TCELS ปักธงในงานไบโออินเตอร์เนชั่นแนล 2012 บริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐ จับมือ โครงการเภสัชพันธุศาสตร์ รามาธิบดี ถอดรหัสพันธุกรรมแบบใหม่ วิเคราะห์ผลที่ล้ำหน้าเป็นครั้งแรกของโลก เผยสามารถตรวจได้ทั้งพันธุกรรมมนุษย์และเชื้อไวรัสพร้อมกันในครั้งเดียว ด้านนิคมอุตสาหกรรมแดนกิมจิลงนามความร่วมมือ พัฒนาต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม
ในการประชุมและจัดนิทรรศการด้านชีววิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก Bio International 2012 ณ เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีบรรดาภาครัฐและเอกชน ตลอดจนนักวิจัย นักลงทุน นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ เข้าร่วมงานกว่า 20,000 คน ในปีนี้ประเทศไทยเข้าร่วมนิทรรศการในรูปแบบไทยพาวิลเลียน โดยมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้นำทีม และได้เชิญหน่วยงานพันธมิตรเข้าร่วมงานด้วยคือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย TCELS ได้นำเสนองานที่ให้การสนับสนุนคือผลิตภัณฑ์สารสกัดครีมหน้าขาวจากน้ำยางพารา ผลงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลงานการค้นพบยีนส์แพ้ยาต้านไวรัสเอดส์ เนวิราปินและดีโฟว์ที ซึ่งเป็นการค้นพบครั้งแรกของโลก โดยนักวิทยาศาสตร์ในโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งนำเสนอผลงานการพัฒนาการวิจัยก่อนคลินิกที่ได้มาตรฐานสากล และการพัฒนางานวิจัยทางคลินิก เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงความพร้อมให้ความร่วมมือในการวิจัยและการให้บริการด้วย
นายกำจร พลางกูร รักษาการผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 4 วัน ของการร่วมงานมีผู้ให้ความสนใจสอบถามข้อมูลการลงทุนด้านไบโอเทค เทคโนโลยีนาโน การวิจัยและพัฒนา การวิจัยทางคลินิกที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาศาสตร์ของไทย กว่า 700 ราย โดยประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างงดงามจากการร่วมงานครั้งนี้เนื่องจากเกิดความร่วมมือกับ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างประเทศเกาหลีและสหรัฐอเมริกาสนใจร่วมงานกับประเทศไทย โดยนิคมอุตสาหกรรมในระดับภาค “มูลนิธิชุนเชิน ไบโออินดัสทรี (Chuncheon Bioindustry Foundationa : CBF)” จากประเทศเกาหลี สนใจร่วมพัฒนาต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม และได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยบริษัท Pathogenica ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพการถอดรหัสพันธุกรรมที่ล้ำสมัย เพื่อทำการถอดรหัสพันธุกรรมแบบใหม่และการวิเคราะห์ผลที่ล้ำหน้า สนใจร่วมงานในโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ ซึ่ง TCELS ให้การสนับสนุน โดยได้ทำการลงนามความร่วมมือเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกัน
ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเดินทางเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย กล่าวถึงที่มาที่ไปของความร่วมมือดังกล่าวว่า จากการเข้าร่วมงานไบโออินเตอร์เนชั่นแนล 2012 ที่สหรัฐครั้งนี้ ซีอีโอของบริษัท Pathogenica คือ ดร.เยมิ อเดโซแกน (Yemi Adesokan) ได้ติดตามผลงานด้านเภสัชพันธุศาสตร์ของไทยมาพอสมควรและสนใจที่จะร่วมงาน เมื่อทราบว่าเราจะไปเข้าร่วมงานดังกล่าว จึงนัดหารือและเกิดเป็นความร่วมมือในเวลาต่อมา สำหรับ ดร.เยมิ นั้น เป็นอดีตนักวิจัยปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เจ้าของเทคโนโลยีชีวภาพการถอดรหัสพันธุกรรมที่ล้ำสมัย ที่เรียกว่า Capture assay on Next generation sequencing ซึ่งสามารถตรวจจับดีเอ็นเอเป้าหมายด้วยตัวตรวจตาม (probe) มากกว่า 75,000 ตำแหน่ง เพื่อทำการถอดรหัสพันธุกรรมไปพร้อมกัน ซึ่งจะนำมาประยุกต์กับงานเภสัชพันธุศาสตร์ที่ดำเนินการโดยนักวิจัยไทยเพื่อพัฒนาเป็นชุดตรวจกลุ่มดีเอ็นเอเป้าหมายที่สำคัญบนจีโนมผู้ติดเชื้อเพื่อเลือกเฟ้นยาที่ใช้รักษาที่ดีที่สุด เนื่องจากแต่ละบุคคลหลังรับประทานยาจะตอบสนองต่อยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ต่างกัน (HIV-1 pharmacogenomics) อาจส่งผลด้านบวกคือลดจำนวนไวรัสในกระแสเลือดลงได้หรือในด้านลบที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
ชุดตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการซึ่งจะเกิดจากความร่วมมือพัฒนาจากสององค์กรจะสามารถตรวจสอบทั้งจีโนมของผู้ติดเชื้อและจีโนมของไวรัสไปพร้อมกัน สามารถรายงานผลการทดสอบให้แพทย์ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ทั้งในด้านปริมาณของไวรัสเอชไอวีในกระแสเลือดของผู้ป่วย (viral load) และการตรวจหาไวรัสเอชไอวีที่ดื้อต่อยาต้านไวรัส รวมถึงการตรวจยีนส์ของผู้ติดเชื้อไปพร้อมกันเพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังรับประทานยาต้านไวรัสเอดส์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับแพทย์ในการรักษาที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ติดเชื้อแต่ละราย
ดร.วสันต์ กล่าวว่า ในการตรวจวัดปริมาณหาไวรัสเอชไอวีในเลือด ตรวจหาไวรัสดื้อยา และยีนส์ที่ส่งผลต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาต้านไวรัสเอดส์ ในวันนี้นักเทคนิคการแพทย์ในห้องปฏิบัติการจะต้องอาศัยชุดน้ำยาทดสอบหลายชุดบนเครื่องมือตรวจวินิจฉัยราคาแพงในแพลตฟอร์มที่แตกต่างกันและวิธีการทั้งหมดมักจะล้มเหลวในการตรวจสอบความแตกต่างเล็กๆ ในระดับดีเอ็นเอที่สามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่ออาการไม่พึงประสงค์จากยาต้านไวรัสเอชไอวี ความรุนแรงและความต้านทานของเชื้อไวรัสต่อยาที่ใช้รักษา แต่โดยเทคโนโลยีที่ Pathogenica พัฒนาขึ้นสามารถเลือกบริเวณเฉพาะเจาะจงบนจีโนมของทั้งมนุษย์และเชื้อไวรัสที่ถูกค้นพบโดยทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เช่น บรรดาเครื่องหมาย (marker) ที่เฉพาะเจาะจงบนยีนส์ HLA และ Cytochrome P450 ที่เกี่ยวข้องกับการย่อยสลายยาในร่างกายหรือการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านไวรัส และส่วนของจีโนมของไวรัส เช่นยีนส์โพลีเมอร์เรสที่เกี่ยวข้องกับการดื้อต่อยาต้านไวรัสที่ผู้ป่วยรับประทานเพื่อลดปริมาณไวรัสในร่างกาย อันเป็นการช่วยลดปริมาณงานการถอดลำดับพันธุกรรม ไม่ต้องถอดรหัสทั้งจีโนมโดยอาศัยเทคโนโลยี Capture assay on Next generation sequencing กล่าวคือถอดรหัสเฉพาะในบริเวณของจีโนมที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการตรวจในแต่ละตัวอย่างตรวจมีราคาถูกกว่า รวดเร็ว และแม่นยำกว่าการทดสอบที่มีอยู่ในปัจจุบัน
“เป้าหมายของการวินิจฉัยส่วนบุคคลในผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีก็คือปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อให้ดีขึ้น ลดอัตราตาย ช่วยชีวิตให้รอดอย่างมีคุณภาพ สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้เสมือนคนปกติ ที่สำคัญลดค่ารักษาพยาบาล ความร่วมมือระหว่าง TCELS และ Pathogenica ในการถอดรหัสพันธุกรรมแบบใหม่และการวิเคราะห์ผลที่ล้ำหน้าจะเป็นระบบชุดทดสอบในห้องปฏิบัติการชุดแรกๆ ที่ช่วยยกระดับการตรวจวินิจฉัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่ชัดเจนแก่ผู้ป่วย มีระบบการแปลผลการตรวจวินิจฉัยที่แพทย์ผู้รักษาสามารถเข้าใจและใช้งานได้ง่าย” ดร.วสันต์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น