วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ตอนที่ 8 รักเพื่อ ราชพลี ขององค์วีรสตรี สมเด็จพระศรีสุริโยทัย

สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงเป็นสตรีที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยว เฉลียวฉลาด กล้าหาญ ทรงปฏิบัติหน้าที่ในพระฐานะสำคัญของชาติได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งในพระฐานะหน้าที่ของพระอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์และทั้งในพระฐานะหน้าที่พระราชมารดาของพระโอรสและพระธิดา แต่ในบทบาทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้นก็คือ ทรงปฏิบัติหน้าที่ในพระฐานะนางกษัตริย์คู่บารมีที่ทรงรักชาติเหนืออื่นใด เหนือกว่าชีวิตของพระองค์ การกระทำของพระองค์นั้นถือว่าทรงเสียสละปกป้องชีวิตพระสวามี พระองค์ทรงพลีชีพเพื่อชาติแม้เป็นสตรีแต่ทรงกล้าหาญยิ่งนัก ในการเสด็จเคียงคู่พระสวามีออกรบกับพม่าเพื่อรักษาแผ่นดินไทย ถือเป็นการสู้รบกระทำสงคราม “ยุทธหัตถี” ที่เป็นการชนช้างต่อสู้กันระหว่างกษัตริย์ไทยกับกษัตริย์พม่า

สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงเป็นพระอัครมเหสีของพระเฑียรราชาหรือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา (ทรงเสวยราชย์ต่อจากขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์) ทรงมีพระโอรสและพระธิดา 5 พระองค์ คือ

1. พระราเมศวร พระราชโอรส ถูกจับเป็นองค์ประกัน และสิ้นพระชนม์ระหว่างไปหงสาวดี

2. พระมหินทร์ พระราชโอรส ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระมหินทราธิราช กษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1

3. พระสวัสดิราช พระราชธิดาพระองค์นี้ ภายหลังคือ พระวิสุทธิกษัตริย์ พระอัครมเหสีของพระมหาธรรมราชา เป็นพระชนนีของ พระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ สมเด็จพระเอกาทศรถ

4. พระบรมดิลก พระราชธิดา เสียพระชนม์ชีพพร้อมพระมารดาในสงคราม “ยุทธหัตถี”

5. พระเทพกษัตรี พระราชธิดา ได้ถูกส่งตัวเพื่อถวาย พระไชยเชษฐา แห่ง กรุงศรีสัตนาคนหุต แต่พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์แห่งพม่าทำการชิงตัวไปยังกรุงหงสาวดี เพราะต้องการสายพระโลหิตของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย

สำหรับสงคราม “ยุทธหัตถี” ครั้งนี้ ในประวัติศาสตร์ไทยและพม่าได้มีการกล่าวอ้างไว้เป็นจารึกและพงศาวดารหลายฉบับด้วยกัน มีที่เหมือนกันและแตกต่างกันในหลายฉบับ แต่ละฉบับได้ปรากฏข้อมูลและรายละเอียดของบุคคลแตกต่างกัน แต่ตรงกันที่เกิดเหตุการณ์กระทำ “สงครามยุทธหัตถี” ระหว่างฝ่ายไทยกับฝ่ายพม่าตามพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ของสงคราม “ยุทธหัตถี” ครั้งนี้ไว้ว่า

“สมเด็จพระเฑียรราชาธิราช เสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ครั้นเสวยราชสมบัติได้ 7 เดือน พระยาหงสาวดียกพลมายังพระนครศรีอยุธยาในเดือน 4 นั้น เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าเสด็จออกไปรบศึกหงสานั้น สมเด็จพระองค์มเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอราชบุตรี เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วยและเมื่อไปรบศึกหงสานั้นทัพหน้าแตกมาปะทะทัพหลวงเป็นโกลาหลใหญ่และสมเด็จพระองค์มเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้นได้รับด้วยข้าศึกถึงสิ้นพระชนม์กับคอช้างนั้น” พงศาวดารฉบับนี้ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสมเด็จพระศรีสุริโยทัยพระอัครมเหสีกับพระราชธิดา ได้สิ้นพระชนม์ในการสู้รบกับข้าศึกทั้ง 2 พระองค์

แต่จากบันทึกคำให้การของชาวกรุงเก่า ที่พม่าได้แต่งไว้ตั้งแต่ตีกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 โดยใช้วิธีสอบถามจากเชลยไทยที่จับได้ มีความแตกต่างกันโดยกล่าวถึง วีรสตรีไทยพระองค์นั้นเป็นพระบรมดิลก พระราชธิดาที่ สิ้นพระชนม์เพียงพระองค์เดียว มิใช่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยและในพระราชพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขา ได้กล่าวถึงการสงครามสู้รบในครั้งนี้ว่า

“สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี พระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึกเช่นนั้นก็ขับพระคชาธารตามไล่ช้างพระมหาจักรพรรดิ พระสุริโยทัยเห็นพระสวามีเสียทีไม่พ้นมือข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพก็ขับพระคชาธารพลายทรงสุริยกษัตริย์ สะอึกออกรับพระคชาธารพระเจ้าแปร ได้ล่วงแบกถนัดพระคชาธารพระสุริโยทัยแหงนหงายเสียที พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ต้องพระอังสะพระสุริโยทัยขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ พระราเมศวรกับพระมหิน ทราธิราชก็ขับพระคชาธารถลันเข้าแก้พระราชมารดาได้ทันทีพอพระชนนีสิ้นพระชนม์กับคอช้าง พระพี่น้องทั้งสองพระองค์คอยรับข้าศึกกับ
พระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนครได้ พลโยธาชาวพระนครแตกพ่ายข้าศึกรี้พลตามเป็นอันมาก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าจึงให้เชิญพระศพพระสุริโยทัย ผู้เป็นพระอัครมเหสีมาไว้ตำบลสวนหลวง”

จะเห็นได้ว่าเรื่องสงครามยุทธหัตถีครั้งนี้มีเนื้อหาและข้อความในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ตรงกัน แต่อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์นั้นได้เกิดเหตุการณ์ที่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนถึงความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ว่าด้วยพระเกียรติยศที่ขจรขจายไปไกลของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ที่ทรงรักและจงรักภักดีต่อชาติจนยอม “พลีชีพ” เพื่อชาติเป็นราชพลี ที่ยิ่งใหญ่นั้นทำให้กษัตริย์หลายชาติหลายพระองค์ใดต่างก็ต้องการสายพระโลหิตแห่งพระองค์ท่านไว้เป็นนางกษัตริย์ที่สืบเชื้อสายพระโลหิต อันกล้าหาญ เสียสละ มั่นคงจงรักในชาติอย่างสูงสุดเช่นนี้

เมื่อพิจารณาถึงพระปรีชาญาณที่แกร่งกล้าสามารถของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยนั้น ปวงชนชาวไทยคงต้องตระหนักถึงคำกล่าวที่ว่า “บนความสำเร็จของบุรุษนั้นอยู่ภายใต้การสนับสนุนของสตรีเสมอ” จะเห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงมิใช่ “ผู้หญิงธรรมดา” โดยเฉพาะในสมัยโบราณหลายร้อยปีที่บทบาทฐานะของผู้หญิงยังไม่มี “การยอมรับและยกย่อง” แต่เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์หลายกรณีได้ทำให้ “พระเกียรติคุณของนางกษัตรีย์ผู้สละชีพเพื่อเป็น “ราชพลี” นั้น ยิ่งใหญ่ในหัวใจคนไทยยิ่งนัก

กรณีที่ 1 พระเฑียรราชาออกผนวช : สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงอยู่ในช่วงรัชสมัยของรอยเชื่อมต่อที่เป็นวิกฤติในการเปลี่ยนแผ่นดินซึ่งตกอยู่ในอำนาจมืดของท้าวศรีสุดาจันทร์ ทำให้พระองค์และพระเฑียรราชาผู้เป็นพระสวามีตกอยู่ในอันตราย ที่เป็น “ห้วงแห่งราชภัย” การที่จะพ้นภัยที่ดีที่สุดก็คือการทรงออกผนวชของพระเฑียรราชา ที่ทำให้พระเฑียรราชาพระสวามีต้องละทิ้งความเป็นอยู่ในฐานะพระราชวงศ์จากพระตำหนักและในฐานะพระมเหสีทรงต้องอดทน ระแวดระวังอันตรายรอบด้าน ทั้งทรงต้องดูแลปรนนิบัติพระโอรส พระธิดารวมทั้งพระสวามีที่ทรงผนวช

กรณีที่ 2 พระปรีชาญาณในการสนับสนุนให้พระสวามีเสด็จขึ้นครองราชย์ : ในขณะที่ท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาธิราชเรืองอำนาจในราชสำนัก โดยพระเฑียรราชายังทรงผนวชคงไม่สามารถกระทำการใดได้มากนัก

ดังนั้น ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคงจะเป็นสมเด็จพระศรีสุริโยทัยพระอัครมเหสีผู้ชาญฉลาด ที่ได้รวบรวมผู้มีฝีมือและจงรักภักดีในการโค่นล้มท้าวศรีสุดาจันทร์และชู้รักเอง พระนางถือว่าเรื่องนี้เป็นการอันตรายอย่างยิ่งต่อชีวิตของผู้กระทำการและครอบครัวโทษประหารถึง 7 ชั่วโคตร การตัดสินใจของพระนางจึงต้องเด็ดขาด กล้าหาญ เข้มแข็งและรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง จึงจะสามารถให้การขึ้นครองราชย์ของพระสวามีเป็นไปอย่างสง่างามและเป็นที่ยอมรับของขุนนางราชสำนักกับประชาราษฎร์กรณีที่ 3 ทรงช้างออกรบกับข้าศึก : การที่พระองค์ซึ่งเป็น “ผู้หญิง” สามารถทรงช้างออกรบกับข้าศึกได้นั้น มิใช่เรื่อง “ปกติ” ที่ผู้หญิงในสมัยก่อนจะพึงกระทำ พระปรีชาในด้านนี้จึงแสดงให้เห็นว่าทรงมีความรอบรู้เรื่องการรบและทรงปฏิบัติการได้จริง เพื่อปกป้องขัดขวาง “ภัยอันตราย” ให้กับพระสวามีและแผ่นดินไทยจนพระองค์ทรง “สิ้นชีพตักษัย”นับแต่บัดนั้นมา “สงครามยุทธหัตถี” ในครั้งนี้ได้ทำให้ปวงชนชาวไทยประจักษ์ชัดถึงพระจริยาวัตรที่งดงาม เข้มแข็ง กล้าหาญ จงรักภักดีและมีจิตใจที่สูงส่ง รักชาติรักแผ่นดิน เหนือสิ่งอื่นใด ยอมเสียสละชีวิต ยอม “พลีชีพ” เพื่อเป็น “ราชพลี” แก่แผ่นดินเพื่อปกป้องรักษาชาติ

จากวันนั้นจวบจนถึงวันนี้ พระราชพลีที่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยพลีชีพเพื่อแผ่นดินไทยจะถูก “จดจำและจารึก” ไว้ในใจชนชาวไทยทุกคนตลอดไป.



www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม