วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เบรกนาซา ไทยได้หรือเสีย วิทยาศาสตร์ตอบโจทย์ได้

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย1 ก.ค.- ผู้แทนจากจิสดายืนยันในเวทีเสวนา “เบรกนาซา ไทยได้หรือเสีย” วิทยาศาสตร์ให้คำตอบเกี่ยวกับความกังวลกรณีนาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาตั้งศูนย์ศึกษาสภาพภูมิอากาศได้ ขณะที่นักวิชาการมองรัฐบาลกลัวการตัดสินใจ รักษาภาพพจน์มากไป อาจส่งผลกระทบต่องานต่างประเทศ แนะชี้แจงทั้งระดับประชาชน ประเทศในอาเซียนและประชาคมโลก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดการเสวนาเรื่อง เบรกนาซา ไทยได้หรือเสีย โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ การต่างประเทศและวิทยาศาสตร์มาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อทิศทางในอนาคตเกี่ยวกับโครงการศึกษาสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศ สหรัฐอเมริกา (นาซา) นายสมเจตน์ ทินพงษ์ ประธานกรรมบริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสดา)กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ความร่วมมือที่จิสดาและนาซาจะดำเนินการร่วมมือกันมีเจตนาเพื่อความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์จากการถ่ายภาพทางอากาศเพื่อการพยากรณ์เมฆ ทำให้การถ่ายภาพผ่านดาวเทียมทำได้ดีมากขึ้น “อยากให้ทุกฝ่ายมองให้ครบทุกด้าน ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ เรายอมรับเรื่องความมั่นคง หากรัฐบาลให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์จะคลายความกังวลโดยเฉพาะเรื่องการใช้ดาวเทียมที่กรณีนี้ไม่ใช่ดาวเทียมจารกรรมแน่นอน ส่วนการใช้สนามบินเพื่อการถ่ายภาพ ควรพูดคุยระหว่างนาซากับรัฐบาลเพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนและลดความกังวลในปัญหานี้ ข้อกังวลต่าง ๆ วิทยาศาสตร์มีคำตอบหมดทั้งด้านความมั่นคงและทุกเรื่อง จึงอยากให้มีคำตอบโดยเร็ว เพราะการตัดสินใจยกเลิกโครงการจะกระทบต่อโอกาสในอนาคต โครงการนี้จะต้องเดินหน้า แต่จะเดินไปอย่างไรขึ้นอยู่กับวิธีการของรัฐบาล" ดร.สมเจตน์ กล่าว นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า หนังสือความร่วมมือระหว่างนาซากับจิสดา ลงวันที่ 28 ก.ย.53 ต่อมาสถานทูตสหรัฐอมริกาทำหนังสือขอให้หารือในรายละเอียดความร่วมมือ โดยหนังสือลงวันที่ 28 มี.ค.54 และนาซาได้ส่งตัวแทนมาพบกับหน่วยงานไทยในวันที่ 27 มิ.ย.54 หลังการพบกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือถึงสถานทูตสหรัฐฯ เพื่อขอความกระจ่าง 4-5 รายการ ครอบคลุมรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์และนัยยะด้านความมั่นคง ต่อมาทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และกระทรวงการต่างประเทศได้ประชุมหารือเรื่องนี้มาโดยตลอด จนวันที่ 25 พ.ค.55 สถานทูตสหรัฐฯ ได้เสนอทำหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับสหรัฐ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้นำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี “ย้อนกลับไปในครั้งแรก หนังสือความร่วมมือที่จะทำกันไม่ได้ระบุสถานที่อู่ตะเภา ต่อมาระบุเป็นสนามบินอู่ตะเภาในการหารือระดับเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจเป็นเพราะภูมิหลังของสนามบินอู่ตะเภา ประกอบกับการเพิ่มศักยภาพแสนยานุภาพของจีนและอินเดีย ทำให้เกิดความกังวล ที่สำคัญตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่ได้แจ้งให้ประชาชนทราบ จนรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐเดินทางมาประเทศไทยและกล่าวถึงความร่วมมือทำให้อยากรู้ถึงความเป็นมา ขอยืนยันในฐานะฝ่ายค้านว่าไม่ได้มีความสงสัยด้านวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ใดๆ มีแต่ความสงสัยในเชิงความมั่นคง โดยเฉพาะประเด็นการเลือกใช้สนามบินอู่ตะเภา ที่มีความเป็นห่วงการดำเนินการตามข้อตกลงจะกระทบกับความมั่นคง”อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว นายกษิต กล่าวว่า หากรัฐบาลมั่นใจว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์และพร้อมชี้แจงต่อรัฐสภา ขอให้ดำเนินการไปเลย ที่ผ่านมาเป็นเพราะไม่มีใครรู้เรื่อง อย่างไรก็ดีเมื่อถอนเรื่องนี้ออกจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถแจ้งต่อสหรัฐได้ว่าขอประวิงเวลาออกไปก่อนเพื่อชี้แจงต่อรัฐสภา ระหว่างนี้รัฐบาลน่าจะจัดประชุมสัมมนาโดยนำร่างรายละเอียดข้อตกลงของนาซา มาเปิดเผยรายละเอียดเนื้อหาให้ประชาชนและทุกฝ่ายรับทราบเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจได้ "ข้อห่วงกังวลของฝายค้านและประชาชนเหมือนกับฝ่ายความมั่นคงที่เป็นห่วง ไม่ได้ผิดแปลกอะไรไปเลย เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะมาชี้แจง เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีต่างประเศ จะชี้แจงประชาชน เมื่อรัฐบาลไม่สามารถให้ความกระจ่างกับประชาชนได้ มันไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายค้าน แต่อยู่ที่รัฐบาลพูดไม่รู้เรื่อง " นายกษิต กล่าว นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องทั้งหมดเป็นการนำ 3 เรื่อง มาผูกโยงกันจนทำให้เกิดความกังวลทั้งเรื่องการเมืองของเพื่อนบ้าน การเมืองในประเทศไทย และความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย การคิดเรื่องนี้ต้องแยกระหว่างการถ่ายภาพทางอากาศกับการจารกรรมข้อมูล แต่การเลือกใช้สนามบินอู่ตะเภาทำให้เกิดความกังวล ที่ผ่านมาไม่มีการแถลงข่าวเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ อาจจะเป็นความผิดพลาดของทีมโฆษกของรัฐบาล เมื่อที่สุดแล้วเกิดความกังวลทางการเมือง เมื่อนำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หากคณะรัฐมนตรีดำเนินการอาจเข้ากรณีรัฐธรรนูญมาตรา 190 ซึ่งกระทบกับคณะรัฐมนตรีได้ "รัฐบาลมีลัษณะกลัวการตัดสินใจ ซึ่งสะท้อนภาพลักษณ์ว่ารัฐบาลได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งแต่ไม่ได้ใช้อำนาจนั้นให้เด็ดขาด รัฐบาลกำลังถอยมากเกินไปทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญเรื่องกฎหมายปรองดองและเรื่องนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้จะส่งสัญญาณว่างานต่างประเทศของรัฐบาลจะเสียไป รัฐบาลจะทำงานต่างประเทศไม่ได้เลย เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์บอกเราได้ดีที่สุดเพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่มีเหลืองไม่มีแดง ส่วนฝ่ายค้านควรบอกให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจ อย่ารีรอ ปีนี้อาจไม่ทัน แต่ปีหน้าอาจมีประโยชน์ต่อการพยากรณ์เรื่องน้ำท่วมและแผ่นดินไหว ถ้าศูนย์นี้เกิดในไทยได้ จะเป็นศูนย์บรรเทาภัยพิบัติในอาเซียนได้ "นายสุรชาติ กล่าว นายสุรชาติ กล่าวว่า รัฐบาลต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน แต่ไม่ควรให้นักการเมืองมาชี้แจงเพราะคนจะไม่เข้าใจ ถ้าเราเชื่อว่าการศึกษาความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและเห็นถึงประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่รัฐบาลต้องเตรียมคือการชี้แจงใน 3 ระดับ คือระดับประชาชน รัฐบาลในกลุ่มอาเซียน และประชาคมระหว่างประเทศ โดยส่งสัญญาณให้มิตรประเทศที่จะมีความกังวลเกิดควมเข้าใจ รัฐบาลต้องกล้าแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจะดำเนินบทบาทในการที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอนาคต "คำแถลงของรัฐบาลเรื่องนี้จะมีผลกระทบ และส่งผลกระทบต่อรัฐบาลในสายตาสหรัฐ ประธานาธิบดีโอบามา อาจไม่มาเยือนไทยก็ได้ กรณีนี้เหมือนครั้งรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แถลงจุดยืนหลังเหตุการณ์ 11 ก.ย. ที่ยืนยันว่ารัฐบาลจะเป็นกลาง ขณะเดียวกันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจีน ทางออกที่ดีที่สุดรัฐบาลต้องสร้างยุทธศาสตร์ที่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างความสัมพันธ์ของไทยกับจีนและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐให้ได้" ดร.สุชาติ กล่าว -.
www.mcot.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม