วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พิธีมอบเข็มเกียรติยศ ปี 55 ม.ธรรมศาสตร์

จากนั้นในเวลาต่อมาเข้าสู่พิธีมอบเข็มเกียรติยศ ประจำปี 2555 ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอเล็ก) โดยในปีนี้ มธ.ได้พิจารณามอบเกียรติ แก่ ศาสตราจารย์ ดร.อรุณ ภาณุพงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศและรัฐมนตรีประจำสักนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ที่มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อการศึกษากฏหมาย โดยเฉพาะกฏหมายระหว่างประเทศ จนได้รับปริญญานิติศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมทั้งมอบ โล่เกียรติยศ ประเภทศิษย์เก่าดีเด่นและประเภทผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัย โล่เกียรติคุณ รางวัลแก่กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครูดีเด่น รางวัลบุคลากรและลูกจ้างดีเด่น และพิธีมอบเงินบริจาคและเงินทุนการศึกษาต่างๆแก่นักศึกษา พร้อมชมการแสดงดนตรี TU Brand , Orchesta , Flok song

ช่วงบ่ายได้จัดปาฐกถาทางวิชาการของกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2554 ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ตึกโดม ชั้น 2 มธ.ท่าพระจันทร์ เริ่มด้วยปาฐกถาทางวิชาการเรื่อง “Problem-based learning (PBL) จากปัญหามาสู่ความสำเร็จโดยรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวัลลี สัตยาศัย กีรตยาจารยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และปาฐกถาทางวิชาการเรื่อง “AEC 2015 : ไทยพร้อมเป็นผู้นำ e-ASEAN หรือยัง?” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศิริลักษณ์ โรจนกิจอำนวย กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประวัติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 โดยมีชื่อเมื่อเริ่มก่อตั้งว่า “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” (มธก.) โดยศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ประศาสน์การคนแรกของมหาวิทยาลัย (และเป็นผู้ประศาสน์การแต่เพียงท่านเดียว เพราะต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็น อธิการบดี) ซึ่งมีปรัชญาของการตั้งมหาวิทยาลัย ปรากฏตามสุนทรพจน์ของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รายงานต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีดังนี้

ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจึงเป็นตลาดวิชา และเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศไทย โดยวิชาที่เปิดสอนมี 2 แขนงคือ หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตซึ่งสอนวิชากฎหมายเป็นหลักแต่ได้สอนวิชา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการทูตด้วย วิชาอีกแขนงหนึ่งคือ วิชาการบัญชี โดยมีหลักสูตร 3 ปี สำหรับประกาศนียบัตรทางการบัญชี (เทียบเท่าปริญญาตรี) และ 5 ปี สำหรับประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชี (เทียบเท่าปริญญาโท) จากวิสัยทัศน์ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ทำให้ผู้ต้องการศึกษามีโอกาสได้ศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยจนจบออกไปรับใช้ประเทศชาติในทางการเมือง กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ วงการธุรกิจ และอาชีพอิสระเป็นอันมาก

ในปี พ.ศ. 2481 มหาวิทยาลัยตั้งโรงเรียนเตรียมปริญญามีหลักสูตร 2 ปีเพื่อรับผู้ประสงค์จะเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองโดยตรง โรงเรียนเตรียมปริญญามีหลักสูตรการสอนหนักไปทางด้านภาษาทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และวิชาด้านสังคม เช่น ปรัชญา วิชาเทคโนโลยี ดนตรี พิมพ์ดีด และชวเลข เป็นต้น โรงเรียนเตรียมปริญญามีทั้งหมดรวม 8 รุ่น

จนถึงปี พ.ศ. 2490 จึงถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ด้วยเหตุผลทางการเมืองและการปกครองของคณะรัฐประหาร ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบ และถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ผู้ประศาสน์การศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศชื่อมหาวิทยาลัยถูกตัดคำว่า “การเมือง” ออกเปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ตำแหน่งผู้ประศาสน์การถูกยกเลิกเปลี่ยนเป็นอธิการบดีหลักสูตรการศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิต ถูกเปลี่ยนแปลงเป็น นิติศาสตร์รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี ความเป็นตลาดวิชาหมดไป ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495

ในปี พ.ศ. 2518 ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี ท่านเห็นว่า ควรที่จะขยายการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในชั้นปริญญาตรีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมเช่นเดียวกับหลักสูตรทางสังคมศาสตร์ที่มีอยู่เดิม แต่พื้นที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ มีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ไม่เพียงพอต่อการขยายตัวทางวิชาการและการพัฒนามหาวิทยาลัยจึงเจรจาขอใช้ที่ดินนิคมอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม เนื้อที่ประมาณ2,400 ไร่ ที่รังสิต ต่อมาที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2526 มีมติให้ ขยายการศึกษาไปรังสิต พร้อมจัดทำหลักสูตรคณะวิทยาศาสตร์ ปี 2527 มหาวิทยาลัยเริ่มก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ 5 หลัง คือ อาคารเรียนรวม อาคารวิจัย สนามกีฬาในร่ม และหอพักนักศึกษา และกำหนดให้นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งของทุกคณะต้องเรียนวิชาพื้นฐานร่วมกันเป็นเวลา 1 ปีที่ศูนย์รังสิต ตั้งแต่ปีการศึกษา 2529 เป็นต้นมา

และในปี พ.ศ. 2545 ได้เริ่มให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 และ 2 ของทุกคณะไปศึกษาที่ศูนย์รังสิต จากนั้นในปี 2549 ได้กำหนดให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกคณะและทุกชั้นปีไปเรียนที่ศูนย์รังสิต นักศึกษารหัส 2549 เป็นรุ่นแรกที่ต้องเรียนที่ศูนย์รังสิตจนจบการศึกษา นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2538 ได้ขยายการเรียนการสอนไปที่ศูนย์พัทยาเพื่อให้เป็นศูนย์การศึกษาและบริการทางวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่นแก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยมีการจัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาและในปี พ.ศ. 2539 ได้ขยายการเรียนการสอนไปที่ ศูนย์ลำปาง เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาออกไปให้กว้างขวางทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยมีการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี

ในปี 2554 ได้เกิด มหาอุทกภัย ครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้ตั้งศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัยขึ้นในวันที่ 9 ตุลาคม 2554 ณ อาคารยิมเนเซี่ยม 2 เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดอยุธยาปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียง ต่อมาเมื่อมีผู้พักพิงเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆจึงได้ย้ายศูนย์พักพิงไปที่ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์รังสิต หรือยิมเนเซี่ยม 1ซึ่งทำให้สามารถรองรับประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้มากกว่า 4,000 คนและยังได้ให้ความช่วยเหลืออาหาร ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น และถุงยังชีพแก่ประชาชนในจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดใกล้เคียงอีกนับหมื่นคน

แต่ในวันที่ 21 ตุลาคม 2554 เขื่อนดินทาง AIT แตกหลายจุด ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ของ AIT และ สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ติดกัน ทำให้น้ำเริ่มไหลทะลักเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครจะได้ช่วยกันป้องกันด้วยคันดินและกระสอบทรายอย่างเต็มที่แล้ว แต่ในที่สุดก็ไม่อาจต้านทานปริมาณน้ำที่มากมายมหาศาลได้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จึงถูกน้ำท่วมเต็มพื้นที่ในวันที่ 22 ตุลาคม ทำให้ต้องย้ายผู้พักพิงออกจากศูนย์พักพิงในวันที่ 24 และ 25 ตุลาคม และต้องปิดศูนย์พักพิงอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 ตุลาคม 2554

ถึงแม้จะได้ปิดศูนย์พักพิงลงไปแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป ด้วยการนำของบริจาคที่เหลืออยู่แจกจ่ายให้กับผู้ประสบอุทกภัยและหน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และหลังจากน้ำลดแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มิได้ดำเนินการฟื้นฟูแต่เฉพาะมหาวิทยาลัยที่ถูกน้ำท่วมไปหนึ่งเดือนเต็มเท่านั้น หากยังได้มีบทบาทในการช่วยฟื้นฟูชุมชนที่ประสบอุทกภัยรอบๆ มหาวิทยาลัยด้วยการนำเงินบริจาคที่เหลือให้นักศึกษา และคณะต่างๆ นำไปทำโครงการต่างๆทั้งในรูปแบบของกิจกรรมนักศึกษา และวิชาเรียนต่างๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูชุมชนที่ประสบอุทกภัยให้กลับมาสู่ภาวะปกติและยืนด้วยขาตนเองได้อีกครั้งซึ่งยังได้มีการดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงในขณะนี้

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าลูกแม่โดมยังคงสืบสานปณิธานและ ปรัชญาแต่ดั้งเดิมของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งสร้างบัณฑิตที่ไม่เห็นแก่ตัว มีจริยธรรม รักษาความถูกต้องรับใช้สังคม ชาวธรรมศาสตร์ทุกคน ไม่ว่าจะเรียนคณะไหน จะอยู่ศูนย์การศึกษาใด ล้วนแล้วแต่ภาคภูมิใจที่ได้กล่าวว่า

manager.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม