วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ธเนศ ชี้ ประชาธิปไตยไม่เป็นผลเพราะลืมหลัก 6 ของประชาชน

24 มิ.ย. 2555 ที่หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ ได้จัดการปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2555 ในหัวข้อ "แปดทศวรรษสยามปฏิวัติ : ความคิดว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน" เพื่อรำลึกเหตุการณ์สำคัญของประเทศไทย ในอดีตที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเปิดเวทีว่า ปีนี้ ครบรอบ 80 ปี อภิวัฒน์สยาม หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย หากเปรียบอายุคน เรียกได้ว่าเติบโตเต็มที่ โดยที่ผ่านมา เกิดรัฐประหารทำให้ประชาธิปไตยมีไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ทำให้ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งเหมือนประชาธิปไตยบางประเทศ

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดีพนมยงค์ ได้กล่าวในหัวข้อ "แปดทศวรรษสยามปฏิวัติ : ความคิดว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน" ว่า สังคมไทยอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมาตลอดระยะเวลา 80 ปี โดยมีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นในหลายเรื่อง เป็นไปตามวิวัฒนาการในตามแต่ละยุคสมัย ขณะที่ในมิติการปกครองประเทศได้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างละมุนละม่อม ซึ่งการที่ประชาธิปไตยไทยไม่สามารถก้าวไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากการหลงลืมเจตนารมณ์ของความต้องการประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหัวใจของคณะราษฎรได้ดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่ประชาธิปไตย ได้แก่ 1.การรักษาเอกราชการเมือง และเศรษฐกิจ 2.รักษาความมั่นคงให้กับประเทศ 3.บำรุงเศรษฐกิจ เน้นให้ประชาชนมีงานทำ 4.ให้ประชาชนมีสิทธิเสมอภาค 5.การให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน และ 6. การให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน

หากมองย้อนกลับไป ในปี 2475 เหตุผลที่ทำไม อ.ปรีดี พนมยงค์ จึงเน้นการเปลี่ยนผ่านการปกครองไปสู่ประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง มากกว่าการหักโค่น ส่วนหนึ่งมาจากที่คณะราษฎรมีจุดยืนเรื่องการลอมชอมและประนีประนอม เป็นลักษณะของไทย เนื่องจากหากเกิดการต่อต้านและประท้วงเกิดขึ้นมากๆ จะทำให้รัฐบาลเดินหน้าทำงานต่อไปไม่ได้ สิ่งนี้จึงน่าจะเป็นแบบแผนให้กับการเมืองไทยในปัจจุบันได้

ศ.ดร.ธเนศ มองว่า การเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศในแต่ละครั้ง จะเห็นว่าจะมีการล้มล้างรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นี่จึงเป็นเหตุผลที่พรรคเพื่อไทย พยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ หากมีการใช้อำนาจนอกระบบรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การยุติการเปลี่ยนแปลง อาจจะทำให้ซ้ำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ขอให้เราเรียนรู้จากประสบการณ์ และหันหน้าพูดคุยกัน ยอมรับการเปลี่ยนแปลง จะสามารถก้าวพ้นการเปลี่ยนแปลงได้

breakingnews.nationchannel.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม