วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ปริมาณน้ำในอ่าง กฟผ.ปกติ ย้ำสามารถรับมือหน้าฝนได้

สถานการณ์น้ำในเขื่อน กฟผ. โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพียงพอต่อความต้องการ พร้อมกันนี้ได้สำรองช่องว่างพื้นที่ในอ่างเก็บน้ำสำหรับรับมือพายุจรที่อาจเกิดขึ้นในหน้าฝนวันที่ 6 ก.ค. นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. ล่าสุดว่า มีปริมาณน้ำในอ่างฯ กฟผ. ทั้งหมด 33,936 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น 55% ของความจุ ซึ่งไม่แตกต่างจากสัปดาห์ที่แล้วมากนัก โดยเมื่อเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน จะพบว่าปริมาณน้ำในปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว 10% หรือ -3,705 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ยังคงมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน 28%, 8% และ 4%ตามลำดับ ขณะที่อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันตก มีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่แล้ว 3%นายกิตติ กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพายุโซนร้อน “ด๊อกซูหริ” ที่ขึ้นฝั่งที่ประเทศจีนตอนใต้ใกล้เกาะฮ่องกง ไม่ได้ส่งผลต่อประเทศไทยมากนัก มีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือฝั่งตะวันออก บริเวณจังหวัดสกลนคร นครพนม อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ที่มีฝนเพิ่มมากขึ้น สำหรับปริมาณฝนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั่วทุกภาคของประเทศไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยภาคเหนือปริมาณฝนในเดือนมิถุนายนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 16 % ซึ่งส่งผลให้เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนไม่มากนัก ปัจจุบันเขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำ 6,197 ล้าน ลบ.ม. หรือ 46% น้อยกว่าปีที่แล้ว 22%หรือ ติดลบ 1,717 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้งานได้ 2,355 ล้าน ลบ.ม. มีช่องว่างรองรับน้ำได้อีก 7,307 ล้าน ลบ.ม. ในระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.-4 ก.ค. มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 50 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยวันละ 7 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ระบายน้ำรวม 80 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยวันละ 11 ล้าน ลบ.ม. การจำลองสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน หากมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในเกณฑ์น้ำน้อย น้ำเฉลี่ย และน้ำมาก คาดว่าเขื่อนภูมิพลจะมีปริมาตรน้ำเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ณ สิ้นเดือนต.ค.นี้ 60 %,71% และ 81% ของความจุ ตามลำดับเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำ 4,142 ล้าน ลบ.ม. หรือ 44% หรือน้อยกว่าปีที่แล้ว 35% หรือติดลบ 2,188 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้งานได้ 1,292 ล้าน ลบ.ม. มีช่องว่างรองรับน้ำได้อีก 5,368 ล้าน ลบ.ม. ม. ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 42 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยวันละ 6 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ระบายน้ำทั้งสิ้น 187 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยวันละ 27 ล้าน ลบ.ม. การจำลองสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน หากมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในเกณฑ์น้ำน้อย น้ำเฉลี่ย และน้ำมาก คาดว่าเขื่อนสิริกิติ์จะมีปริมาตรน้ำเมื่อสิ้นสุดฤดู ฝน 63%, 77% และ 92% ของความจุ ตามลำดับ ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้วค่อนข้างมาก เนื่องจากปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในช่วงเดือนมิถุนายนค่อนข้างน้อย ขณะที่ยังมีความจำเป็นต้องระบายน้ำเพื่อการเกษตร อีกทั้งในช่วงฤดูฝนมีความต้องการใช้น้ำจากเขื่อนเพิ่ม เพราะน้ำฝนจากธรรมชาติยังมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำที่มีกรมชลประทานเป็นประธาน ได้พิจารณาวางแผนการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ เพื่อการใช้น้ำในลุ่มน้ำปิง น่าน และเจ้าพระยา ซึ่งมีการเพาะปลูกมากขึ้น และมีความต้องการใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์วันละ 12 ล้าน ลบ.ม. และ 24 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ทั้งนี้ การวางแผนการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ในช่วงต่อไป ต้องติดตามข้อมูลสภาพอากาศและความต้องการใช้น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยคณะอนุกรรมการฯ จะมีการประสานงานเพื่อปรับเปลี่ยนการระบายน้ำให้เหมาะสมเพื่อการรักษาสมดุล ด้านการป้องกันอุทกภัยและภัยแล้ง รวมถึงต้องรักษาปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนทั้งสองให้เพียงพอสำหรับการใช้น้ำช่วงฤดูแล้งปีหน้า ที่มีความต้องการใช้น้ำจากเขื่อนทั้งสองโดยเฉลี่ย 7,000-8,000 ล้าน ลบ.ม. และยังต้องสำรองน้ำไว้ในช่วงต้นฤดูฝนอีก 3,000 ล้าน ลบ.ม. โดยรวมแล้วต้องมีน้ำต้นทุนในอ่างฯ ประมาณ 10,000-11,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ต้องสำรองช่องว่างให้สามารถรองรับอิทธิพลจากพายุที่อาจมีเข้ามาอีกตลอดช่วงฤดูฝน“การบริหารจัดการน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ที่ผ่านมาได้วางแผนรับสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้งอย่างสมดุลมาโดยตลอด ซึ่งจากการจำลองสถานการณ์น้ำในปีนี้ตลอดช่วงฤดูฝน จะเห็นว่าหากมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยเขื่อนทั้งสองจะมีปริมาณน้ำต้นทุน รวมกันประมาณ 10,200 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำดังกล่าวข้างต้น ขณะเดียวกัน ยังเหลือช่องว่างสำหรับรับพายุจรที่อาจมีมาในปีนี้ได้ถึง 1-2 ลูก อีกด้วย".

www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม