วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

“ดร.โกร่ง” ชี้ไทยต้องเร่งลงทุนครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรับ เออีซี

“ดร.โกร่ง” ชี้โอกาสประเทศไทยผงาดในเออีซียังมีอยู่มากแต่ต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในช่วงที่สถานะการเงินยังมีเต็มหน้าตัก วอนทุกฝ่ายมองข้ามปัญหาคอรัปชันที่แฝงอยู่ในโครงการลงทุนให้คิดเสียว่าเป็นริดสีดวงทวาร พร้อมก้าวข้าม 3 อุปสรรคใหญ่ให้ได้ หนุนรัฐเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ใน 6 เดือนนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “โอกาสและอุปสรรคกับอนาคตประเทศไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น ว่า ในทางภูมิศาสตร์เรามีโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างชัดเจน เนื่องจากประเทศไทยอยู่ตรงกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถเชื่อมระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จากเหนือลงใต้ รวมทั้งตะวันออกไปยังตะวันตกได้ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) ในอีกไม่กี่ปีนี้ประจวบเหมาะที่ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้สะสมเงินไว้ค่อนข้างมาก เพราะมีการลงทุนใหม่น้อยทำให้เป็นโอกาสที่จะเร่งลงทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เชื่อมโยงเศรษฐกิจของภูมิภาคเข้าด้วยกันเพื่อยกระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจประเทศไทยในระยะต่อไปเร่งแก้ 3 อุปสรรคใหญ่อย่างไรก็ตาม หากต้องการรองรับการเปลี่ยนแปลงของการค้าโลก และพัฒนาประเทศไทยให้ขยายตัวต่อไป นอกเหนือจากการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นทางราง ท่าเรือ ระบบการบริหารจัดการน้ำ และลุ่มแม่น้ำแล้ว คือ การเร่งการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที เพราะในโลกที่การแข่งขันทางการค้าสูงขึ้น มีคนขายสินค้าประเภทเดียวกันคุณภาพเดียวกันจำนวนมาก สิ่งที่จะเข้ามาตัดสิน “ชัยชนะ” ก็คือความสะดวกในด้านบริการ “ที่ผ่านมาเราส่งเสริมด้าน e-commerce พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ e-market ตลาดออนไลน์ อยู่เพียงพักเดียว ตอนนี้จะต้องรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ รวมทั้งการส่งเสริมให้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประเทศ”สำหรับอุปสรรคการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้น นายวีรพงษ์ กล่าวว่า เรื่องแรกเป็นเรื่องอัตลักษณ์ของคนไทยเองที่จะไม่เร่งพัฒนา หรือไม่พยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น หากไม่เกิดวิกฤติจนย่ำแย่เสียก่อน ทำให้การพัฒนาประเทศล่าช้า “เราจะไม่เคยเก่งขึ้นเลย ถ้าไม่เกิดวิกฤติเสียก่อน เช่นการบริหารจัดการลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ระบบการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม ไม่เคยเกิดขึ้นและจะไม่เกิดขึ้นเลย หากไม่มีวิกฤติน้ำท่วมหนักในปีที่ผ่านมา”ขณะที่การเมือง คืออุปสรรคด้านที่ 2 จากวงจรของวิกฤติการเมืองของประเทศที่จะเกิดหรือมีการเปลี่ยนแปลงการเมืองอย่างรุนแรงในทุก 10 ปี ทำให้นักลงทุนต่างประเทศที่เพิ่งเข้ามาลงทุนใหม่ หรือต่างชาติที่ยังไม่เคยลงทุนในไทยไม่มีวันเข้าใจ แต่นักลงทุนที่อยู่นานๆ อย่างญี่ปุ่น ยุโรปบางประเทศจะเรียนรู้ที่จะไม่ตกใจกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย ส่วนเรื่องที่ 3 คือแนวคิดในการมองฐานะของประเทศที่ควรต้องเปลี่ยนแปลง เพราะประเทศไทยวันนี้ไม่ใช่ไม่มีเงิน หรือขาดสภาพคล่องเหมือนเมื่อวิกฤติปี 40 แต่ขณะนี้เรามีสภาพคล่องจำนวนมากทั้งเงินบาท และเงินต่างประเทศแต่ขาดการลงทุนคอรัปชันเหมือนริดสีดวงนายวีรพงษ์ ยังกล่าวว่า  อีกส่วนหนึ่งที่ต้องเปลี่ยนคือแนวคิดต่อภาคราชการไทยในเรื่องคอรัปชัน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ แต่ไม่อยากให้คิดว่า เมื่อกลัวคอรัปชันแล้วก็ตัดปัญหาด้วยการไม่ยุ่งเกี่ยวหรือไม่สนับสนุนให้เกิดโครงการลงทุน“สำหรับผมเปรียบคอรัปชันเหมือนริดสีดวง คือทำให้ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำต้องมีเลือดไหล เจ็บปวด แต่จะตัดสินใจไม่เข้าห้องน้ำไปเลยก็คงไม่ได้ เพราะสุดท้ายคนนั้นก็ท้องอืดตาย ดังนั้น ทางแก้ก็คือ ริดสีดวงที่มีอยู่ก็ต้องรักษากันไป ส่วนห้องน้ำคนเราก็ต้องเข้าตามปกติ เหมือนโครงการลงทุนของประเทศ การแก้ไขป้องกันคอรัปชันก็ทำต่อไป แต่ต้องมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาประเทศด้วย “การที่ผมเข้ามาช่วยประเทศ ทั้งการทำหน้าที่ กยอ.และการเป็นประธาน ธปท.ผมไม่เคยคิดว่าเปลืองตัว หรือกลัวเสียชื่อ ผมไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะผมคิดว่าถ้ามีโอกาสช่วยเหลือประเทศแล้วผมไม่ทำ ผมจะไม่สบายใจเสียใจ ดังนั้นเมื่อมีเวลาและโอกาสก็ควรจะต้องทำ”หนุนรัฐลุย 6 โครงการยักษ์ใน 6 เดือนสำหรับโครงการที่ตนเห็นว่าสำคัญและฝากรัฐบาลดำเนินการให้เป็นรูปธรรมใน 6 เดือนข้างหน้านั้น ประกอบด้วย 1.โครงการบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่วางแผนไว้ทั้งหมดแล้ว 2.โครงการจัดหาไฟฟ้าและพลังงานให้เพียงพอรองรับการขยายตัวและการพัฒนาประเทศในอนาคต 3.โครงการรถไฟความเร็วสูง และการปรับปรุงเส้นทางรถไฟทั่วประเทศเป็นรางคู่ 4. โครงการลงทุนขยายและปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง 5.โครงการปรับปรุงและขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ 6.คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี คือ ระบบเครือข่าย 3 จี ซึ่งภายใน 6 เดือนข้างหน้าควรจะเห็นการตัดสินใจที่ชัดเจนได้แล้ว “ทั้งหมดนี้ฝากนายกรัฐมนตรีให้ทำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ถ้าทำได้ทั้งหมดจะยิ่งดี แต่จริงๆแล้วอยากเห็นสัก 75% ก็ถือว่าได้เกียรตินิยมแล้ว”.

www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม