วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ฟัง"ส.ว.ป๋อง"พูดเรื่อง 9 ปีไฟใต้ ความไม่สงบ แดนสนธยา งบประมาณก้อนโต

กว่า 8 ปีแล้ว ที่เหตุการณ์ความไม่สงบยังเกิดขึ้นต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ บันทึกสถิติตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2547 จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2555 เกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ 12,956 เหตุการณ์ มีผู้บาดเจ็บ 9,549 ราย เสียชีวิต 5,407 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนร้าย 234 ราย

เข้าสู่ปีที่ 9 ที่ "คนชายแดนใต้" ยังอยู่ท่ามกลางสมรภูมิอันอึมครึม พื้นที่ 4 จังหวัด นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสงขลา ได้รับการดูแล แก้ปัญหาโดยนายกรัฐมนตรีมาหลายคน หลายรัฐบาล ด้วยนโยบายที่แตกต่างกันในรายละเอียด มีรัฐมนตรีมากำกับดูแลแก้ปัญหาชายแดนใต้ไม่ต่ำกว่า 5 คน ผ่านแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้บัญชาการตำรวจ ไม่รู้กี่นาย มีเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ต่ำกว่า 3 คน กระนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงยังไม่เคยหายไปจากพื้นที่นี้

"มติชน" สัมภาษณ์พิเศษ "นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล" สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดปัตตานี ที่คนพื้นเมืองรู้จักกันดีในชื่อ "พี่ป๋อง" นักธุรกิจใหญ่เจ้าของโรงแรมดังในจังหวัดปัตตานี ผันตัวเองสู่สนามการเมือง

ต่อให้เปลี่ยนรัฐบาลมากี่ครั้ง สลับแม่ทัพนายกองลงพื้นที่ไปกี่วาระ แต่ "ส.ว.ป๋อง" คือ "คนถิ่น" ที่มองดู สัมผัสความเป็นไปในพื้นที่บ้านเกิดและจังหวัดเพื่อนบ้านมาตลอด เพราะฉะนั้น เรื่องราว ความคิดเห็น ต่อความเป็นไปต่างๆ ในชายแดนใต้จากชายผู้นี้ เป็นภาพสะท้อนที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

นายอนุศาสน์เปิดฉากว่า จากเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ จ.ยะลา เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2555 กับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถพูดได้เต็มปากว่านี่คือ "ก่อการร้าย" ที่ ณ วันนี้ ไม่ว่ารัฐจะมีนโยบายขับเคลื่อน ส่งเสริม พัฒนาด้านใด เศรษฐกิจ การศึกษา การสาธารณสุข แต่ทั้งหมดจะผูกกับ "ความไม่สงบ" เมื่อเหตุรุนแรงยังมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐยังไม่สามารถระงับยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบได้ "ความเชื่อมั่น"จึงเกิดขึ้น ได้ยากลำบาก

"ตั้งแต่ปี 2547 ทุกรัฐบาลมีโจทย์ใหญ่ตรงกัน คือความอยู่ดีกินดีของคนในพื้นที่ ยุติการก่อเหตุรายวัน ยุติความรุนแรง ทำให้คนอยู่อย่างปกติสุข ผมเห็นทุกรัฐบาลพยายามทำให้เป็นรูปธรรม ชุดปัจจุบันก็พยายามมีคำว่า "บูรณาการ" เกิดขึ้นมา แต่ก็ต้องยอมรับว่าจนถึงวันนี้ยังไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะเหตุการณ์ยังเกิดขึ้นทุกวัน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนยังได้รับผลกระทบ รัฐยังไม่สามารถดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ คนในพื้นที่ยังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง"

เมื่อโฟกัสถึงประเด็นด้านเศรษฐกิจ ส.ว.ปัตตานี ชี้ว่าอยากให้มองที่รากหญ้า มองที่ผู้ประกอบการรายย่อย ร้านค้า ร้านชำ ร้านอาหารเล็กๆ แผงลอย ที่ได้รับผลกระทบ

"ผมไปเดินที่ถนนรวมมิตร อ.เมืองยะลา มาหลายครั้ง ถนนสายนี้โดนระเบิดมา 7-8 ครั้ง ผมพบผู้ประกอบการย่านนี้ เจ้าของร้านเสื้อ ร้านอาหาร ร้านของชำ พวกเขานี่แหละผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจตัวจริง และเขามองว่าบางทีรัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

"ผมเห็นด้วยที่รัฐมีนโยบายสร้างความเชื่อมั่นในภาพใหญ่ มีโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพใหญ่ ส่งเสริมการลงทุน สร้างรถไฟความเร็วสูง การค้าชายแดน ซึ่งดีต่อการพัฒนา แต่ผมว่าควรไปด้วยกันกับการขับเคลื่อนภาพเล็ก เพราะคนเหล่านี้ แผงลอย ร้านค้าย่อย คือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง รัฐควรไปดูในรายละเอียด เท่าที่ทราบทุกวันนี้ประกาศเซ้งร้านกันหลายรายแล้ว หลายคนไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้ แม้รัฐจะเยียวยาเรื่องความสูญเสีย แต่การอยู่ในทำเลเกิดเหตุระเบิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ต้องลงทุนใหม่ทุกครั้ง แม้จะไม่ใช่เงินจำนวนมากอะไร แต่เรียกว่าต้องกู้มาลงทุนครั้งแล้วครั้งเล่า ครั้งเก่ายังไม่มีคืนเลย ต้องกู้ใหม่อีกแล้ว รัฐต้องลงไปดู หา soft loan (เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ) ให้เขาแบบทันที ทันความต้องการ

"อีกอย่างเมื่อความเชื่อมั่นไม่มี คนไม่มีความเชื่อมั่นในการจะไปจับจ่ายใช้สอยในถนนเส้นนั้น นี่ผมยกแค่ตัวอย่างเล็กๆ รายย่อยในพื้นที่ที่เกิดเหตุบ่อยๆ หลายรายมีกำลังขายแต่ไม่มีกำลังซื้อ พอเกิดเหตุการณ์ซ้ำซากกำลังซื้อหายไปทันที ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยไม่มี ธุรกิจรายย่อย ฐานสำคัญเหล่านี้ก็จะตาย พวกนี้น่าเป็นห่วง มันเหมือนเลือดยังไหลอยู่ จะหยุดไหลได้ต้องอาศัยมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีความชัดเจน" นายอนุศาสน์อธิบาย

และว่า การแก้ปัญหาภาคใต้ ต้องแก้ควบคู่กัน ทั้งมิติเศรษฐกิจ มิติความมั่นคง เหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน แยกกันไม่ได้ ต้องไปด้วยกัน

"ในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่มีเหตุซ้ำ ยังมีการจับจ่ายใช้สอย อสังหาริมทรัพย์ยังโต มีสิ่งที่เรามองไม่เห็น ราคายาง ธุรกิจประมง เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการจับจ่ายใช้สอย สร้างกำลังซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ แต่ที่ลืมไม่ได้คือผู้ประกอบการเล็กๆ ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ พูดได้เลยว่าส่วนใหญ่เป็นคนนับถือพุทธ ตรงนี้สำคัญ คือขวัญกำลังใจ ไม่ให้คนย้ายถิ่นฐาน รัฐต้องหยุดเลือดที่กำลังไหลเสียก่อน"

เมื่อถามถึงการวางกำลังฝ่ายความมั่นคง อาทิ กองกำลังทหารจำนวนมากในพื้นที่ ส.ว.ปัตตานี ชี้ว่า ยังจำเป็นสำหรับมิติด้านความมั่นคง ที่ต้องมีมาตรการหลายรูปแบบหลายมิติผลักดันให้เกิดการยุติความความรุนแรง เพื่อดึงความร่วมมือจากประชาชน

"ประชาชนจะให้ความร่วมมือหรือไม่ก็แล้วแต่ ทุกวันนี้ที่เขาไม่ให้ความร่วมมือเพราะกลัวอันตรายมาถึงตัว ให้เป็นพยาน ไปให้ปากคำเขากลัว หลายคดีจึงยกฟ้องเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ไม่สามารถสืบพยาน ไม่มีพยานให้ปากคำในศาล เพราะประชาชนยังไม่เชื่อมั่นในการดูแลความปลอดภัยของรัฐ ต้องรับว่าปัญหาความไม่สงบหลายประเด็นสืบเนื่องจากการสืบสวนสอบสวนนี่แหละ รัฐยังไม่บรรลุเป้าหมายความเชื่อมั่น แต่เห็นใจเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทุกวันนี้เหตุร้ายเกิดไม่เลือก ถนนเส้นใหญ่ สายปัตตานี-นราธิวาส เกิดเหตุการณ์รุนแรงบ่อยขึ้น กลางวัน เที่ยงๆ นี่แหละ ไม่ต้องรอให้ค่ำมืดหรอก นี่คือสิ่งที่สะท้อนคำว่า สงบหรือไม่

"สิ่งที่รัฐต้องทำให้ชัดเพื่อเรียกความมั่นคง ต้องแยกคดี ต้องทำให้ชัดเจนว่า นี่คือคดีมั่นคง คดีไหนคือคดีอาญาทั่วไป นี่เรื่องส่วนตัว นี่ชู้สาว นี่การเมืองท้องถิ่น ถ้าแยกได้จะลดความหวาดระแวง สร้างความเชื่อมั่นว่า จริงๆ แล้วรัฐดูแลความปลอดภัยได้นะ นี่ต้องทำเร่งด่วนเลย แต่หลายรัฐบาลแล้วไม่ทำให้ชัดเจน แต่ปัญหาของการแยกคดีในพื้นที่นี้ส่วนหนึ่งคือความร่วมมือจากประชาชนในการให้หลักฐาน ซึ่งเป็นอะไรที่ยากกว่าพื้นที่อื่น" ส.ว.ปัตตานีระบุ

ส.ว.ปัตตานียังกล่าวถึงการเยียวยาจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยนิยามว่า เป็น "ของร้อน"

www.matichon.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม