หากเอยถึงกิจการบินของไทย เริ่มต้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีชาวต่างประเทศ นำเครื่องบินมาแสดงให้ชาวไทย ได้ชมเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2454 ทำให้ผู้บังคับบัญชา ระดับสูงของกองทัพในสมัยนั้นพิจารณาเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเครื่องบินไว้ เพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ในอนาคต ด้วยเหตุนี้กระทรวงกลาโหมจึงได้ตั้ง "แผนกการบิน" ขึ้นในกองทัพบก พร้อมทั้งได้คัดเลือกนายทหารบก 3 นายซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมไปศึกษาวิชาการที่ประเทศฝรั่งเศส คือ นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ นายพันตรี หลวงอาวุธสิขิกร และนายร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต
โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2455 นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ได้ทำการฝึกบินตามหลักสูตรของสโมสรการบินพลเรือนฝรั่งเศสด้วยเครื่องบินเบรเกต์ ชนิดปีก2 ชั้น ณ โรงเรียนการบินเมืองวิลลา คูเบลย์ และนายพันตรี หลวงอาวุธสิขิกร ได้เริ่มทำการบินกับเครื่องบินนิเออปอรต์ ปีกชั้นเดียว ที่โรงเรียนการบินมูร์เมอลอง เลอกรองด์ ส่วนนายร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต ได้เริ่มฝึกบินด้วยเครื่องบินนิเออปอรต์ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2455 ในขณะที่นายทหารทั้ง2 นายกำลังศึกษาวิชาการบินอยู่นั้นทางราชการ ได้สั่งซื้อเครื่องบิน รวมทั้ง มีผู้บริจาคเงินร่วมสมทบซื้อด้วยเป็นครั้งแรก จำนวน 8 เครื่อง คือเครื่องบินเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 4 เครื่อง และ เครื่องบินนิเออปอรต์ปีกชั้นเดียว จำนวน 4 เครื่อง
ภายหลังสำเร็จการศึกษาบุคคลทั้งสามท่านได้กลับมาก่อตั้งกิจการด้านการบินของสยาม จนพัฒนาก้าวหน้ามาเป็น กิจการการบินทั้งทหาร และพาณิชย์ของประเทศไทย โดย ได้รับพระราชทานยศ และบรรดาศักดิ์ ตามลำดับ คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต และกองทัพอากาศได้ยกย่องให้เป็น "บุพการีของกองทัพอากาศ" ประจักษ์มาร่วม 100 ปี กล่าวได้ว่ากำลังทางอากาศของไทย เริ่มต้นจากนักบินเพียง 3 คน และเครื่องบินอีก 8 เครื่องเท่านั้น
ในโอกาสนี้ทางกองทัพอากาศ จึงได้จัดนิทรรศการ “ครบรอบ 100 ปีการบินของบุพการีทหารอากาศ” การตั้งแสดงอากาศยาน การสวนสนามทางอากาศ และการแสดงการบิน การแสดงการบินของหน่วยงานต่าง ๆ ที่อาคารคลังสินค้า 3 ท่าอากาศยานดอนเมือง เปิดการแสดงนิทรรศการ การแสดงสมรรถนะการบินของเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-60 BLACK HAWK ของกองทัพบก การสาธิตการค้นหาช่วยชีวิตของเฮลิคอปเตอร์แบบ BELL-212 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่งดการแสดงการบินผาดแผลงในส่วนของกองทัพอากาศมิตรประเทศ
พร้อมทั้งจัดการแสดง “ภารกิจพิชิตน่านฟ้า” ตอน Love is in the Air “รักสะท้านฟ้า” ซึ่งแสดงในวันที่ 29-30 มิ.ย. ที่ผ่านมา และวันที่ 2 ก.ค.2555 ประกอบด้วย องก์ที่ 1 “รักบุพการีเท่าน่านฟ้า” เป็นการแสดงเบิกน่านฟ้า ต่อเนื่องด้วยการยกย่อง เชิดชู บุพการีทหารอากาศ ที่วางรากฐานการบินของประเทศจนพัฒนาเป็นกองทัพอากาศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 100 ปี จากนั้นเครื่องบินขับไล่แบบ F-16A จำนวน 2 เครื่อง ทำการบินผ่านพิธีเปิดงาน เครื่องบินโจมตีและธุรการแบบ AU-23A บินลากป้ายสัญลักษณ์งาน 100 ปีฯ หมู่บินสวนสนามบินผ่านพิธี ฯ ประกอบด้วย เครื่องบินขับไล่แบบ F-16 A/B จำนวน 9 เครื่อง เครื่องบินโจมตีแบบ ALPHA JET จำนวน 4 เครื่อง เครื่องบินฝึกขับไล่แบบ L-39 จำนวน 6 เครื่อง เครื่องบินฝึกแบบ T-41 D จำนวน 4 เครื่อง เครื่องบินฝึกแบบ DA-42 จำนวน 4 เครื่อง เครื่องบินฝึกแบบ PC-9 จำนวน 4 เครื่อง
องก์ที่ 2 “รักนภาแห่งสยาม” เป็นการแสดงถึงความรักเกียรติและศักดิ์ศรีของชาติ ปกป้องน่านฟ้าไทยให้เป็นอธิปไตย มาถึงปัจจุบัน การป้องกันภัยทางอากาศ เครื่องบินขับไล่แบบ F-16 A/B และเครื่องบินโจมตีแบบ ALPHA JET และเครื่องบินควบคุมแจ้งเตือนแบบ SAAB 340 AEW การบินโจมตีทางอากาศ ของเครื่องบินขับไล่แบบ F-16A/B การบินสนับสนุนกำลังภาคพื้นและเหล่าทัพอื่นๆ ของเครื่องบินโจมตีแบบ L-39 การค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบของเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1 H และเครื่องบินโจมตีแบบ ALPHA JET
องก์ที่3 “รักประชาทั่วเขตคาม” เป็นการแสดงการปฏิบัติภารกิจของกองทัพอากาศ ปฏิบัติหน้าที่แก่ประเทศชาติ และการแสดงภารกิจของกองทัพอากาศ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน การบินสนับสนุนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและกำลังภาคพื้นของเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130H การบินปฏิบัติฝนหลวง และการปฏิบัติการควบคุมไฟป่า ของเครื่องบินลำเลียงแบบBT-67
องก์ที่ 4 “เทิดพระนามองค์พระมหากษัตริย์ไทย” เป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และเฉลิมพระเกียรติ 85 พรรษา มหาราชา การวิ่งขึ้นของเครื่องบินพระที่นั่ง และการบินผ่านของเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เครื่องบินลำเลียงแบบ ATR-72-500, AIRBUS 319 และ BOEING 737-800 การบินผ่านพิธีฯ ของเฮลิคอปเตอร์แบบ S-92 และเฮลิคอปเตอร์แบบ BELL-412 EP พร้อมกับการสวนสนามแปรขบวน ของวงดุริยางค์ทหารอากาศ และบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์
องก์พิเศษ “กองทัพอากาศไทย ก้าวไกลวิสัยทัศน์แห่งศตวรรษใหม่” เป็นการแสดงปิดท้ายด้วยความประทับใจ พร้อมทั้งแสดงถึงวิสัยทัศน์ความมุ่งหวังที่จะก้าวไปสู่กองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค (One of The Best Air Forces in ASEAN) การบินเดี่ยวแสดงสมรรถนะของเครื่องบินขับไล่แบบ F-16 A ซึ่งออกแบบสีลายพิเศษในโอกาส 100 ปีฯ การบินเดี่ยวแสดงสมรรถนะของเครื่องบินขับไล่แบบ GRIPEN 39 C การแสดงการบินผาดแผลงของหมู่บินผาดแผลง BLUE PHOENIX หมู่บินเครื่องบินฝึกแบบ CT-4E จำนวน 16 เครื่อง ทำการบินหมู่แปรอักษรตัวเลข “100” จากนั้นจะเป็นพิธีปิดด้วยการบินปล่อยควันสีธงชาติไทยของเครื่องบินโจมตีและธุรการแบบAU-23A
เวลา 100 ปีที่ผ่านมา ประชาชนคนไทยคงจะได้รับรู้ศักยภาพของกองทัพอากาศไทยว่าไม่ด้อยไปกว่าชาติใดในเอเชียหรือประเทศอื่น ๆ ในโลกนี้.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น