วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ม.เกษตร เจ๋ง ทีม SKUBA ยึดตำแหน่งแชมป์ได้อีกสมัย

SKUBA ทีมเยาวชนไทย นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอีกครั้ง ในการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก หรือ World RoboCup 2012 ระหว่างวันที่ 18 – 24 มิถุนายน 2555 ณ เมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ด้วยการคว้าแชมป์โลกทางด้านหุ่นยนต์เตะฟุตบอล ในรุ่น Small Size Robot League ซึ่งเป็นการป้องกันแชมป์โลก สมัยที่ 4 ไว้ได้อย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม Technical Challenge ด้าน Pass and Intercepted Challenge อีกหนึ่งรางวัล โดยทีม SKUBA ตัวแทนประเทศไทย เอาชนะ ทีม ZJUNlict จากประเทศจีน แชมป์จากอเมริกาเหนือ 2 ประตู ต่อ 1 โดยในครึ่งแรก ทีม ZJUNlict ยิงประตูนำไปก่อน 1 ต่อ 0 จากนั้นทีม SKUBA ก็ยิงประตูทำคะแนนตามได้สำเร็จ จบครึ่งแรกเสมอกัน 1 ต่อ 1

ในครึ่งหลัง ทั้งสองทีมต่างวางแผนป้องกันอย่างเต็มที่ เกมส์การแข่งขันจึงเริ่มดุดันมากยิ่งขึ้น ทีม SKUBA ได้ลูกโทษ ยิงประตูนำไปก่อน 2 ประตูต่อ1 ในขณะที่ทีม ZJUNlict ทำอะไรไม่ได้ จนกระทั่งหมดเวลาการแข่งขัน ทีม SKUBA จึงชนะไปในที่สุด ส่วนทีมชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ ทีม KIKS ประเทศญี่ปุ่น ชนะทีม Parsian ประเทศอิหร่าน ไปด้วยคะแนน 2 ประตู ต่อ 1 เช่นกัน สำหรับการแข่งขัน Soccer Small Size Robot League มี 24 ทีม จาก 11 ประเทศ เข้าร่วมการแข่งขันได้แก่ จีน อิหร่าน บราซิล ตุรกี เยอรมัน แคนาดา เม็กซิโก อเมริกา ญี่ปุ่น โคลัมเบีย และไทย

ส่วนอีกรายการในประเภทหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ หรือ RoboCup @ Home ทีมSKUBA ซึ่งลงแข่งขันเป็นครั้งแรก สามารถเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายได้สำเร็จ โดยอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก จากผู้แข่งขันทั้งหมด 18 ทีม จาก 11 ประเทศ ได้แก่ เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ อิหร่าน เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก บราซิล สเปน ชิลี และไทย

ด้านอาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ผู้ช่วยอธิการบดี และอาจารย์ที่ปรึกษาของทีม SKUBA ตัวแทนประเทศไทย กล่าวว่า หุ่นยนต์ของจีนมีศักยภาพสูงกว่าของเรามาก และทีมจากประเทศ อื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น อิหร่าน และเยอรมัน ล้วนแต่มีความแข็งแกร่ง นอกจากนี้แทบทุกทีมได้มีการติดตามเทคนิคและวิธีการเล่นของทีม SKUBA ถึงขนาดคอปปี้มาเลย ดังนั้นเราจึงต้องปรับเปลี่ยนแผนการเล่นตลอดเวลา เช่นเร่งความเร็วของหุ่นยนต์ให้สูงขึ้น และเล่นลูกไกลเพื่อทำคะแนน แต่ก็ต้องเสี่ยงกับปัญหามอเตอร์ไหม้ ซึ่งเราจะต้องเตรียมความพร้อมของหุ่นยนต์สำรอง รวมไปถึงการซ่อมแซมหุ่นยนต์เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วย

อาจารย์ปัญญา กล่าวอีกว่า ในการแข่งขันครั้งนี้นำหุ่นยนต์ไปทั้งสิ้น 12 ตัว ลงแข่งจริง 6 ตัว จากการแข่งขันในรอบต่าง ๆ หุ่นยนต์ได้รับความเสียหาย 3-4 ตัวโดยในรอบชิงชนะเลิศ มีหุ่นยนต์ที่สมบูรณ์เพียง 3 ตัวเท่านั้น ในขณะที่ทีมจีนนำหุ่นยนต์มาทั้งหมด 35 ตัว นอกจากนี้การแข่งขันเทคนิคอลชาแลนจ์ หรือการแข่งขันทางด้านเทคนิค กรรมการมีการเปลี่ยนวิธีการนำเสนอกระทันหัน ทำให้เราทำคะแนนได้ไม่มากเท่าที่ควร และเราลงแข่งขันไม่ครบทุกประเภท อย่างไรก็ตาม ทีม SKUBA ก็สามารถคว้ารางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม ด้าน Pass and Intercepted Challenge เป็นของขวัญให้กับประเทศไทย อีกหนึ่งรางวัล

ขณะที่นายกฤษฎิ์ ชัยโส หัวหน้าทีมสคูบ้าแอดโฮม กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย เพราะถือว่าเกินความคาดหมาย เนื่องจากเราลงแข่งขันในระดับโลกเป็นปีแรก

สำหรับรายชื่ออาจารย์และนิสิตทีม Skuba ที่เข้าร่วมการแข่งขัน World Robocup 2012 ที่ประเทศเม็กซิโก ประกอบด้วย อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา อาจารย์กาญจนพันธ์ สุขวิชชัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และ ผศ.ดร ยอดเยี่ยม ทิพย์สุวรรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทีม และนิสิต จำนวน 11 คน ได้แก่

1. นาย ธีรธัช อริยชาติผดุงกิจ (ไฟฟ้า) ปี 4
2. นาย กฤษฎิ์ ชัยโส หัวหน้าทีม @HOME (คอมพิวเตอร์) ปี 4
3. นาย ศักย์พิเชษฐ ศริญญาวัจน์ (เครื่องกล) ปี 4
4. นาย พีรวิชช์ ผลโภค (ไฟฟ้า) ปี 4
5. นาย กิตติพนธ์ กานดา (คอมพิวเตอร์) ปี 4
6 . นาย ธนากร ปัญญาเปียง (ซอฟต์แวร์) ปี 3
7. นาย ภาวัต เลิศอริยศักดิ์ชัย หัวหน้าทีม @ SSL (คอมพิวเตอร์) ปี 3
8. นาย ศุภวิชญ์ ศิริวรรณ (ไฟฟ้า) ปี 3
9. นาย รัฐภูมิ ถนอมญาติ (ไฟฟ้า) ปี 3
10. นาย ภวิศ เกียรติศิลปิน (เครื่องกล) ปี 3
11. นาย คัคนะ ธิมาชัย บัณฑิต CPE22

การแข่งขัน World Robocup 2012 หรือการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ประจำปี 2012 จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติ ดับเบิลยูทีซี กรุงเม็กซิโก ซิตี้ โดยในปีนี้มีผู้สมัครเข้าแข่งขันทั้งหมด 400 ทีม หรือกว่า 2,500 คน กว่า 20 ประเทศทั่วโลก โดยมีการแข่งขันหุ่นยนต์ในหลายประเภท เช่น โรโบคัพเรสคิว หรือ การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย , โรบอทแอดโฮม หรือ หุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ , โรโบคัพซอกเกอร์ หรือ หุ่นยนต์เตะฟุตบอล , โรโบคัพจูเนียร์ หรือหุ่นยนต์ทีมเยาวชนรุ่นเยาว์ สำหรับทีมเยาวชนจากประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 5 ทีม ได้แก่ทีม สเตบิไรซ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ในประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย , ทีมโรโบสยาม จากมหาวิทยาลัยสยาม , ทีมดงยาง จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ทีมสคูบ้า จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในประเภทหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ และประเภทหุ่นยนต์เตะฟุตบอล ในรุ่นสมอลไซส์ สำหรับหุ่นยนต์กู้ภัยและหุ่นยนต์เตะฟุตบอล นั้น เยาวชนไทยครองแชมป์โลกมาแล้วหลายสมัยติดต่อกัน ขณะที่หุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ ประเทศไทยเพิ่งจะลงแข่งขันครั้งแรก

www.matichon.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม