วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

นิทรรศการริเวอร์สเคปส์ อิน ฟลัคซ์ พร้อมนำเสนอผลงาน ภูมิทัศน์ในสายน้ำ

ถึงคิวมาจัดแสดงในประเทศไทยแล้ว สำหรับนิทรรศการริเวอร์สเคปส์ อิน ฟลัคซ์ (Riverscapes IN FLUX) โครงการศิลปะนิเวศวัฒนธรรมนานาชาติบนภูมิทัศน์แถบลุ่มแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดโดยสถาบันเกอเธ่ นำเสนอผลงานศิลปะของ 17 ศิลปิน โดย 6 ภัณฑารักษ์ จาก 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

โครงการริเวอร์สเคปส์ อิน ฟลัคซ์ เกิดขึ้นเพื่อสะท้อนความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ต้องเผชิญหน้ากับการถดถอยของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแม่น้ำไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแดง และแม่น้ำอิระวดี ล้วนแล้วแต่มีวิถีชีวิตและระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะและไม่เหมือนที่ใดในโลก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพอุณหภูมิของโลกขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนและสภาพแวดล้อมของแม่น้ำในภูมิภาคแถบนี้

ภัณฑารักษ์ทั้ง 6 คน จาก 6 ประเทศ ได้คัดสรรผลงานของศิลปิน ซึ่งได้นำเสนอผ่านสื่อศิลปะหลากหลายรูปแบบ ทั้งงานวิดีโอ ภาพถ่าย อินสตอลเลชัน วิดีโออินสตอลเลชัน และซาวด์อินสตอลเลชัน

สำหรับประเทศไทย “อภิศักดิ์ สนจด” เป็นภัณฑารักษ์ และมี 3 ศิลปิน ได้แก่ เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา และอโณทัย นิติพล

อภิศักดิ์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการทำงานศิลปะของ 5 ประเทศ ว่า “ทางเกอเธ่ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ เพราะจุดแรกอยากพูดถึงประเด็นอาเซียน อีก 2 ปี เราก็จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว จุดสองคืออะไรที่ทั้งห้าประเทศเจอร่วมกันนั่นก็คือ สภาพภูมิอากาศและสายน้ำ ซึ่งแต่ละประเทศมีแลนสแคปใกล้เคียงกัน เกิดวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวกับสายน้ำเป็นหลัก จึงได้ประเด็นงานที่จะพูดถึงคือ ภูมิทัศน์ในสายน้ำ ศิลปินต่างทำงานและนำเสนอแง่มุมในประเทศของตัวเอง”

สำหรับศิลปินไทยนั้นภัณฑารักษ์ได้พูดคุยกับ 3 ศิลปิน ที่ต่างนำเสนอแม่น้ำที่ตัวเองคุ้นเคยและครอบคลุมแม่น้ำสายสำคัญในประเทศไทย ได้แก่ “แม่น้ำปิง” ของสุทธิรัตน์ มุ่งประเด็นที่ภาคเหนือของไทย ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศอันเป็นผลจากการสร้างเขื่อน “ศิลปินนำเสนอเป็นวิดีโอ เอาจอสองจอมาแสดงด้วยกัน ด้านซ้ายเส้นทางของแม่น้ำปิงตั้งแต่ จ.เชียงใหม่ จนถึงเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ที่มีเขื่อนน้อยใหญ่ทั้งหมด 13 แห่ง ทางด้านขวาแสดงภาพล่องเรือมีกิจกรรมร้องรำทำเพลงเหนือเขื่อนภูมิพล ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวเคยมีหมู่บ้านและป่าสักจมอยู่ใต้น้ำ”

ไหลมาถึงแม่น้ำทางภาคอีสาน ได้แก่ “แม่น้ำชี” ผลงานของเจษฎา โดยก่อนทำงานเขาได้เข้าไปศึกษาหาข้อมูลกับชุมชนลุ่มแม่น้ำชี แล้วค้นพบว่าจริงๆ แล้วแม่น้ำโขงโดนเขื่อนจากประเทศจีนกั้นทั้งน้ำและสัตว์น้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนหาปลาในลุ่มน้ำชี รวมถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่เริ่มจางหายไป เช่น วัฒนธรรมการจับปลา เครื่องมือหาปลา ซึ่งศิลปินก็ได้ใช้รูปทรงของอุปกรณ์หาปลา รูปทรงของหลา มาทำเป็นงานจัดวาง พร้อมทั้งใช้แสงเงากำหนดพื้นที่ของงานด้วย และเพิ่มเสียงเข้ามาในงาน โดยได้อัดเสียงปลาที่อยู่ในข้องจับปลามาประกอบงาน

มาถึงแม่น้ำสุดท้ายจากประเทศไทย คือ “แม่น้ำเจ้าพระยา” ของอโณทัย มุ่งประเด็นเรื่องเทศกาลลอยกระทง ศิลปินได้ตั้งคำถามกับพิธีกรรมขอขมาแม่น้ำคงคาว่า เป็นการขอขมาที่ได้ทำให้แม่น้ำสกปรกจริงๆ หรือเป็นกระแสนิยมที่คนนิยมทำตามๆ กันไป แต่สุดท้ายก็ยังทำลายแม่น้ำกันเหมือนเดิม และความสำคัญของแม่น้ำ แนวคิดเรื่องการลอยกระทง ที่เริ่มลบเลือนไปจากวิถีชีวิตของคนหนุ่มสาวชาวไทยผ่านประเพณีลอยกระทง โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.ปีที่ผ่านมา ที่หลายชีวิตได้รับผลกระทบจากแม่น้ำ พวกเขาอธิษฐานขอสิ่งใดในวันลอยกระทง จะขอขมาแม่น้ำอย่างไรหลังจากที่ถูกธรรมชาติเอาคืนอย่างสาหัส

ส่วนผลงานของอีก 4 ประเทศเพื่อนบ้านไทยนั้น อภิศักดิ์ ภณฑารักษ์ประเทศไทยมองว่า ล้วนนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำที่ส่งผลอันใหญ่หลวงต่อชีวิตและชีวิตได้กระทำต่อสายน้ำ แต่สิ่งที่น่าสนใจในงานของประเทศอื่นๆ ก็คือ การปรับตัวให้อยู่กับแม่น้ำไม่ว่าจะยามน้ำขึ้นน้ำลง มีการสร้างบ้านเรือนเพื่อรอรับน้ำท่วมสูง มีอาชีพชาวน้ำ ซึ่งประเทศไทยแทบจะไม่มีเหลือแล้ว

นิทรรศการเปิดให้เข้าชมถึงวันที่ 22 ก.ค. ณ หอศิลป์ จี 23 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยนิทรรศการนี้ได้เริ่มต้นแสดงที่ฮานอย และโฮจิมินห์ ซิตี้ ประเทศเวียดนาม ต่อที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย จากนั้นจะไปที่พนมเปญ ประเทศกัมพูชา จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ปิดท้ายที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยจะทิ้งช่วงห่างกันประมาณ 2 เดือน

 

www.posttoday.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม