วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ขยายเวลาการประชุม ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนู

ถ้าจะมีการขยายเวลาออกไป คงไม่เกี่ยวกับการมารองรับการแก้ไขรัฐธรรมนู  แต่หากมีการขยายเวลาสมัยประชุม ก็เป็นเพราะเมื่อต้นสมัยประชุมเกิดวิกฤตอุทกภัย ทำให้การเปิดประชุมไม่สามารถทำได้เต็มที่

การเมืองในสภาขณะนี้เข้าสู่โหมด “พักร้อน-พักรบ” ชั่วคราวภายหลังมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติก่อนจะกลับไปโรมรันกันอีกครั้งหลังจากวันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการเคาะระฆังยกใหม่ที่อาจทำให้อุณหภูมิการเมืองเดือดเพิ่มขึ้น

ย้อนกลับไปทบทวนเหตุผลการของการขอขยายสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติออกไปอีกกว่า 1เดือน (18เม.ย.-19 มิ.ย.) ทั้งที่ต้องสิ้นสุดลงตั้งแต่เมื่อวันที่18 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นเพราะต้องการผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการบริหาราชการราชแผ่นดินของรัฐบาล

“ถ้าจะมีการขยายเวลาออกไป คงไม่เกี่ยวกับการมารองรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากมีการขยายเวลาสมัยประชุม ก็เป็นเพราะเมื่อต้นสมัยประชุมเกิดวิกฤตอุทกภัย ทำให้การเปิดประชุมไม่สามารถทำได้เต็มที่ ส.ส.ต้องลงพื้นที่ไปดูแลประชาชน และการขยายเวลาออกไปจะช่วยให้การพิจารณาร่างกฎหมายของภาคประชาชนสามารถผลักดันได้ทันในสมัยประชุมนี้” เหตุผลหนึ่งจาก อุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล เพื่อขอขยายสมัยประชุม

แม้เหตุผลของการขยายสมัยประชุมของรัฐบาลจะพยายามอ้างว่าไม่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหลัก แต่เอาเข้าจริงกลับพบว่าเวลาที่ขยายสมัยประชุมเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 18เม.ย.-19 มิ.ย. รวมเวลาเกือบ1เดือนเวลาของรัฐสภากลับหมดไปกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 ถึง 13วัน

ประกอบด้วย วันที่ 18-21 เม.ย.,24-25 เม.ย., 1พ.ค.-3พ.ค., 8 พ.ค.,10 -11 พ.ค.และ 14 พ.ค. แต่กระบวนการก็ต้องหยุดไว้แค่นั้นเพราะศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเบรกไม่ให้ลงมติวาระ3 ซึ่งกำหนดไว้วันที่ 5 มิ.ย.เนื่องจากได้รับคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เอาไว้


สาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพียงเล็กน้อยแต่หลักการยังคงเดิมไม่แตกต่างตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอต่อรัฐสภาตั้งแต่วาระที่ 1 กล่าวคือ คงหลักการที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 99 คน แบ่งเป็น เลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนรวม 77 คน และจากการแต่งตั้งของที่ประชุมรัฐสภา 22 คน

ทว่าที่ประชุมได้แก้ถ้อยคำในบางมาตราเกี่ยวกับการตรวจสอบการทุจริตเลือกตั้งส.ส.ร.โดยให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเป็นผู้วินิจฉัยเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง จากเดิมกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ตามกฎหมายการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น

นอกจากนี้ ยังใช้เวลาไปอีกประมาณ 1 วันครึ่ง คือ วันที่ 8 มิ.ย.และ 12 มิ.ย.(ในช่วงเช้า) อภิปรายคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ระงับการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เนื้อหาของการประชุมในวันนั้นไม่ต่างอะไรกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่สุดท้ายรัฐสภาจะมีเสียงเพียง 318 เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งจำนวน 322 เสียงทำให้ไม่สามารถพิจารณาญัตติเพื่อลงมติคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญได้

ยังดีที่รัฐสภายังพอกู้หน้าได้บ้างผ่านการเร่งให้ความเห็นชอบกรอบข้อตกลงระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 จำนวน 8 ฉบับ ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคอาเซียน แต่ 6 ใน 8 ฉบับ เป็นการเห็นชอบในวันที่ 12 มิ.ย.หลังจากรัฐสภาต้องชะลอการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้

ขณะที่ สภาผู้แทนราษฎร ผลงานที่น่าจะได้เนื้อได้หนังมากที่สุด คือ การรับหลักการวาระที่ 1 ของร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2556 ระหว่างวันที่ 21-23 พ.ค.

ต่อมาวันที่ 30 -31 พ.ค.สร้างความฮือฮาด้วยการเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติถึง 4 ฉบับ

สาระสำคัญอยู่ที่การยกเลิกการกระทำตามคำสั่งคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นโมฆะ ไม่เว้นแม้กระทั่งการกระทำความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 15 ก.ย.2548 - 10 พ.ค.2554 ให้ถ้อว่าไม่มีความผิดด้วย ถึงร่างพ.ร.บ.ปรองดองจะถูกเสนอต่อท้ายวาระการประชุมแต่ด้วยเสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทยสามารถดันเรื่องนี้เข้ามาอยู่ในระเบียบวาระเรื่องด่วนที่ 1 ข้ามหัวร่างพ.ร.บ.ที่สภาฯเคยมีมติให้นำขึ้นมาพิจารณาก่อนซึ่งครม.เป็นผู้เสนอ จำนวน 6 ฉบับ ดังนี้

1.ร่างพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในกระทรวงการคลัง)
2.ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน (จัดตั้งสภาวิชาชีพสาธารณสุข)
3.ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต (กำหนดให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติเทียบเท่ากรม)
4.ร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (แบ่งส่วนราชการใหม่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อรองรับการยกฐานะของสำนักงานส่งเสริมฯ)
5.ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ (ให้มีคณะกรรมการกีฬาอาชีพเพื่อทำแผนแม่บทการพัฒนาและ
ตั้งกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ)
6.ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

ครั้งหนึ่งรัฐบาลได้ขอให้สภาฯเร่งดำเนินการร่างกฎหมายเหล่านี้ เพราะมีความสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมาก แต่เมื่อมีการเสนอกฎหมายปรองดองเข้าสภาฯแบบเร่งด่วน ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านตามมามากมายนำมาสู่ความวุ่นวายครั้งประวัติศาสตร์ในสภาฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างพ.ร.บ.ปรองดองที่อยู่ในเรื่องด่วนที่ 1 เรียกได้ว่าจ่อคิวรอการพิจารณาไม่สามารถเดินหน้าไปได้โดยมีสาเหตุเพราะถูกดดันอย่างหนักจากนอกสภาทำให้ต้องนัดประชุมสภาฯเป็นกรณีพิเศษวันที่ 13-14 มิ.ย.แทนก่อนปิดสมัยประชุมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.

การประชุมทั้ง 2 วันที่ประชุมสภาฯได้รับหลักการร่างพ.ร.บ.รวดเดียวถึง 7 ฉบับ ดังนี้

1.ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ให้ ปปง.มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการกำกับตรวจสอบความเสียหายของการฟอกเงินและการก่อการร้าย)
2.ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (ให้ป.ป.ง.จัดทำบัญชีผู้ก่อการร้าย ภายใต้มติหรือประกาศของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ)
3.ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน
4.ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

5.ร่างพ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม
6.ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ
7.ร่างพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย
(ตั้งองค์กร “การยางแห่งประเทศไทย” (กยท.) รับผิดชอบการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบ และโอนบรรดากิจการของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางและองค์การสวนยางไปเป็นของ กยท.)

ภาพรวมของการขยายสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่ต่างอะไรกับเป็นเหรียญสองด้าน โดยด้านหนึ่งสามารถรับหลักการร่างพ.ร.บ.ได้ ถึง 7 ฉบับทั้งที่เพิ่มเวลาสมัยประชุมเพียง 1 เดือน แต่อีกด้านหนึ่งการรับหลักการของสภาฯทำให้เกิดข้อข้องใจว่าทำไปเพื่อแก้ตัวหลังจากกฎหมายปรองดองและรัฐธรรมนูญยังไม่ผ่านรัฐสภาหรือไม่

สุดท้ายอยู่ที่สังคมจะตัดสินใจว่า “ประเทศไทยได้อะไรจากการขยายเวลาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ”

www.posttoday.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม