ภูเก็ตเป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทย สภาพภูมิอากาศ เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีลักษณะต่างจากจังหวัดอื่นอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นจังหวัดเดียวในประเทศที่พื้นที่ของจังหวัดทั้งหมดเป็นเกาะในทะเลอันดามัน และในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาสัมผัสกลิ่นอายทะเล ชายหาด ภูเขา รวมทั้งยังมาดำน้ำดูปะการัง ล้วนเป็นธรรมชาติที่สวยงาม ที่นี่จึงเปรียบดั่งแดนสวรรค์ หรือ “ไข่มุกแห่งอันดามัน”
แต่ที่ผ่านมาตลอดสองสัปดาห์ ทั้งสื่อในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศออสเตรเลีย ตีข่าวคนร้ายใช้มีดจี้ชิงทรัพย์ น.ส.สมิทธ มิเชล อลิชซาเบท อายุ59 ปี และ น.ส.ลินนี่ แทมมี่ ลี อายุ 45 ปี แหม่มชาวออสเตรเลีย ขณะเดินอยู่ริมถนนกะตะน้อย ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต แต่ น.ส.สมิทธ ต่อสู้ขัดขืน คนร้ายเลยใช้มีดแทงจนเสียชีวิต และฟันแขน น.ส.ลินนี่ บาดเจ็บต้องเย็บ 24 เข็ม ก่อนจะหลบหนีไป หลังเกิดเหตุตำรวจ สภ.ฉลอง ร่วมกับตำรวจ บก.ภ.จว.ภูเก็ต ตั้งชุดเฉพาะกิจ 3 ชุด ออกไล่ล่าเนื่องจากเป็นการทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต และของประเทศไทย
นั่นถือเป็นเหตุการณ์ที่ทำลายภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาท ทำให้ตำรวจต้องทำงานกันอย่างเข้มข้น จนกระทั่งจับกุมคนร้ายได้ ซึ่งสารภาพเพียงแค่ต้องการเงินไปจ่ายค่าอาหารและสุรา เท่านั้น
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น หลายฝ่ายพยายามกู้ภาพลักษณ์ให้กลับมาเหมือนเดิม เพราะไม่เช่นนั้น “ทัวริสต์” ต่างชาติจะหดหาย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากแดนจิงโจ้ ออสเตรเลีย ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในภูเก็ตเป็นอันดับหนึ่ง
ล่าสุด นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เรียกประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 1/2555 โดยมี น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รอง ผวจ.ภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภูเก็ต พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในจังหวัด เข้าร่วมประชุมหาแนวทาง และมาตรการในการดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เปิดเวทีให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้นำเสนอปัญหาการท่องเที่ยวของภูเก็ต และเน้นย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างมาก จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงปัญหา และแนวทางในการแก้ไขด้านการท่องเที่ยว ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้ประชุมมาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้วอย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแท็กซี่ป้ายดำ ปัญหาเจ็ตสกี รวมไปถึงปัญหาการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ปัญหาค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมานานแล้ว และหน่วยงานที่รับผิดชอบก็รับทราบปัญหามาโดยตลอด
ขณะที่ภาคเอกชนมองว่า ปัญหาการท่องเที่ยวของภูเก็ต ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเป็นเพราะหน่วยงานราชการไม่ได้จริงจังกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเสนอให้มีการติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มให้ครอบคลุมจุดเสี่ยงต่าง ๆ เพราะถือว่าเป็นประโยชน์ในการหาผู้กระทำผิดภายหลังเกิดเหตุ
ขณะที่ นายเมธี ตันมานะตระกูล ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ เสนอว่า การวิ่งราวทรัพย์เกิดขึ้นทุกที่ในแหล่งท่องเที่ยว เมื่อเกิดขึ้นแล้วโอกาสที่ผู้เสียหายจะกลับมาชี้ตัวผู้ต้องหาเป็นไปได้ยาก เพราะต้องเดินทางกลับประเทศ ทำให้ผู้ต้องหารู้ว่า 80% ไม่สามารถเอาผิดได้ ดังนั้น หากเป็นไปได้อยากจะให้นักท่องเที่ยวทำเป็น “หนังสือมอบอำนาจ” ให้ทางโรงแรมที่พักเป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินคดี ซึ่งจุดนี้จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทย ว่าไม่ได้วางเฉยมีการติดตามคนผิดมาลงโทษ
ด้าน นายสรายุทธ มัลลัม กรรมการสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวของภูเก็ตนั้น เกิดจากหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเท่าที่ควร หน่วยงานที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย หย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย ยกตัวอย่างตามชายหาดต่าง ๆ มีคนต่างชาติตั้งตัวเป็นมาเฟีย แล้วเที่ยวประกาศกับคนของประเทศตัวเองว่า สามารถเคลียร์ได้ทุกหน่วยงาน เคลียร์กับตำรวจได้ ซึ่งก็เป็นจริง คนกลุ่มนี้ไม่กลัวตำรวจ เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็จะไม่ลงบันทึกประจำวัน ได้แต่ตักเตือน เพราะได้เคลียร์กันเรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงสื่อมวลชนต่างชาติที่พยายามจะนำเสนอข่าวในทางลบกับการท่องเที่ยวของภูเก็ต
นายไพบูลย์ นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า หากเป็นไปได้อยากจะให้ทางตำรวจมีการสำรวจจุดเสี่ยงในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อที่จะได้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ครอบคลุม เพราะปัญหาในภูเก็ตเกิดขึ้นได้ตลอด ปัญหานักท่องเที่ยวออสเตรเลีย ยังไม่เรียบร้อย ก็มีปัญหาคนขับรถตุ๊ก ๆ ใช้วิทยุสื่อสารตีหัวนักท่องเที่ยวชาวดูไบจนเลือดอาบที่หาดป่าตองอีกในช่วงกลางคืน เย็บ 10 เข็ม จะเห็นว่าปัญหากับนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันในการดูแลนักท่องเที่ยวนั่นเป็นอีกหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นการทำงานที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุมักเพิ่งคิด “ล้อมคอก” และ “กู้ภาพลักษณ์” ของไทยให้กลับคืนมา ซึ่งอย่าลืมว่า ประเทศในภูมิภาคนี้ ล้วนแล้วแต่ต้องการแย่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งมีมูลค่ามหาศาล แต่หากเมืองไทย ไม่ป้องกันให้ดี รายได้ส่วนนี้อาจลดลงอย่างแน่นอน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น