วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วิวัฒนาการความเเปลี่ยนแปลงของระบบบำเหน็จบำนาญในไทย

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้รู้จักกับเสาหลักความมั่นคงทางสังคม ของธนาคารโลกไปแล้วนะคะ ในสัปดาห์นี้จึงจะขอเล่าถึงวิวัฒนาการของระบบบำเหน็จบำนาญในประเทศไทย ซึ่งระบบบำนาญของประเทศไทยได้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า “ราชการบ้านเมืองมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แม้จะเพิ่มเงินเดือนให้มากขึ้นก็ตาม แต่ข้าราชการมีหน้าที่ต้องรับราชการเต็มเวลา ไม่ใคร่ได้มีโอกาสที่จะสะสมทรัพย์ไว้เลี้ยงตนเมื่อแก่ชราหรือทุพพลภาพ” จึงได้กำหนดให้มีบำเหน็จบำนาญไว้เลี้ยงชีพสำหรับข้าราชการขึ้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตราพระราชบัญญัติเพื่อจ่ายเบี้ยบำนาญเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2444 เรียกว่า “พระราชบัญญัติเบี้ยบำนาญรัตนโกสินทร์ ศก 120” และมีการแก้ไขเพิ่มเติมจนเป็นพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 ในสมัยรัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีความประสงค์ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนได้มีที่ดินและบ้านเรือนเป็นของตนเอง ประกอบสัมมาอาชีพและจัดเรื่องสงเคราะห์เพื่อคุ้มครองตนเองและครอบครัวให้ประสบความสุขมีหลักประกันในความเป็นอยู่แห่งชีวิต จึงได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมครั้งแรกเมื่อ 27 ธันวาคม 2495 และในปี พ.ศ. 2497 ได้มีประกาศพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมประกันสังคมขึ้น อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกต่อต้านและคัดค้านจากประชาชนอย่างรุนแรง จนในปี 2501 พ.ร.บ. ดังกล่าวถูกยกเลิกและยุบกรมประกันสังคมไป จนกระทั่งในปี 2523 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกาศต่อผู้ใช้แรงงานถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่จะสนับสนุนการประกันสังคม โดยการส่งเสริมห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดกันทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่พนักงานเพื่อสร้างเงินออมในเชิงบังคับ และเป็นการสร้างสวัสดิการให้แก่พนักงาน จนได้มีพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ขึ้น มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2530 และมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้นอย่างเป็นทางการ ต่อมาในปี 2533 ได้ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2497 จนกลายมาเป็น พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. 2533 เป็นต้นมา ในปี พ.ศ. 2534 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ให้เป็นระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง (Central provident fund) เนื่องจากระบบบำเหน็จบำนาญตาม พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 รัฐไม่สามารถปรับปรุงอัตราเงินเดือนของข้าราชการที่ยังรับราชการอยู่ให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพที่แท้จริงได้ เพราะหากมีการปรับปรุงอัตราเงินเดือนของข้าราชการ ก็จะส่งผลให้รายจ่ายบำเหน็จบำนาญของข้าราชการเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับที่ผ่านมานั้นรัฐมีภาระผูกพันในการจ่ายบำเหน็จบำนาญ โดยการตั้งงบประมาณรายจ่ายรายปีตามแต่จะคำนวณภาระเงินได้ในแต่ละปีเท่านั้น ไม่มีการกันเงินสำรองไว้ล่วงหน้า ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการบริหารการคลังที่ดี นอกจากนี้ยังขาดหลักประกันแก่ผู้รับบำนาญและข้าราชการปัจจุบัน ดังนั้นรัฐจึงได้เริ่มแนวคิดให้มีการปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญโดย ให้จัดตั้งในรูปแบบของกองทุน นอกจากนี้ยังมุ่งหวังให้กองทุนเป็นสถาบันเงินออมที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจนในที่สุดได้ตราเป็นพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และเป็นจุดกำเนิดของ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) นับแต่นั้นมา นอกจากนี้เพื่อให้ระบบการออมเพื่อการชราภาพครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะประชากรวัยแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการอิสระหรือแรงงานที่ไม่มีนายจ้าง กระทรวงการคลังจึงเสนอให้มีการจัดตั้ง กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ขึ้น เพื่อให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองจากหลักประกันทางสังคมเพื่อการชราภาพ มีช่องทางในการเก็บออมขั้นพื้นฐานของตนเองตั้งแต่วัยทำงานโดยได้รับเงินสมทบจากรัฐ เพื่อให้มีรายได้ในวัยชราในรูปบำนาญรายเดือนตลอดชีพ ภายใต้ พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554.

www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม