนใจ จนนำไปสู่การประกาศลาออกของผู้บริหารระดับสูงภายในบริษัทและธนาคารที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดำเนินคดี และการออกกฏหมายด้านการเงินให้เข้มงวดรัดกุมมากขึ้น
ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา บ๊อบ ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) และเจอร์รี เดล มิสซิเออร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของธนาคารบาร์เคลย์ส ได้ประกาศลาอออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นภายหลังจากที่ มาคุส อากวิส ประธานธนาคารบาร์เคลย์ส ประกาศลาออกไปก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน ทำให้ขณะนี้มีผู้บริหารระดับสูงของบาร์เคลย์ส ลาออกไปแล้วถึง 3 ราย
ปัจจุบัน บาร์เคลย์ส กำลังถูกกดดันจากหลายฝ่ายอย่างหนัก โดยเฉพาะในแวดวงนักการเมืองของอังกฤษ ซึ่งล่าสุดนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน และจอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ ประกาศว่าจะดำเนินการสอบสวนกับเหตุอื้อฉาวที่เกิดขึ้น ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมธิการในรัฐสภาให้ทำหน้าที่สอบสวนเรื่องดังกล่าว
ขณะที่นักค้าหุ้นและนักลงทุนจำนวนมาก ได้ยื่นฟ้องในคดีแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่ธนาคารรายใหญ่ ทำการปลอมแปลงอัตราดอกเบี้ยไลบอร์ ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารที่ตกเป็นจำเลยฟ้องร้อง คือ แบงก์ ออฟ อเมริกา ซิตี้กรุ๊ป เอชเอสบีซี เจพีมอร์แกน และเครดิตสวิส
ความคืบหน้าล่าสุด
ภายหลังจากไดมอน ประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของบาร์เคลย์ส ไดมอนมีกำหนดการที่จะต้องเข้าให้ปากคำกับคณะกรรมธิการในรัฐสภาของอังกฤษ เกี่ยวกับเรื่องอ้อฉาวที่เกิดขึ้น ก่อนที่คณะกรรมาธิการจะดำเนินการสอบสวนในเชิงลึกต่อไป
นอกจากที่อังกฤษแล้ว ในประเทศอื่นๆ ก็มีการสอบสวนด้วยเช่นกัน อาทิ ในสหรัฐ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมเตรียมที่จะดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในทางคดีอาญาแล้ว ด้านสวิสเซอร์แลนด์ และแคนาดา ก็เตรียมที่จะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น