วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แก้ปัญหา นักเรียนตีกัน แบบนี้ดีไหม?

เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สลดใจเมื่อนักเรียนอาชีวศึกษาต่างสถาบันยกพวกทำร้ายกันบนรถประจำทาง ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย รายแรกเป็นนักเรียนคู่อริ และอีกรายหนึ่งเป็นผู้โดยสารรถประจำทางที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย สร้างความทุกข์โศกต่อญาติพี่น้องผู้สูญเสีย และสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงต่อผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เหตุการณ์ในลักษณะนี้ก็เพิ่งเกิดมาครั้งหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้วในช่วงเปิดภาคการศึกษาใหม่ เพียงแต่ครั้งนั้นไม่มีผู้ใดเสียชีวิต และไม่ใช่โรงเรียนของคู่อริเดียวกับครั้งนี้และวันที่ 15 มิถุนายน 2555 ข่าวร้ายเดิมยังไม่ทันจางหาย ข่าวร้ายในลักษณะเดิมก็เกิดขึ้นอีกเป็นคำรบที่ 3 ผู้เขียนมีความเห็นว่า เหตุการณ์ความบาดหมางระหว่างโรงเรียนอาชีวศึกษามิใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี และบ่อยครั้งตามลำดับผู้เขียนก็เคยอยู่ในเหตุการณ์ที่น่าตระหนกเช่นนี้ ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา เมื่อ 40 ปีเศษมาแล้ว ในขณะที่โดยสารประจำทางผ่านหน้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักเรียนอาชีวศึกษาในย่านปทุมวันพากันขว้างปาสิ่งของต่างๆ รวมทั้งมีดเล่มเก่าๆ ซึ่งเต็มไปด้วยสนิมเหล็กเข้ามาในรถประจำทางที่มีผู้โดยสารอยู่เต็มคันรถ ซึ่งคาดว่าคงมีผู้โดยสารที่เป็นนักเรียนคู่อริปะปนอยู่ด้วยโชคดีที่ในยุคนั้นอาวุธปืนยังหาซื้อไม่ได้ง่ายเหมือนซื้อของจากร้านสะดวกซื้อดังเช่นทุกวันนี้ จึงไม่เกิดความสูญเสียถึงขั้นล้มตาย จะมีก็แค่ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น ในวันนั้นพนักงานขับรถได้รีบขับรถออกจากป้ายรถประจำทางโดยเร็ว สร้างความโล่งอกแก่ผู้โดยสารบนรถประจำทางคันดังกล่าวที่พรรณนาความมาทั้งหมดเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ตระหนักว่า นักเรียนอาชีวศึกษาเข่นฆ่าทำร้ายกันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นนานมากแล้ว แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมสักที ถ้าเรานิ่งนอนใจ สักวันหนึ่งผู้ที่ได้รับอันตรายจากการกระทำเช่นนี้อาจจะเกิดกับบุตรหลานหรือตัวของเราเองก็ได้ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ความรุนแรงปรากฏขึ้นทุกๆ วัน เกิดขึ้นทุกหนแห่งและทุกระดับ จนไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในเมืองไทยซึ่งเป็นเมืองพุทธชาวพุทธเคยเป็นผู้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารีให้ความช่วยเหลือเจือจานแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ปัจจุบันได้กลายเป็นคนโหดร้ายมุ่งทำร้ายห้ำหั่นซึ่งกันและกันก่อนที่จะกำหนดแนวทางของการแก้ไขปัญหา ผู้เขียนขอวิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเสียก่อน เพื่อหาหนทางแก้ไขสาเหตุเหล่านี้ให้ครบถ้วน ปัญหาทั้งหมดจึงจะถูกแก้ไขได้อย่างสิ้นเชิง เท่าที่ประมวลแล้วประกอบด้วย1.โรงเรียนอาชีวศึกษาที่เกิดข้อขัดแย้งกัน ล้วนมีที่ตั้งของสถานศึกษาใกล้กัน หรือเป็นจุดที่มีรถประจำทางสัญจรผ่าน ทำให้สร้างคู่อริที่เป็น "คู่กัด" เฉพาะแห่ง2.นักเรียนรุ่นพี่ที่ชักนำหรือปลุกระดมให้นักเรียนรุ่นน้องหรือนักเรียนน้องใหม่รู้สึกเกลียดชังโรงเรียนคู่อริ คือบุคคลเจ้าปัญหาที่เป็นระดับคีย์แมน (Key man) หรือ "หัวโจก"3.นักเรียนรุ่นน้องหรือน้องใหม่ผู้ลงมือทำร้ายนักเรียนต่างสถาบัน มักเกรงว่าจะเข้าหมู่ไม่ได้แม้ความรู้สึกลึกๆ ในใจอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธหรือทำตนให้แปลกแยกจากผู้อื่น4.การเรียนการสอนของนักเรียนอาชีวะทุกแห่งจะประกอบด้วยหลักสูตรที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือเป็นวิชาช่างแขนงต่างๆ ทั้งระดับ ปวช.และ ปวส.เหมือนๆ กัน5.ในส่วนของผู้เรียน จะรู้สึกว่าสติปัญญาของตนเองด้อยกว่าเพื่อนๆ ที่เรียนสายสามัญ ซึ่งจะเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ทำให้มองว่าอนาคตของเพื่อนจะก้าวหน้ามากกว่าตน จึงพยายามลบปมด้อยของตนด้วยการสร้างปมเด่นที่ผิดๆ เช่นการสร้างปัญหาในกรณีดังกล่าว เป็นต้น1.ตามหลักจิตวิทยาต้องใช้วิธีจูงใจให้เปลี่ยนทัศนคติเชิงลบที่เคยยึดถือทั้งหมดที่เรียกว่า "ปรับกระบวนทัศน์" (Paradigm Shift) และนำเอาทัศนคติเชิงบวกเข้ามาแทนที่ เช่น เคยมองตนเองว่าเรียนสายอาชีวะเป็นนักเรียนที่ไม่ฉลาด ด้อยค่า อนาคตจะไม่ก้าวหน้า ฯลฯ ให้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า อาชีพสายอาชีวศึกษาก็เป็นสายอาชีพที่ดี มีเกียรติเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ ถือเป็นแรงงานภาคฝีมือ (Skill Labors) ที่ตลาดแรงงานมีความต้องการอย่างสูง เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วรับรองว่ามีงานรองรับอย่างแน่นอนแรงงานที่ไปขุดทองแถบประเทศตะวันออกกลางก็ล้วนสำเร็จการศึกษาในวิชาชีพนี้ทั้งสิ้นนอกจากนี้ ความสามารถของพวกเขายังสามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย เนื่องจากเป็นความรู้ความสามารถเฉพาะอย่างที่ผู้ที่มิได้ศึกษาร่ำเรียนมาสามารถทำได้ เช่น ในวันหยุดต่อเนื่องอย่างวันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ ฯลฯ พวกเขาสามารถซ่อมแซมรถยนต์ที่เครื่องยนต์ขัดข้องจนไม่สามารถเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางให้เดินทางต่อไปได้ เป็นต้นการปรับกระบวนทัศน์เป็นหน้าที่ของศึกษานิเทศก์และผู้บริหารของแต่ละโรงเรียนที่ต้องทำความเข้าใจกับนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสร้างความภาคภูมิใจในอาชีพของตนว่ามีเกียรติมีศักดิ์ศรีไม่ด้อยกว่าอาชีพอื่น2.การแก้ไขปัญหาความแปลกแยกระหว่างโรงเรียนสาเหตุเกิดจากการปลุกระดมความคิดที่ผิดๆ แก่นักเรียนรุ่นน้อง โดยรุ่นพี่ระดับนำหรือ "หัวโจก" จะใช้ข้ออ้างต่างๆ นานา บ้างก็อ้างว่าโรงเรียนของเราก่อตั้งมาก่อน จึงมีศักดิ์ศรีดีกว่าบ้างก็อ้างว่าหลักสูตรของโรงเรียนของเราดีกว่า ทำให้มีรุ่นพี่ที่เก่งกว่า บางครั้งก็อ้างในแง่ลบว่าเพื่อนร่วมโรงเรียนของเราเคยถูกนักเรียนจากโรงเรียนคู่อริทำร้ายจนเกือบปางตาย บางครั้งถึงขั้นเสียชีวิต ฯลฯ ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดจนถึงขั้นเจ็บแค้นให้แก่รุ่นน้องเป็นอย่างยิ่งผู้เขียนได้นำเหตุปัจจัยที่เป็นจุดอ่อนเพื่อหาจุดแข็งมาแก้ไขปัญหาในลักษณะ "หนามยอกเอานามบ่ง" ดังนี้2.1 การเรียน การสอนในลักษณะหลักสูตรที่คล้ายคลึงกัน ย่อมที่จะสามารถผสมผสานนักเรียนต่างสถาบันเข้าด้วยกันได้ โดยไม่เสียการเรียนแต่อย่างใด ประกอบกับที่ตั้งของสถานศึกษาที่เป็นปัญหาอยู่ไม่ห่างไกลกัน ย่อมไม่เป็นอุปสรรคในการเดินทาง2.2 นักเรียนระดับนำ หรือ "หัวโจก" ที่สร้างปัญหาให้ย้ายมาเรียนในโรงเรียนที่เป็นคู่อริ ความสอดคล้องของหลักสูตร แม้จะเคยเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 หรือปีที่ 4 ของโรงเรียนเดิม ก็สามารถเรียนต่อเนื่องกับโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งได้อย่างสนิทสนม2.3 นักเรียนหัวโจกของอีกโรงเรียนหนึ่งก็ให้ย้ายมาเรียนไขว้กันในลักษณะเดียวกัน วิธีการนี้เป็นการละลายพฤติกรรมอัตลักษณ์ของแต่ละโรงเรียนได้อย่างดียิ่ง เพราะเขาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนฝ่ายตรงข้าม และเมื่อได้เข้าไปเรียนรู้บรรยากาศการเรียนของโรงเรียนอีกฝ่ายหนึ่ง ความใกล้ชิดจะสร้างความเข้าใจได้ว่าไม่มีความแตกต่างอันใดเลย ความแปลกแยกที่เคยรู้สึกเป็นเพียงมายาภาพที่คิดขึ้นเองทั้งสิ้น2.4 การสลับสถานที่เรียนให้ดำเนินการเช่นนี้สัก 1-2 เทอม แล้วก็ให้ย้ายกลับมาเรียนโรงเรียนเดิมอีก โดยสามารถทำซ้ำได้อีกถ้าจำเป็น นับได้ว่าเป็นการละลายพฤติกรรมของความแปลกแยกได้อย่างดียิ่ง เนื่องจากความเข้าใจที่เกิดจากการได้เข้าไปสัมผัสด้วยตนเองจะดียิ่งเสียกว่าคำพร่ำสอนหรือการคาดโทษอย่างเทียบกันไม่ได้ผู้เขียนได้แนวคิดการแก้ไขปัญหานี้จากพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ใช้หลักความเข้าใจ การเข้าถึง และการพัฒนา"ความเข้าใจ" เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่ครูผู้สอนต้องคอยปรับทัศนคติของผู้เรียนว่า วิชาชีพอาชีวศึกษาก็มีคุณค่า น่าภาคภูมิใจ ไม่ด้อยไปกว่าอาชีพอื่น สามารถเลี้ยงชีพตนเอง และครอบครัวได้อย่างยั่งยืนตามอัตภาพส่วน "การเข้าถึง" ด้วยการแลกเปลี่ยนนักเรียนต่างโรงเรียนที่พวกเขาเคยหลงผิดว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจ เมื่อได้มีโอกาสเข้าไปคลุกคลีตีโมงโดยใกล้ชิด ทำให้รู้ว่าเป็นเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันนั่นเอง เมื่อได้ "เข้าใจ" ถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองได้ "เข้าถึง" จิตใจของเพื่อนร่วมอาชีพต่างสถาบันแล้วพวกเขาจะได้ร่วมกันพัฒนาจรรโลงวิชาชีพของตนเองสืบไป เพราะในอนาคตอาจจะมีโอกาสได้ร่วมงานในสถานที่ทำงานเดียวกันก็เป็นได้ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว พวกเขายังจะคิดทำร้ายเพื่อนร่วมอาชีพขณะอยู่ในวัยเรียนไปทำไมกัน?

www.matichon.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม