สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ ม.รังสิต ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) และ สสส. จัดเวทีภาคีระดมปัญญา(Think Tank) โดยดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการจัดภาคีระดมปัญญาว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องเลิกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผสานพลังสมองที่กระจัดกระจายเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างยุทธศาสตร์ของชาติภายใต้โลกที่กำลังเปิดกว้างมากขึ้น ไทยกำลังบวกกับอาเซียน บวกกับจีน และจะบวกเข้ากับโลกทั้งหมด หากไทยมียุทธศาสตร์ที่ดีในด้านต่างๆ อาทิ การค้าการลงทุน เศรษฐกิจ การศึกษา คมนาคม พลังงาน ก็เชื่อได้ว่า สังคมไทยมีความหวังที่จะฝ่าวิกฤติของชาติ รับมือต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็วได้อย่างแน่นอน
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในฐานะประธานสถาบันคลังปัญญาฯ ระบุว่า การจัดเวทีดังกล่าวเพื่อกระตุ้นให้สังคมเกิดการเรียนรู้เรื่อง “อนาคต” ที่จำเป็นสำหรับการอยู่รอดและเติบโตในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้ไทยทราบ positioning ของตนท่ามกลางกระแสบูรพาภิวัตน์ จึงได้จัดเวทีระดมสมองในหัวข้อ จีนและอาเซียนในยุคบูรพาภิวัตน์ ขึ้นมา โดยตั้งคำถามว่า ในขณะที่ไทยยืนอยู่ในบริบทของโลกสองวง กล่าวคือ วงใหญ่ คือประเทศไทยที่อยู่ในโลกที่เป็นบูรพาภิวัตน์มากขึ้น และวงเล็กก็คือประเทศไทยในฐานะสมาชิกอาเซียนเราจะต้องมียุทธศาสตร์อะไรบ้าง?
การที่จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนหน่วยงานราชการ คณะรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. จะต้องร่วมกันจัดเวทีระดมสมองเพื่อสร้างข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่นประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ที่ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา พากันครุ่นคิดและพยายามจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในอีก 5 ปีข้างหน้าว่าประเทศจะไปในทิศทางใด แม้แต่มหาอำนาจอย่างจีนก็ทำงานหนักในเรื่องนี้ เพราะกำลังเผชิญปัจจัยท้าทายหลายอย่าง ที่ทำให้กำหนดนโยบายมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ความไม่แน่นอนเรื่องการสืบทอดอำนาจในหมู่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ จากกรณีจับกุมสมาชิกพรรคที่พัวพันข้อกล่าวหาทุจริต และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวเพราะกำไรจากการส่งออกลดลง การขยายอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังต่ำรวมทั้งบทบาทของสหรัฐฯในภูมิภาคอาเซียนที่เพิ่มขึ้น จีนจึงอดหวั่นเกรงไม่ได้ว่าปัจจัยทั้งหมดนี้อาจส่งผลสะท้อนไปยังภายนอก แน่นอนว่าย่อมไม่พ้นกลุ่มอาเซียนของเรา
สำหรับประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าภายใต้กระแสความร่วมมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) นั้น ถือว่าไม่ลำบากมากนัก เพราะไทยมีเงื่อนไขที่ดีหลายอย่าง อาทิ ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ในแง่ที่เป็นประเทศเชื่อมโยงระหว่างจีนกับเพื่อนบ้านอาเซียนส่งผลให้การเปิดเสรีแรงงานนั้นไทยจะได้รับผลในด้านบวกเพราะผู้เชียวชาญในวิชาชีพต่างๆที่ได้มีการทำข้อตกลงไว้ รวมทั้งนักศึกษาจากชาติอาเซียนเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น ส่วนจีนในฐานะพี่ใหญ่ก็ยังคงสนับสนุนบทบาทอาเซียนและผลักดันความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สิ่งที่ไทยควรทำคือทำเรื่องใหญ่ๆ ที่สำคัญให้ถูกต้องเข้าไว้ คือ สนับสนุนให้จีนเข้ามามีบทบาทนำในอาเซียนด้านการค้าการลงทุนแต่เรื่องความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงนั้น ไทยต้องรักษาดุลที่เหมาะสมระหว่างจีนและสหรัฐ ไม่แนบชิดมหาอำนาจฝั่งใดมากเกินไป
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลกที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบประชาคมเศรษฐกิจ หรือเขตการค้าเสรีนั้นเกิดจากแนวคิดที่ว่าความร่วมมือเป็นเรื่องของ “โอกาส” ทั้งนั้น เพราะช่วยสร้างการเติบโตและเสริมศักยภาพภาคเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ แต่ทว่าภายใต้โอกาสที่น่าจะเกิดขึ้นนี้ ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องในประเทศไทยได้ให้ความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนทุกระดับพอหรือยัง ทั้งนี้เพราะถือว่าคนไทยทุกคนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder)อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่ในฐานะผู้ประกอบการขนาดใหญ่/SME ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานมีฝีมือ จำเป็นต้องได้ข้อมูลที่เพียงพอว่า อะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับพวกเขา?
โดยปัจจุบันคนไทยยังมองและเข้าใจเรื่องบูรพาภิวัตน์และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในภาพกว้างเท่านั้น แต่ยังขาดการโฟกัสในรายละเอียดเชิงปฏิบัติอีกมาก เช่น การปรับปรุงกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจ การปฏิบัติงานของภาครัฐ รวมทั้งการกำหนดแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงลึกในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนและควบคุมให้มีการปฏิบัติตามด้วย เพื่อไม่ให้อาเซียนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเหมือนในปี 1997
นอกจากนี้สิ่งที่ต้องพึงระวัง คือ นโยบายเกษตรกรรมแผนใหม่ของจีน ซึ่งถูกกำหนดเป็นเรื่องเร่งด่วนของทุกมณฑล กล่าวคือ ต้องมีพื้นที่ทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบท โดยเปิดให้ภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศร่วมลงทุน รัฐบาลจีนมองว่าภาคเอกชนนี้แท้จริงก็คือพลังการผลิต (Productive Force) ที่เชื่อมเข้ากับเกษตรกรและรัฐบาล ปัจจุบันมีภาคเอกชนของไทยเข้าไปร่วมลงทุนและได้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ ภายใต้ฐานผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่และยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ส่วนยุทธศาสตร์ของไทยต่อกลุ่มประเทศอาเซียนที่อยู่รอบๆเรานั้น ไม่ว่าจะไทย – ลาว, ไทย – กัมพูชา, ไทย – พม่า, ไทย – มาเลเซีย แม้ไทยจะไม่ได้มีอาณาเขตติดต่อกับทุกประเทศในอาเซียน แต่ก็ใช้ประเทศที่ติดกับชายแดนเรา ขยายการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนออกไปอีกได้ ดังนั้น ประเทศไทยควรจัดทำแผนพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพจังหวัดชายแดนให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีรูปแบบสอดคล้องกับการเติบโตของเมืองนั้นๆ รวมทั้งชักชวนจังหวัดหัวเมืองในภูมิภาคต่างๆ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับเมืองชายแดนด้วย อาทิ ขอนแก่นอาจเป็นพี่เลี้ยงให้กับมุกดาหาร หนองคาย เป็นต้น
การเชื่อมไทยเข้ากับอาเซียนไม่จำเป็นต้องเริ่มทำจากกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมเมืองชายแดนให้เข้ากับอาเซียนด้วย กรุงเทพฯ ก็จะไม่เกิดอาการโตเดี่ยว แต่เป็นการเติบโตที่เป็นไปได้ในหลายๆเมือง ซึ่งจะช่วยทำให้จังหวัดใหญ่ๆ ได้เป็น Hub เชื่อมออกไปยังเพื่อนบ้านอาทิ ผลักดันให้เชียงใหม่เป็น Regional Hub ต่อเข้ากับจีน พม่า ลาวเป็นต้น
โดยต้องก้าวข้ามกับดักความคิดเรื่องเขตแดน (Border) ที่สร้างอคติและเป็นกำแพงทางความคิดที่ทำให้เราไม่อยากร่วมมือกับเพื่อนบ้าน ขอให้มองว่าความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นก็คือสินทรัพย์ (Asset) อันสำคัญยิ่งที่จะต้องรักษาไว้ ขณะนี้ยุทธศาสตร์ของจีนต่ออาเซียนที่เราต้องเกาะติดก็คือ จีนกำลังจะใช้เมืองหนานหนิงเป็นประตูสำคัญต่อสายตรงเข้ากับอาเซียน ทำให้เกิดความร่วมมือในด้านต่างๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ไทยควรเร่งทำก็ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานเพื่อรองรับการใช้พลังงานที่ขยายตัวขึ้น ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหารที่เรามีข้อได้เปรียบอยู่มาก
สุดท้ายหากความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีนเป็นไปอย่างแน่นแฟ้นแล้ว อาจพัฒนาไปสู่การร่วมกันจัดทำสถาปัตยกรรมทางการเงิน(Financial Architect) เพื่อร่วมกันสร้างกลไกป้องกันปัญหาเศรษฐกิจที่ภูมิภาคนี้อาจเผชิญในอนาคต
ส่วนปัญหาที่ควรระวังสำหรับประเทศไทย คือ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่เจอทางออก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่สร้างยุทธศาสตร์ไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของประเทศ ขณะเดียวกันภาคธุรกิจและประชาชนก็มีคำถาม และมีความวิตกกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังก้าวเข้ามา ทั้งนี้คิดว่าไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันหาทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้ เชื่อว่ากลไกภาครัฐและสถาบันการศึกษา นักวิชาการ มีความตั้งใจดีที่จะร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ชาติอย่างแน่นอน ไม่เช่นนั้นอาจตกขบวนรถด่วนสายบูรพาภิวัตน์ ทำให้ไทยไม่ได้ประโยชน์จากโอกาสที่กำลังจะก้าวมาถึง
ศ.ดร.เอนกได้กล่าวอีกครั้งเกี่ยวกับ AEC และกระแสบูรพาภิวัตน์คือคนไทยมองสิ่งเหล่านี้ด้วยความกลัว แต่ความกลัวเหล่านี้หายไปได้หากชักชวนภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมาช่วยคิด ช่วยออกแบบหน้าตาของ AEC ควรจะเป็นอย่างไร ไม่ปล่อยให้เป็นบทบาทของหน่วยงานราชการเพียงฝ่ายเดียว เพราะเมื่อรู้ว่ามีข้อตกลงอะไรเกิดขึ้นบางครั้งก็สายเสียแล้วภายใต้โลกวงใหญ่ โลกของบูรพาภิวัตน์ ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเน้นความสำคัญหรือจำกัดตนเองแต่เพียง AEC มากเกินไปไทยยังมีศักยภาพอีกมากที่จะขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนไปยังภูมิภาคเกิดใหม่ได้อีกมาก อาทิ ภูมิภาคเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกา ส่วนบทบาทไทยในโลกวงเล็ก ต้องกระชับพื้นที่เวทีอาเซียนให้เป็นประโยชน์กับไทยนอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจ เช่น ใช้บทบาทของอาเซียนไว้ต่อรองกับสองมหาอำนาจในเวทีระดับโลก
ทางสถาบันคลังปัญญาฯ และ นสธ. จะจัดเวทีภาคีระดมปัญญาครั้งต่อไป เพื่อเจาะลึกถึงประเทศเพื่อนบ้านๆ รายรอบเราว่า พวกเขาเตรียมพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนหรือยัง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมของลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม ที่พลิกโฉมหน้าใหม่ จนเราอาจต้องเปลี่ยนความคิด จินตนาการถึงเพื่อนบ้านอีกครั้ง
หมายเหตุ : การเสวนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม เช่น ดร.สารสิน วีระผลรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ม.ล.สุภสิทธิ์ ชุมพล กูรูด้านการเงินอีกท่านหนึ่งของประเทศ คุณพิรุณ ฉัตรวนิชกุล นักวิชาการอิสระ ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทยอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคุณภูมิธรรม เวชยชัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น