วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เหลียวหลังแลหน้าเศรษฐกิจไทย แจ้ง 3 ทางรอดของคนไทย

ในงานสัมมนาประจำปีของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เป็นอีกครั้งที่ "ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ปาฐกถาในหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าเศรษฐกิจไทย" ดร.สมคิดฉายภาพการก้าวข้ามโจทย์ใหญ่ที่จะกำหนดอนาคตของประเทศไทยว่า ที่ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตสำคัญ ๆ มาในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นี้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีโรคซาร์ส ไข้หวัดนก สึนามิ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วิกฤตเศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน โดยทุกครั้งที่เกิดปัญหาจะมีการอัดงบประมาณเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2550-2554 ใช้เงินทั้งสิ้น 1.8 ล้านล้านบาท แลกกับจีดีพีที่ได้กลับมาเฉลี่ย 2.6% ขณะที่หนี้สาธารณะอยู่ระดับต่ำเพียง 41% ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 1.7-1.8 แสนล้านดอลลาร์ เงินเฟ้ออยู่ในระดับควบคุมได้ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะประเทศไทยกำลังใช้บุญเก่าคือ โครงสร้างพื้นฐานที่สร้างไว้ดีในอดีต "มีคนเปรียบเทียบว่าประเทศไทยเหมือนภาพวาดของโมเนต์ ดูไกล ๆ แล้วจะสวย แต่ดูใกล้จะเบลอ ๆ สีขรุขระไม่เนียนหมายความว่า แม้ตัวเลขจะสวยแต่ก็มีความไม่สมดุลอยู่หลายอย่าง อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ทุกรัฐบาลต้องแก้ในระยะยาว

แต่ช่วงระยะกลาง 3-5 ปีนี้จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากเช่นกัน" ส่วนในอนาคตนั้น ดร.สมคิดบอกว่า ขึ้นอยู่กับว่าจะตอบสนองกับ 3 เงื่อนไขในอีก 3-5 ปีนี้อย่างไร ซึ่งเงื่อนไขแรกคือ การตอบสนองต่อวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยวิกฤตรอบนี้ถือว่าลึกมากและจะกินเวลานาน โดยเศรษฐกิจสหรัฐ 4-5 ปีที่ผ่านมา นอกจากอุ้มสถาบันการเงินแล้วก็แทบไม่ได้แก้ปัญหาจริงจัง ตัวเลขฟ้องว่าทุกอย่างกำลังถดถอย และยุโรปหลายประเทศก็ยังต้องใช้เวลานานในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ทางด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ ก็พึ่งได้ยากเพราะต่างมีปัญหาของตัวเอง ทั้งญี่ปุ่น จีน อินเดีย บราซิล ทำนายได้เลยว่าจะต้องส่งผลกระทบเป็นโดมิโน และทำให้เห็นการถดถอยของการส่งออก เมื่อเศรษฐกิจโลกเป็นแบบนี้ "อาวุธ" สำคัญของประเทศไทยคือ การใช้จ่ายภาครัฐ การเพิ่มการลงทุน ซึ่งไม่ต้องห่วงว่าจะทำให้หนี้สาธารณะมีปัญหา เพราะแม้มีการขาดดุลงบประมาณติดต่อกันอีก 5 ปีข้างหน้า

ถ้าเศรษฐกิจโตได้ 5% หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่เพียง 47% ถ้าเศรษฐกิจโต 3% หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 52% ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าจะใช้เงินลงทุนใน 4-5 ปีข้างหน้าอย่างไรให้จีดีพีโตได้ ซึ่งก็คือต้องลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ แต่ขณะเดียวกัน ในสถานการณ์ที่จะมีการลงทุนสูงขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายต่อจีดีพีเติบโตเร็วกว่ารายได้ต่อจีดีพี ถ้าปล่อยไว้แบบนี้การคลังมีปัญหาแน่นอน ดังนั้นที่ทำได้คือการจัดลำดับความสำคัญการใช้จ่าย ถ้าไม่จำเป็นต้องตัดทิ้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหน้า และต้องเลิกจัดงบประมาณตามกระทรวง เพราะมันเหลื่อมล้ำกันตลอด ต้องให้งบประมาณกับสิ่งที่ต้องทำก่อน พร้อมกันนี้ต้องมีการปฏิรูปการคลังเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาลด้วยเงื่อนไขที่ 2 ตอบสนองต่อการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยยึดสหภาพยุโรปเป็นตัวอย่างว่า ประเทศที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือ เยอรมนี ที่มีศักยภาพสูงเป็นฮับของกลุ่มได้ ทำให้เงินทุนต่าง ๆ ไหลเข้าไปลงทุน แต่เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทยตอนนี้ ในแง่ของศักยภาพถือว่าถอยหลัง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนที่มีแต่ก้าวหน้า (ดูตาราง)

โดยปัญหาสำคัญของประเทศไทยคือ สถาบันสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการเมือง คะแนนความน่าเชื่อถือของนักการเมือง ความโปร่งใสของนโยบายอยู่ในระดับต่ำ และมีปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศคือ คอร์รัปชั่น และความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ขณะที่ความพร้อมด้านอื่น ๆ ก็ยังอยู่ในระดับต่ำทั้งด้านการวิจัย สถาบันการศึกษา และนวัตกรรม"การตอบสนองต่อ AEC ความสำคัญอยู่ที่ความพร้อม คนอาจจะมองไปที่เอกชน ซึ่งก็แน่นอนว่าเขาต้องบุกอยู่แล้ว แต่จริง ๆ มันต้องเริ่มที่ภาครัฐ กฎ ระเบียบ เกณฑ์ต่าง ๆ พื้นฐานต้องบ่งบอกว่าคุณจะเป็นฮับของภูมิภาคนี้ให้ได้" เงื่อนไขสุดท้าย ตอบสนองต่อพัฒนาการทางการเมืองของประเทศ ตอนนี้เสาหลักของประเทศอย่างฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการมีความขัดแย้งกันสูงมาก ถ้าไม่แก้ไขให้สงบลงประเทศจะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ เพราะพลังทั้งหมดจะหมดไปกับความขัดแย้งโดยการที่มีความขัดแย้งสูง ทำให้การแต่งตั้งบุคลากรอยู่บนความคิดที่ว่า ใครจะเป็นฐานของใครมากกว่าใครมีความสามารถ เหล่านี้จะทำให้สมรรถนะของประเทศลดลงไปเรื่อย ๆ "มีคนบอกผมว่า ปัญหาของประเทศไทยตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจ แต่เป็นปัญหาของความสำนึกที่พร่องไปหน่อย บกพร่องในสำนึกที่ว่าอะไรเป็นประโยชน์ส่วนตัว อะไรเป็นเรื่องของประเทศ สำนึกว่าอะไรผิดอะไรถูก

ผลสำรวจล่าสุดออกมาบอกว่า เด็กไทยยอมรับคอร์รัปชั่นได้เพียงแค่ให้ตัวเองได้ประโยชน์ เทียบกับสิงคโปร์คุณค่าที่เด็กเขาให้มากที่สุดคือ ความซื่อสัตย์ สุจริต ถ้าเริ่มผิดกันแบบนี้อนาคตก็แย่แล้ว" ดร.สมคิด ระบุว่า ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยตอนนี้สามารถแก้ไขได้ โดยอยากให้ดูฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่าง ก่อนหน้านี้สัก 50 ปีประเทศนื้อยู่ในระดับผู้นำของเอเชีย แต่ตอนนี้ความสามารถในการแข่งขันตกไปอยู่อันดับที่ 75 ของโลก ไม่มีใครพูดถึงอีกแล้ว และตอนนี้ประเทศไทยก็กำลังเดินในทางที่ผิดแบบที่ฟิลิปปินส์เดินเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยต้องรีบตื่นแล้วยูเทิร์นออกจากทางที่ผิดนี้ เพื่อให้อนาคตมีโอกาสได้เหลียวหลังแลหน้าเศรษฐกิจ ไม่ใช่เหลียวหน้าเหลียวหลังก็ไม่เห็นใคร

www.khaosod.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม