วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ถาม-ตอบนายวรศักดิ์ ประเด็น"นาซา"ขอไทยใช้ฐานทัพอู่ตะเภา

"มติชนออนไลน์"ถาม-ตอบกับนายวรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหลายแง่มุมโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และประเด็น"นาซา"ขอไทยใช้ฐานทัพอู่ตะเภา

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ยกเลิกการใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อใช้สำรวจชั้นบรรยากาศ มีผลกระทบในด้านใดบ้าง

เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยมีความหวาดระแวงสหรัฐฯ เป็นพื้นเดิม เนื่องจากนโยบายของสหรัฐฯ ในอดีตที่มีต่อภูมิภาคนี้ ดังนั้นการตั้งคำถามกับการเข้ามาของสหรัฐฯ ครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

ปัญหาคือถ้าหากเข้ามาที่เป็นเรื่องการวิจัยเชิงเทคโนโลยีจริง ๆ และไทยไม่รับความร่วมมือตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่ทำอย่างไรที่จะทำให้ความหวาดระแวงนี้ได้รับการคลี่คลาย ตรงนี้รู้สึกเสียดายว่ารัฐบาลน่าจะตอบคำถามของพรรคฝ่ายค้าน

ถ้าชัดเจนแล้วย่อมสามารถร่วมมือได้ ถึงจะเอาเรื่องเข้าสภา เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลเป็นเสียงข้างมากและทำให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

ประเด็นนี้คงโทษใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้แต่มองภาพรวมของสังคมไทยต้องเข้าใจด้วยว่า เป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริง ๆ ที่จะเกิดความหวาดระแวงต่อพฤติกรรมของสหรัฐฯ และสหรัฐฯ เป็นผู้ประกาศเองว่าจะหวนกลับมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อ 2-3 ปีก่อน

ความหวาดระแวงจึงไม่ใช่เรื่องการไม่มีที่มาที่ไป หรือการตีตนไปก่อนไข้

เหตุการณ์ในครั้งนี้น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีว่า การทำอะไรที่เปิดเผยทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสหรัฐฯ บอกให้รู้ว่า เราควรมีดุลยพินิจต่อเรื่องนี้อย่างไรในอนาคต ไม่เฉพาะความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แต่ถ้ามีความร่วมมือในลักษณะนี้จากมหาอำนาจอื่น เช่น รัสเซียหรือจีน เราจะทำอย่างไร

ในช่วงที่ผ่านมาจีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ตรงนี้ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ อย่างไร

จริงแล้ว ๆ มหาอำนาจหลายประเทศมีความพยายามในการพัฒนาอวกาศ เหตุผลสำคัญของการส่งยานไปท่องอวกาศได้เรามองได้หลายแง่มุม ครั้งหนึ่งสหรัฐฯ และรัสเซียเคยทำสำเร็จซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ผลสืบเนื่องหลังจากเทคโนโลยีอวกาศมีผลกระทบต่อการพัฒนาขีปนาวุธ

จีนมีความตั้งใจในเรื่องนี้มานานแล้ว เพียงแต่เพิ่งมาสำเร็จในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิ่งที่จีนทำสำเร็จในตอนนี้เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ กับรัสเซียทำสำเร็จมาหลายสิบปีแล้ว จะบอกว่าจีนต้องการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศคงไม่ได้เพราะจีนยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เหตุผลที่จีนต้องทำไม่ต่างจากสหรัฐฯ ถ้าหากจีนไม่พัฒนาเรื่องนี้ การวางปฏิสัมพันธ์ของตัวเองกับชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และรัสเซียก็อาจเสียดุลไป การทำเช่นนี้จึงทำเพื่อเหตุผลด้านดุลอำนาจ

กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยในโลกอาหรับ จะส่งผลต่อกระบวนการประชาธิปไตยของจีนอย่างไร

ก่อนอื่นเราต้องมาต้องทำความเข้าใจเหตุการณ์ “อาหรับสปริง” (Arab Spring) ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ความจริงข้อหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือชาติอาหรับมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนมหาศาล ความล้มเหลวนี้ตั้งอยู่ภายใต้การเมืองแบบเผด็จการ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นของประชาชน

สาเหตุสำคัญประการต่อมาที่เราต้องตั้งคำถามคือการที่ประชาชนลุกฮือขึ้นมาจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อนำประเทศตัวเองเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย(Democratization) ใช่หรือไม่


ส่วนตัวมองว่ากลุ่มพลังมวลชนที่ลุกฮือขึ้นมีหลายกลุ่มหรือหลายความคิด ถ้าสมมติว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่รัฐอิสลาม เช่นสมมติว่าเปลี่ยนไปเป็นแบบอิหร่าน คิดว่ามหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จะมีปัญหากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

แต่ถ้าถามว่าเป็นความต้องการของมวลชนส่วนใหญ่ ต้องตอบให้ได้ก่อนว่านี่คือประชาธิปไตยใช่หรือไม่ ฉะนั้นเรื่องของอาหรับสปริงคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นอย่างหนึ่ง หลังจากนี้ต่อไป ความวุ่นวายยังมีอยู่อีกหลายปี กว่าจะหาจุดลงตัวได้ถึงตอนนั้นเราถึงจะพูดได้ว่าอาหรับสปริงนำไปสู่ประชาธิปไตย แต่สิ่งที่รู้สึกว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีคือ การลุกฮือขึ้นเกิดจากความต้องการของประชาชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกันสิ่งที่สังเกตได้จากการลุกฮือในบางประเทศไม่ใช่สิ่งปกติ แต่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ตรงนี้ทำอย่างไรที่จะไม่ให้สภาพเช่นนี้เกิดขึ้น ถ้าหากเป็นความรุนแรงลักษณะนี้อำนาจรัฐใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคตเกรงว่าไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่จะเป็นเผด็จการ

ประเด็นสำคัญคือการลุกฮือขึ้นจากเหตุหการณ์อาหรับสปริงมาจากพื้นฐานการปกครองที่เป็นเผด็จการและไม่สามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นถามว่าจีนเป็นเผด็จการหรือไม่ ต่างกันอย่างไรกับตะวันออกกลาง

ต่างกันที่เผด็จการของจีนทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น จีนมีโจทย์อย่างหนึ่งที่ประกาศมานานแล้วคือจะไม่พูดถึงประชาธิปไตยตราบใดที่ประชาชนยังยากจน ถ้าหากว่าประชาชนจีนอยู่ดีกินดีเมื่อไหร่ ถึงตอนนั้นจีนจะจึงหันกลับมาพูดถึงประชาธิปไตย

ประเด็นคือถ้าถึงเวลาที่จีนต้องการเป็นประชาธิปไตย จีนอาจมีประชาธิปไตยที่เป็นรูปแบบเฉพาะของตนเองได้ อาจเป็นรูปแบบที่ไม่เหมือนชาติตะวันตก

ความจริงข้อหนึ่งที่คนไทยรู้น้อยมาก คือ จีนมีระบบการเลือกตั้งมาสิบกว่าปีแล้ว เหมือนการทดลองเบื้องต้นว่าถ้าต้องการเป็นประชาธิปไตยโดยมีระบบการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นจะเป็นอย่างไร ปรากฏว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งของจีนยังคงมีปัญหาแม้จะอยู่ในขั้นทดลอง

ปัญหามีอย่างน้อย สองประการ ประการแรกคือ หลาย ๆ ท้องถิ่นแม้จะเลือกตั้งอย่างไร ผู้ที่มาเป็นผู้นำท้องถิ่นคงเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ อีกประการเป็นปัญหาที่สามารถพบเห็นได้ในบ้านเราคือการซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งในจีนแย่และรุนแรงกว่าไทยมาก

ในเบื้องต้นของการทดลอง จีนต้องการแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรไม่ให้การเลือกตั้งมีปัญหาเกิดขึ้น หากแก้ปัญหาการเลือกตั้งได้สำเร็จ เชื่อว่าจีนจะขยายประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งไปทีละน้อย

ถึงตอนนั้นจีนจะสามารถหารูปแบบประชาธิปไตยของตัวเองได้ แต่ยังเป็นประชาธิปไตยที่มีพรรคคอมมิวนิสต์ควบคุมอยู่ เพราะเป็นการยากที่จะให้พรรคคอมมิวนิสต์สลายตัวไปเกิดเป็นพรรคการเมืองหลายพรรคและเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งในแบบที่เราเข้าใจกัน ซึ่งนั่นเป็นปัญหาที่ใหญ่มากทางการเมืองของจีน

จีนจะดำรงรูปแบบของเผด็จการเช่นนี้ไปอีกยาวนาน ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ถ้าเป็นเผด็จการแล้ว สามารถสร้างชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ประชาชนดี คิดว่าไม่มีประชาชนประเทศไหนที่จะกระด่างกระเดื่อง ซึ่งนี่จึงตรงข้ามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับ

จีนพูดเองว่า ถ้าประชาชนอยู่ดีกินดีเมื่อไหร่ จะคิดถึงประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง นี่เป็นสิ่งที่ชวนให้ติดตามกันต่อไป



www.matichon.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม