วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การกำเนิด นวนิยาม

นวนิยาย มาจากคำภาษาอังกฤษว่า novel ซึ่งแปลจากภาษาอิตาลีว่า novella พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า นวนิยายเป็นบันเทิงคดีร้อยแก้วขนาดยาว ซึ่งนำเสนอเหตุการณ์ สถานการณ์ สถานที่ และตัวละครที่มีพฤติกรรมและเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผู้เขียนสามารถโน้มน้าวให้ผู้อ่านคล้อยตามว่า เป็นประสบการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นจริงได้ ทั้งนี้เพราะบทบาทสำคัญประการหนึ่งของนวนิยาย คือเป็นกระจกสะท้อนแง่มุมต่าง ๆ ของสังคม

นวนิยายเป็นวรรณกรรมที่เกิดขึ้นหลังสุดในบรรดาวรรณกรรม ๔ ประเภท คือ ร้อยกรอง ร้อยแก้ว บทละคร และนวนิยายนวนิยายเป็นบันเทิงคดีที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ อาจกล่าวได้ว่านวนิยายได้รับอิทธิพลจากงานวรรณกรรมประเภทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ส่วนในประเทศไทย นวนิยายปรากฎเป็นครั้งแรกโดยการแปลนวนิยายจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย เรื่องแรกคือ เรื่อง ความพยาบาท แปลโดย แม่วัน (พระยาสุรินทรราชา) ได้รับความสนใจจากผู้อ่านมาก ทำให้ผู้ที่มีความรู้ภาษาต่างประเทศแปลนวนิยายเรื่องอื่น ๆ อีกในเวลาต่อมา และทำให้เกิดนวนิยายไทยเรื่องแรก คือ ความไม่พยาบาท ของหลวงวิลาสปริวัตร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นวนิยายไทยและนวนิยายแปลได้รับความนิยมมาก ทั้งนี้เพราะมีวารสารและหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมากที่เป็นแหล่งพิมพ์นวนิยายเหล่านี้ นักเขียนนวนิยายในยุคต้น ๆ ของไทย ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นักเขียนคนอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียง เช่น หลวงวิจิตรวาทการ น.ม.ส. เสฐียรโกเศศ นวนิยายไทยยุคแรก ๆ นิยมเรื่องแนวรักโศก เช่น เรื่อง ผิดถนน ของนายชิต บุรทัต ซึ่งใช้นามปากกาว่า แมวคราว แนวอาชญนิยาย เช่น นิทานทองอิน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงใช้นามปากกา “นายแก้ว–นายขวัญ” ทั้งนวนิยายไทยและนวนิยายแปลได้รับความนิยมควบคู่กันไป ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นต้นมา นวนิยายไทยได้รับความนิยมสูงกว่านวนิยายแปล นักประพันธ์ในสมัยนี้ส่วนมากเป็นนักประพันธ์อาชีพ เช่น ดอกไม้สด (ม.ล.บุปผา นิมมานเหมินท์) มาลัย ชูพินิจ ปัจจุบัน นวนิยายไทยได้พัฒนาก้าวหน้าไปไกล มีนักเขียนนวนิยายแนวต่าง ๆ มากมาย.

www.dailynews.co.th

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม