“อาเซียนเป็นแกนนำ” หมายถึงว่าอาเซียนเป็นศูนย์รวมแกนนำในกิจการงานต่างๆของอาเซียนเองไม่ว่างานนั้นจะอยู่ในหรือนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาจากคำว่า “centrality” ในกฎบัตรอาเซียน หมวดที่ 1, ข้อ 1, วรรค 15 ที่ว่า ในกฎบัตรอาเซียนฉบับภาษาไทย
หมวดที่ 1
ความมุ่งประสงค์และหลักการ
ข้อ 1
ความมุ่งประสงค์
ความมุ่งประสงค์ของอาเซียนคือ
15. เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์รวมและบทบาทเชิงรุกของอาเซียนในฐานะพลังขับเคลื่อนหลักในความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค ในภาพแบบของภูมิภาคที่เปิดกว้าง โปร่งใส และไม่ปิดกั้น
โครงการ SEAC4RS หรือโครงการสำรวจหมู่เมฆและสภาวะภูมิอากาศเหนือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) อันเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาสภาวะภูมิอากาศโลก แม้ว่าจะเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐฯ และแม้ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ฝ่ายสหรัฐฯขอเพียงการอนุมัติจากรัฐบาลไทยให้เข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานบินขึ้นลงในระยะเวลาสองเดือนช่วงฤดูมรสุม แต่ในที่สุดความเห็นสาธารณะในประเทศไทยก็มองลึกมากจนเป็นการเชื่อมโยงกับการเมืองระหว่างประเทศ มองไปถึงขั้นที่ว่าอาจเป็นการทำให้จีนไม่พอใจไทยได้หากรัฐบาลไทยสนับสนุนโครงการนี้ของ NASA
ฝ่ายคัดค้านในประเทศไทยเชื่อว่า
1. NASA อาจใช้ช่วงเวลาสองเดือนที่ทำงานในประเทศไทยไปสอดแนมล้วงความลับของจีน ซึ่งก็ไม่มีใครทราบว่าความลับที่ว่านั้นเป็นอะไร.
2. หรือเป็นความลับที่ดาวเทียมหลายดวงที่สหรัฐมีโคจรเหนือโลกอยู่แล้วจะสอดแนมไม่ได้.
3. บ้างก็เกรงว่าการทำงานของ NASA ที่อู่ตะเภาจะเป็นเพียงหน่วยล่วงหน้าปูทางไปสู่การตั้งฐานทัพสหรัฐในประเทศไทย และขยายต่อไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.
นางฟู่หยิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เดินทางมาประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อสหรัฐประกาศเสียงดังว่าไม่มีนโยบายสกัดกั้นจีน ‘เราก็ต้องเชื่อตามที่เขาประกาศอย่างเป็นทางการ’ ขอให้อาเซียนอย่าเป็นแค่ ‘คนดู’ หรือยอมให้ชาติใหญ่ๆใช้เป็น ‘เครื่องมือ’ หรือสร้างความแตกแยก หาไม่แล้วจะหมดพลังของภูมิภาค” (กรุงเทพธุรกิจ, 26 มิถุนายน 2555)
รัฐมนตรีฟู่หยิงของจีนกล่าวต่ออีกว่า:
“เป็นกังวลว่าสงครามเย็นจะกลับมา”
“ไม่มีปัญหาที่สหรัฐจะมีบทบาทในทางสร้างสรรค์มากขึ้นในภูมิภาคนี้”
“ยังไม่มีความเห็นเรื่องที่สหรัฐฯจะใช้ฐานทัพเรือที่อู่ตะเภาเพื่อการสำรวจชั้นเมฆ ซึ่งเป็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ต้องศึกษารายละเอียดเรื่องนี้ก่อนจึงจะสามารถให้ความเห็นได้”
ดูจากบทให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนแล้วก็ยืนยันได้ว่าโครงการ SEAC4RS ของ NASA เป็นเรื่องวิชาการวิทยาศาสตร์ จัดอยู่ในกลุ่มโครงการด้านมนุษยธรรม และเป็นโครงการสร้างสรรค์ของสหรัฐฯ จีนจึงไม่มีความเห็นจะคัดค้านในตอนนี้ จนกว่าจะได้ศึกษารายละเอียด แต่ตอนนี้จีนกลับเข้าใจผิดว่า NASA จะใช้ฐานทัพเรือที่สัตหีบ ทั้งที่ NASA ขอใช้สนามบินอู่ตะเภา
สำหรับอาเซียน โครงการ SEAC4RS เป็นความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศที่นักวิทยาศาสตร์อาเซียนหลายประเทศร่วมงานกันมาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2548 มีนักวิทยาศาสตร์จากไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, และ เวียดนาม รวมทั้งไต้หวัน รองศาสตราจารย์ ดร.เสริม จันทร์ฉาย จากภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมโครงการนี้มาตั้งแต่ปีแรกเริ่ม มีการประชุมครั้งแรกที่อินโดนีเซีย ครั้งที่สองที่ไต้หวัน ครั้งที่สามที่สิงคโปร์ ครั้งที่สี่ที่ไต้หวัน และล่าสุดครั้งที่ห้าที่เวียดนาม
นักวิทยาศาสตร์ไทยยืนยันแน่นอนว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและอาเซียนด้วย นอกเหนือจากประโยชน์ที่จะเกิดแก่ทวีปเอเชียซึ่งรวมทั้งจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ร่วมเจรจาของอาเซียนในระดับที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในกรอบความสัมพันธ์ “ในภาพแบบของภูมิภาคที่เปิดกว้าง โปร่งใส และไม่ปิดกั้น” ตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรอาเซียน
ดั่งนี้แล้วเหตุไฉนเรื่อง SEAC4RS จึงกลายเป็นเรื่องเกมการถ่วงดุลอำนาจของมาอำนาจจีนกับสหรัฐอเมริกาไปได้?
ทั้งๆที่จีนก็บอกว่าไม่เห็นปัญหา
สหรัฐอเมริกาก็ชี้แจงชัดเจนและพิสูจน์มา 8 ปีแล้วว่าเป็นงานวิทยาศาสตร์
นักวิทยาศาสตร์ไทยที่ร่วมโครงการก็อธิบายจนกระจ่างแจ้ง
อาเซียนเองก็มิได้มีปฏิกิริยาใดๆ
เรื่องที่มากกว่า SEAC4RS คือเรื่องการตั้งศูนย์ช่วยเหลือบรรเทาภิบัติภัยในอาเซียนที่อู่ตะเภา
ทั้งไทยและอาเซียนก็ขอความร่วมมือจากสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นงานใหญ่ของอาเซียนในอนาคตอันไม่ไกล
ปัญหาอยู่ที่ความเห็นสาธารณะในประเทศไทยว่าจะมองเรื่องนี้เป็นวิทยาศาสตร์
หรือจะมองเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ
หากมองเป็นเรื่องการเมืองของมหาอำนาจที่มาใช้เวทีอาเซียนและประเทศไทยโดยเฉพาะแย่งชิงและปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ก็จะเป็นการเริ่มใหม่ของสงครามเย็นที่จีนห่วงว่ากำลังจะเกิดใหม่ได้
จีนก็มีผลประโยชน์เป็นรูปธรรมในการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะ Spratly และ Paracel ในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ซึ่งอาจจะต้องเกิดสงครามร้อนกับประเทศอาเซียนเกือบทั้งหมด ยกเว้นไทย ลาว พม่า และสิงคโปร์
ฟิลิปินส์และเคยเผชิญหน้าจีนมาแล้วเมื่อต้นปีครั้งที่จีนใช้เรือประมงเข้าไปสอดแนมในเกาะ Scarborough ทางตะวันตกของมะนิลา สหรัฐฯก็มีความตกลงกับฟิลิปปินส์ในการปกป้องความมั่นคงของฟิลิปปินส์ และได้เข้าไปช่วยฟิลิปปินส์ในตอนนั้นแล้วด้วย
ขณะนี้ทั้งจีนและสหรัฐฯรวมทั้งรัสเซีย ทั้งสามอภิมหาอำนาจกลับมาแสดงบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเข้มข้นมากขึ้นแล้ว นับตั้งแต่สหรัฐและจีนนำเรื่องเกาหลีเหนือมาสู่ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน+คู่เจรจาที่สิงคโปร์ในปี 2551 ทั้งสามอภิมหาอำนาจล้วนเป็นประเทศคู่เจรจาใกล้ชิดที่สุดของอาเซียน ทั้งในกรอบความสัมพันธ์แบบ “อาเซียน+” และ “การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก” (East Asia Summit) อาเซียนจะพบกับบทบาทของอภิมหาอำนาจในเวทีของอาเซียนเองมากขึ้นอย่างไม่มีทางเลี่ยง
พลเมืองไทยในฐานะพลเมืองอาเซียนก็จำต้องหาความรู้เรื่องอาเซียนกับโลกมากขึ้น
สำหรับเรื่อง เรื่อง SEAC4RS นั้น:
มองเป็นการเมืองระหว่างประเทศก็ยุ่งหน่อย อาเซียนจะสั่นคลอนเสียศูนย์ รักษาบทบาทแกนนำหรือศูนย์รวม (ASEAN Centrality) ไว้ยากมาก
มองเป็นวิทยาศาสตร์น่าจะสบายใจกว่า เชิญจีนมาบินสำรวจภูมิอากาศร่วมกับ NASA และไทยด้วยก็น่าจะดี นักวิทยาศาสตร์อาเซียนกำลังรออยู่
www.dailynews.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น