ไฟป่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นประจำทุกปี แต่น้อยคนนักจะตระหนักถึงผลกระทบ ซึ่งแต่ละครั้งที่เกิดไฟป่านอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว หลายครั้งความรุนแรงยังลุกลามจนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจได้อย่างคาดไม่ถึง ดังเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้สายการบินต้องหยุดบินเพราะทัศนวิสัยทางอากาศไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้การท่องเที่ยวชะงัก ประชาชนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพเพราะหมอกควัน ฝุ่นละอองเป็นพิษ
ทั้งหมดนี้คือผลต่อเนื่องจากไฟป่า ที่ ณ วันนี้ ต้องยอมรับว่ามีความจำเป็นที่ทุกคนควรทำความรู้จักกับปัญหานี้ให้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงเพื่อการปราบปรามแต่เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟป่ามีโอกาสสร้างความเสียหายได้อีก
นายเริงชัย ประยูรเวช รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักป้องกันปราบปราม และควบคุมไฟป่า ระบุสถิติการเกิดไฟป่าในปี 2554 มีจำนวน 2,490 ครั้ง คิดเป็นเนื้อที่ป่ากว่า 25,500 ไร่ ภาคเหนือมีปัญหาไฟป่ามากที่สุดจำนวนกว่า 1,200 ครั้ง ส่วนปี 2555 มีไฟป่าเกิดขึ้นแล้ว 3,501 ครั้ง คิดเป็นเนื้อที่ป่ากว่า 33,000 ไร่ และภาคเหนือยังคงสถิติเกิดไฟป่ามากที่สุดกว่า 2,300 ครั้ง
เมื่อเปรียบเทียบทั้งสถิติและเนื้อที่ป่าจะพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยสาเหตุหลักของการเกิดไฟป่าพบว่ามาจากการเข้าไปทำกิจกรรมในป่าของมนุษย์ทั้งสิ้น อันดับ 1 คือการเผาเพื่อหาของป่า คิดเป็นร้อยละ 51.67 รองลงมาคือ การลักลอบเผ่าป่าเพื่อล่าสัตว์ คิดเป็นร้อยละ 15.40 และการเผาไร่โดยไม่ควบคุม คิดเป็นร้อยละ 13.68 ปัจจุบันการดูแลปัญหาไฟป่าอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ ภารกิจหลักคือ การคุ้มครองดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศที่มีจำนวนกว่า 73 ล้านไร่ รวมไปถึงการดูแลปัญหาไฟป่านอกพื้นที่อนุรักษ์ เช่น พื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ทางหลวง พื้นที่สาธารณประโยชน์อื่น ๆ คิดเป็นเนื้อที่จำนวนมหาศาล
นายไพศาล สถิตวิบูรณ์ ผอ.สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า ให้ข้อมูลไว้ว่า ที่ผ่านมาปัญหาไฟป่าถือเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่สร้างความเสียหายกับทรัพยากรป่า สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีมนุษย์เป็นปัจจัยหลักของปัญหา สถานการณ์ไฟป่าทางภาคเหนือเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ภาคประชาชนต้องตระหนักว่าปัญหาไฟป่าไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่สามารถสร้างความเสียหายได้ในวงกว้างถึงระดับประเทศ เพียงแค่การจุดไฟเผาโดยไร้ความรับผิดชอบของคนไม่กี่คน
ดังนั้นปัญหาไฟป่าจะลดลงได้หรือไม่ประชาชนคือส่วนสำคัญที่ต้องร่วมมือกับภาครัฐโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นที่ขณะนี้ได้เข้ามามีบทบาทความรับผิดชอบดูแล ควบคุมการเผาในพื้นที่ ขณะที่กรมอุทยานฯ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบปัญหาไฟป่าได้วางยุทธศาสตร์และมาตรการเตรียมความพร้อมป้องกันไฟป่าไว้ตลอดทั้งช่วงฤดูไฟป่าและพ้นฤดูไฟป่า ยุทธศาสตร์สำคัญคือ การประชาสัมพันธ์ในลักษณะรณรงค์ป้องกันไฟป่าเชิงรุก ลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชน การติดตามความผัน ผวนสภาพภูมิอากาศ จุดความร้อนบนผิวโลก (Hotspot) การจัดทำแนวกันไฟ การลาดตระเวนพื้นที่ตรวจหาไฟตามเส้นทางในป่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด การชิงเผาในพื้นที่ป่าในช่วงที่เหมาะสม ปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบด้านการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน การจัดชุดปฏิบัติการควบคุมไฟป่าช่วงสถานการณ์วิกฤติหมอกควัน
นายศักดิ์ชัย จงกิจวิวัฒน์ ผอ.ส่วนควบคุมไฟป่า เปิดเผยว่า สำหรับประเทศไทยห้วงเวลาไฟป่าคือช่วงเดือน พ.ย.-พ.ค. โดยเฉพาะเดือน ก.พ. ของทุกปีจะพบว่ามีไฟป่าเกิดขึ้นมากที่สุด อย่างไรก็ตามในสภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มภูมิอากาศผันผวนรวดเร็ว และนั่นคืออีกหนึ่งเงื่อนไขที่กลายเป็นอุปสรรคของปัญหาไฟป่า เพราะจะทำให้ไม่สามารถคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวได้ สุดท้ายไม่ว่าเงื่อนไขธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด สิ่งที่มนุษย์น่าจะทำได้ดีที่สุดคือลดพฤติกรรมของตัวเอง ไม่ให้เป็นปัจจัยหลักของปัญหาไฟป่าเช่นในปัจจุบัน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น