วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ครบรอบ 80 ปีของประชาธิปไตยไทย

เนื่องจากเมื่อวานนี้ (24 มิถุนายน 2555) ซึ่งเป็นวันครบรอบ 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยตรงกับวันที่ผมจะต้องเขียนเรื่องซอกแซก ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องการบ้านการเมืองใดๆทั้งสิ้น
 

ผมจึงมิได้เขียนแสดงความคิดความเห็นเกี่ยวกับ 80 ปีของประชาธิปไตยไทยๆเอาไว้เลย ทั้งๆที่อายุ 80 ปี เป็นอายุสำคัญสมควรแก่การพูดถึงเขียนถึงเอาไว้บ้าง

ขออนุญาตนำมาเขียนวันนี้คงจะไม่ช้าเกินไปนะครับ

ก็อย่างที่นักเขียนนักวิจารณ์ตลอดจนครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้แสดงความคิดความเห็นเอาไว้นั่นแหละว่าระยะเวลา 80 ปี นั้นไซร้ หากเกี่ยวกับอายุมนุษย์ก็ต้องถือว่าเป็นอายุที่อาวุโสอย่างยิ่ง

แต่จะด้วยเหตุใดไม่ทราบ หรือจะเป็นเคราะห์กรรมก็ไม่ทราบที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยเรายังเป็น “เด็ก” อยู่เหมือนเดิม

นักวิชาการหรือนักวิเคราะห์การเมืองที่มองประชาธิปไตยไทยอย่างสิ้นหวัง ถึงกับเคยบอกว่าไม่ใช่เป็นเด็กอย่างเดียวเท่านั้น...ยังเป็นเด็กแคระแกร็นขี้โรค และอารมณ์ร้ายมากๆเสียด้วย

มองจากจำนวนรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎกติกาสูงสุดสำหรับระบอบประชาธิปไตยของทุกประเทศในโลกนี้...ก็ปรากฏว่าตลอด 80 ปี เรามีรัฐธรรม-นูญไปแล้วถึง 18 ฉบับ

ร่างแล้วฉีก, ฉีกแล้วก็ร่างใหม่, ไม่ลงตัวไม่หยุดนิ่งกันเสียที

นอกจากตัวรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎกติกาหลักจะถูกฉีกบ่อยมากดังกล่าวแล้ว ในแง่การประพฤติการปฏิบัติ หรือแม้แต่การใช้สิทธิใช้เสียงของคนไทยเราก็ยังไม่เป็นตามกฎกติกาของประชาธิปไตยที่แท้จริง

ความไม่เคารพต่อเสียงส่วนใหญ่ การไม่เคารพต่อกติกาสังคมที่ใช้อยู่การทำอะไรตามแต่ใจตนเอง การเรียกร้องแต่สิทธิจนลืมหน้าที่ ฯลฯ

ไปจนถึงการไม่เห็นคุณค่าของสิทธิ์และเสียงที่ตนเองมีอยู่ถึงขั้นขายสิทธิขายเสียงได้ หรือซื้อสิทธิซื้อเสียงได้ ยังคงมีอยู่ในประเทศไทยแม้กาลเวลาจะผ่านไป 80 ปีแล้ว

ที่น่ากลัวที่สุดในขณะนี้ก็คือการแบ่งความคิดและความเชื่อออกเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ในสังคมไทย...ในลักษณะต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเชื่อโดยไม่ยอมรับความคิดความเชื่อของอีกฝ่ายหนึ่ง

ทำให้เกิดการเผชิญหน้าอย่างใหญ่หลวงของคน 2 กลุ่ม และพร้อมที่จะแตกหักกันได้ทุกเมื่อในสถานการณ์ปัจจุบันนี้

ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า 80 ปีแล้ว...ทว่า ประชาธิปไตยไทยยังไม่เจริญเติบโตไปไหน ยังคงเป็นทารกอยู่เหมือนเดิม แถมเป็นทารกอารมณ์ร้ายที่ขาดความยั้งคิด และพร้อมจะทำร้ายซึ่งกันและกันก็คงไม่ผิดนัก

นี่คือการวิเคราะห์หรือมองประชาธิปไตยอย่างหมดหวังจากคนที่รักและห่วงใยระบอบประชาธิปไตยของไทยที่เราคงจะได้ยินอยู่บ่อยๆ

สำหรับผมเองเป็นคนมองโลกในแง่ดี แม้ที่ผ่านมาจะลุ่มๆดอนๆ และมีส่วนเป็นจริงอย่างที่นักวิชาการกลุ่มนี้มองไว้

แต่ผมก็ยังพบเห็นความดีงามหลายๆอย่างที่เกิดขึ้น

ผมยังเห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังเคารพกฎกติกา ยังเคารพสถาบันหลัก ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ไม่เคารพแม้จะมีจำนวนมากแต่ไม่ใช่ คนส่วนใหญ่

การเผชิญหน้ามีอยู่จริง, บุคคล 2 กลุ่มมีอยู่จริง แต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศเช่นกัน

เผอิญเป็นคนส่วนน้อยที่มีการรวมกลุ่ม มีการจัดตั้ง มีอำนาจเศรษฐกิจช่วยเกื้อหนุน และบางขณะเมื่อได้อำนาจรัฐก็อาศัยอำนาจรัฐเกื้อหนุน ทำให้ดูเหมือนมีอำนาจ มีพลัง และส่งเสียงได้ดังกระหึ่มโดยไม่เกรงใจใครๆ

ผมยังเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยไม่เอาด้วยกับทั้ง 2 ฝ่าย และยังปรารถนาที่จะช่วยกันแก้ปัญหาด้วยความสงบ และใช้สติ

เสียหน่อยเดียวที่คนส่วนใหญ่ผู้มีหัวใจเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เคารพในกฎกติกาอย่างแท้จริง อันมีมากที่สุดในประเทศไทยนั้น เป็นคนที่รักสงบเกินไป รักสันติเกินไป จึงวางตัวอยู่เฉยๆ ดังที่ทราบกันอยู่

สักวันหนึ่ง เมื่อคนกลุ่มนี้ทนไม่ไหว พวกเขาคงจะออกมาบ้าง และวันนั้นแหละ ประเทศไทยจะกลับมาเป็นปกติสุข และเป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงกันเสียที

ผมก็ได้แต่หวังว่าคนกลุ่มนี้ (ถ้ามีจริงตามที่ผมเชื่อ) จะรีบออกมาในปีที่ 81 หรือ 82 แห่งระบอบประชาธิปไตยนะครับ...ช้าไปกว่านี้จะไม่ไหว...บ้านเมืองจะพังเสียก่อน เพราะคนกลุ่มน้อย 2 กลุ่ม ที่ชอบทะเลาะกัน.

www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม