สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยื่น 8 ข้อเสนอให้รัฐบาลปลดแบล็กลิสต์ไทยแหล่งฟอกเงิน
คณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหากรณี FATF ขึ้นบัญชีดำประเทศไทย” ต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อเร็วๆนี้
โดยภายหลังจากประเทศไทย ถูกคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงินเงิน (Financial Action Task Force: FATF) ซึ่งเป็นองค์กรป้องกันการฟอกเงินและต่อต้านการก่อการร้ายข้ามชาติ จัดชั้นให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม Dark Grey List หรือ แบล็กลิสต์ประเภทที่ได้รับการเตือนแล้วจากปัญหาด้านการฟอกเงินและด้านการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของประเทศไทย ซึ่งในระยะสั้นได้เริ่มส่งผลกระทบกับธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยในการทำธุรกรรมการเงินกับธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เนื่องจากธนาคารตัวแทนหรือ Correspondent Bank ในต่างประเทศ มีการขอตรวจสอบเอกสารและข้อมูลของผู้โอนและผู้รับโอน ทำให้เกิดความยุ่งยากและเพิ่มระยะเวลาการโอนเงินระหว่างประเทศ
ทางคณะทำงานฯ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงจัดประชุมศึกษา วิเคราะห์อย่างเร่งด่วน กระทั่งได้ข้อสรุป 8 ข้อจึงเสนอต่อรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รีบดำเนินการ สาระสำคัญของข้อสรุป มีดังนี้
1. รัฐบาลต้องร่วมมือกับรัฐสภาในการเร่งรัดการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน ทั้ง 2 ฉบับ คือ (1) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 (2) ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการก่อการร้าย และควรเร่งให้ออกเป็นกฎหมายให้ทันภายในเดือนธันวาคม 2555 เป็นอย่างช้า
2. รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามเงื่อนไขและมาตรฐานของ FATF โดยการผลักดันและติดตามในการให้ประเทศไทยพ้นจากการถูก FATF ขึ้นบัญชีในฐานะประเทศซึ่งไม่มีมาตรฐานป้องกันการฟอกเงิน เพราะหากประเทศไทยไม่มีการดำเนินการใดๆ เป็นรูปธรรมใน 1 ปี หรือภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 อาจจะต้องประสบกับปัญหาจากการบังคับใช่มาตรการตอบโต้ที่รุนแรงกว่า อาทิ การชะลอเงินในการทำธุรกรรมหรือไม่สามารถโอนเงินระหว่างประเทศได้ หรือในกรณีเลวร้ายอาจต้องประสบกับการถูกระงับการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ (Sanction Major)
3. รัฐบาลจะต้องชี้แจงและสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจทั้งผู้ส่งออก-นำเข้า ภาคท่องเที่ยว ตลาดทุนและภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ทราบถึงความเป็นมา สาเหตุ และผลกระทบ และขอความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรการของ FATF เนื่องจากหลายภาคส่วนยังขาดความเข้าใจและยังไม่เห็นผลกระทบต่อต้นทุนและระยะเวลาในการทำธุรกรรมทางการเงิน
4. รัฐบาลต้องแสดงท่าทีว่าเป็นประเทศซึ่งไม่มีนโยบายสนับสนุนการฟอกเงินข้ามชาติ โดยชี้แจงให้ FATF ทราบว่ารัฐบาลกำลังร่วมมือกับรัฐสภาในการเร่งรัดออกกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงินเพื่อการก่อการร้ายให้เสร็จภายในปี พ.ศ. 2555
5.รัฐบาลต้องจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเข้ามากำกับในการเร่งรัดการออกกฎหมาย เพื่อจัดทำข้อมูลชี้แจงต่อ FATF โดยทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการร่วมทั้งรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจจะต้องเป็นประธานคณะกรรมการ และมีการกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการออกกฎหมาย
6.กฎหมายที่ออกมาต้องครอบคลุมมาตรฐานใหม่ของ FATF ซึ่งจะมีมาตรฐานใหม่ที่จะมีความครอบคลุมถึงแนวทางที่อ้างอิงความเสี่ยง ความโปร่งใส, ผู้มีความเสี่ยงทางการเมือง, ระบบการโอนมูลค่าเงินและ Financail Intelligence Unit (FIU) ในมาตรฐานใหม่ของ FATF
7.กฎหมายที่ออกมาต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือจากภาครัฐ และฝ่ายการเมือง ในการใช้ไปรังแกบุคคลและหน่วยงานที่สุจริต ที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย การกำหนดความผิดมูลฐาน
8.รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดแนวทางให้หน่วยงานที่กำกับดูแล โดยเฉพาะสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งดำเนินการประสานงานกับFATF มาโดยตลอด ในการเพิ่มอัตรากำลังพลให้เพียงพอ เพื่อตรวจสอบและดำเนินการให้สอดคล้องกับพันธกิจสำคัญนี้
ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในการผลักดันและติดตามให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขของ FATF โดยเฉพาะในการร่วมมือกับรัฐสภาในการผลักดันให้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันระยะเวลาที่ทาง FATF จะประชุมในครั้งต่อไป และดำเนินการทุกวิถีทางในการที่จะปลดล็อคประเทศไทยจากระดับกลุ่ม Dark Grey List ไปสู่ระดับปกติโดยเร็ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น