วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ลาว สร้างกุมารแพทย์ พร้อมยกระดับมาตรฐานด้านการรักษา

การสาธารณสุข หมายถึงการป้องกันและรักษาโรค ทำนุบำรุงให้ประชาชนมีสุขภาพพลานามัยที่ดี มีความสุขสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้สังคมมีความเจริญก้าวหน้า ดังนั้นการสาธารณสุขจึงมีความสำคัญทั้งต่อตัวบุคคลและสังคมที่จะต้องมีการพัฒนา เพื่อยกระดับให้มีศักยภาพในการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากอยู่ใกล้เคียงกัน

มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ถือเป็นมูลนิธิหนึ่งที่มีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นประเทศไทยสนับสนุนกิจกรรมการกุศลที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการศึกษาและสาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งนอกจากจะมีโครงการในการส่งเสริมช่วยเหลือและสนับสนุนประชากรไทยหลากหลายโครงการแล้ว โครงการสนับสนุนการศึกษากุมารแพทย์ลาว ก็ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ทางมูลนิธิฯ ให้การช่วยเหลือ เพราะประเทศลาวเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่ยังต้องการความช่วยเหลือทางด้านนี้อยู่มาก

โครงการสนับสนุนการศึกษากุมารแพทย์ลาวเริ่มขึ้นในปี 2555 จากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาธารณ รัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และองค์กรเฮลธ์ ฟรอนเทียร์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนาศักยภาพบุคลากรการแพทย์และยกระดับมาตรฐานด้านการรักษาและการสาธารณสุขในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างยั่งยืน โดยได้มี การจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา

ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย กล่าวว่า ในภาพรวมของระบบสุขภาพของประเทศลาวเหมือนกับของประเทศไทยเมื่อก่อนนี้ คือมีระบบที่กระจายออกไปครอบคลุมประชากรโดยในเวียงจันทน์มีโรงพยาบาลอยู่หลายแห่ง ส่วนคณะแพทยศาสตร์ก็มีโรงพยาบาลของตัวเอง คือ โรงพยาบาลมโหสถ อยู่ตรงข้ามกับคณะแพทยศาสตร์ ลักษณะทั่วไปคล้ายโรงพยาบาลในต่างจังหวัดของประเทศไทยเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน และถ้าออกนอกเมืองเวียงจันทน์ไปก็จะมีโรงพยาบาลอีก ซึ่งคล้ายกับสถานีอนามัยคอยให้บริการประชาชนรักษาโรคเจ็บป่วยทั่วไป

เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วประเทศลาวได้มีการรวมโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยศึกษาศาสตร์ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาลัยด้านสุขภาพมาเป็นมหา วิทยาลัยแห่งชาติลาวขึ้น มีคณะศึกษาศาสตร์ สังคม ศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งแพทยศาสตร์ก็เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวจะสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 หรือ 4 ปีที่แล้ว มีการแยกคณะแพทยศาสตร์ออกมาตั้งเป็นมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพปัจจุบันถือว่าค่อนข้างล้าสมัย

สำหรับประเทศไทยเมื่อก่อนก็เคยรับความช่วยเหลือจากประเทศอื่น ๆ แต่ปัจจุบันประเทศไทยโดยรัฐบาลไทยกลายเป็นผู้ช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ซึ่งประเทศลาวถือเป็นประเทศหนึ่งที่เราได้ให้การช่วยเหลือในการพัฒนาโรงเรียนและโรงพยาบาล โดยประเทศลาวเองก็พยายามจะวางระบบด้านสุขภาพ โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทางด้านกุมารแพทย์ เพราะถือเป็นตัวพื้นฐานที่ต้องมองไปที่สุขภาพเบื้องต้นของเด็กก่อน โดยมีโครงการที่ช่วยเหลืออยู่แล้ว ทางมูลนิธิจึงให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแพทย์ลาว 2 ทุน ทุนละ 170,000 บาทต่อ 1 ปีการศึกษา โดยทุนนี้จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อาทิ ที่พักอาศัย หนังสือเรียน อาหาร และค่าใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งจะสนับ สนุนต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี ของโครงการจนกระทั่งผู้รับทุนสำเร็จหลักสูตร

ประเทศไทยและลาวมีความสัมพันธ์อันดี เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันทั้งด้านวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี รวมไปถึงการเผชิญปัญหาทางด้านสาธารณสุขร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคในเด็ก อาทิ มะเร็งและโรคติดเชื้อในเด็ก ปัจจุบันกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ทั้งสองประเทศกำลังประสบอยู่ ดังนั้นการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทั้ง 2 ประเทศ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และการสร้างอาจารย์ผู้สอนผู้เชี่ยวชาญจึงมีความสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างยั่งยืนเพื่อให้สามารถนำความรู้ ความเชี่ยวชาญใหม่ ๆ มาถ่ายทอดต่อและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ผู้ป่วย ชุมชน และท้องถิ่นของตน ซึ่งบุคลากรในสาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็ก และสาขาโรคติดเชื้อในเด็กยังมีความต้องการอย่างมากในประเทศลาว

มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยจึงเล็งเห็นถึงความต้องการดังกล่าว จึงให้การสนับสนุนทุนการศึกษา ซึ่งทุนนี้เป็นทุนที่ไม่มีข้อผูกมัด แต่เมื่อผู้รับทุนสำเร็จหลักสูตรแล้วจะต้องกลับไปทำงานในฐานะอาจารย์ประจำสถาบันฝึกหัดแพทย์หรือโรงพยาบาลในเครือเพื่อพัฒนาความรู้ทางวิชาการและการรักษาโรคให้กับกุมารแพทย์ลาวท่านอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการศึกษาการแพทย์ในสาธารณรัฐประชา ธิปไตยประชาชนลาวอย่างต่อเนื่อง โดยจะขยายการมอบทุนการศึกษาด้านการแพทย์ในสาขาอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

ทางด้าน ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรที่ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้สอนแพทย์ลาวทั้ง 2 คนนั้นเป็นหลักสูตรที่นักเรียนแพทย์ของทางมหาวิทยาลัยเรียนอยู่ แต่อาจจะมีข้อจำกัดและข้อแตกต่างกันบ้างในภาคปฏิบัติเพราะติดด้านกฎหมาย แต่เชื่อว่าในภาควิชาการจะสามารถฝึกอบรมให้กุมารแพทย์ลาวทั้งสองคนอย่างเต็มที่ จนกระทั่งมีความรู้ความชำนาญและสามารถกลับไปเป็นอาจารย์แพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน

สุดท้ายแล้วการจัดการกับปัญหาด้านสาธารณสุขควรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในระยะยาว การพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และการสร้างอาจารย์ผู้สอนผู้เชี่ยวชาญจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นโครงการสนับสนุนทุนการศึกษากุมารแพทย์ลาวนี้ จึงถือเป็นโครงการที่จะช่วยยกระดับการสาธารณสุขทั้งไทยและลาวได้อย่างยั่งยืนโดยแท้.

ความในใจสองกุมารแพทย์ลาวผู้ได้รับทุน

นายแพทย์สอนเพ็ด ไสสุลิโง และ นายแพทย์บันดิด ซุมพนพักดี กุมารแพทย์ลาวผู้มีสิทธิ์ได้รับทุนทั้ง 2 คน เปิดเผยว่า พอทราบว่ามีโครงการนี้ก็รู้สึกสนใจและคาดหวังว่าตนเองจะได้รับคัดเลือก เพื่อรับทุนการศึกษาต่อในสาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก และสาขาโรคติดเชื้อในเด็ก เพราะที่ผ่านมาประเทศของตนประสบปัญหานี้อย่างมาก โดยอัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีปัญหาในข้อจำกัดทางด้านวิชา การและบุคลากรไม่เพียงพอ ที่สำคัญหมอเด็กก็มีน้อยมาก ส่วนมากจะมีแต่แพทย์ประจำบ้านที่รักษาโรคทั่วไป ส่วนแพทย์ที่รักษาเฉพาะทางหรือแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางนั้นยังคงขาดแคลนอยู่ สำหรับโรคที่เด็กในประเทศลาวป่วยและเสียชีวิตมากนั้นมีอยู่ 5 โรคหลัก ได้แก่ โรคมาลาเรีย โรคปอดอักเสบ โรคขาดสารอาหาร โรคท้องเสียท้องร่วงและโรคหัด โดยส่วนมากมักจะเป็นในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ดี เพราะเมื่อเราเรียนจบนอกจากจะสามารถกลับมาช่วยรักษาโรคให้คนไข้ได้แล้ว ยังสามารถกลับมาเป็นอาจารย์แพทย์เพื่ออบรมสั่งสอนนักเรียนแพทย์รุ่นต่อไปให้มีความรู้ความชำนาญในการรักษาโรคเฉพาะทางในเด็กเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นความคาดหวังที่เรารอคอยมานานว่าประเทศเราจะมีบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับและช่วยเหลือประชาชนในประเทศให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งมีการสาธารณสุขที่เข้มแข็งยั่งยืนต่อไปในอนาคต.


www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม