ริมถนนเมืองกรุงปกติก็ไม่ค่อยจะปลอดภัยอยู่แล้ว กลับถูกเพิ่มเติมความอันตรายจากภัยที่คนเดินดินคาดไม่ถึงอีก เป็นภัยที่ไม่ใช่แค่อาชญากรรมอย่างแก๊งวิ่งราวทรัพย์ หรือดักจี้ในรูปแบบของโจรมุมตึก
แต่เป็นภัยในรูปแบบใหม่ที่เกิดจากฝีมือของเหล่าบรรดามนุษย์ที่เข้าข่ายจิตผิดปกติ สามารถก่อเหตุร้ายได้อย่างปัจจุบันทันด่วน ทั้งที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตา หรือไม่รู้จักมักคุ้นกับเหยื่อมาก่อน
ตำรวจมองว่าภัยลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้ได้ ขณะที่การตามจับคนจิตผิดปกติที่ตระเวนก่อเหตุลักษณะนี้มาดำเนินคดีก็ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ
มีสองเหตุการณ์ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่บ่งชี้ได้ว่าริมถนนแทบทุกสายในกรุงเทพฯ กำลังมีอันตรายเพิ่มมากขึ้น นอกจากคนเดินถนนที่ปกติจะต้องเสี่ยงกับแก๊งวิ่งราวทรัพย์ แก๊งต้มตุ๋น หรือแม้กระทั่งแก๊งวัยรุ่นที่จ้องตะครุบเหยื่อด้วยการรุมทุบตีแล้ว ทุกวันนี้ชาวบ้านชาวช่องยังต้องเสี่ยงกับภัยจากฝีมือของ “อาชญากรจิตป่วน”
เหตุการณ์แรกเป็นฝีมือของซาเล้งอันตรายที่ไล่สาดน้ำกรดใส่สาวๆ ด้วยความสะใจ ขณะที่อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่ รปภ. ที่ไล่แทงหนุ่มทนายความที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนจนได้รับบาดเจ็บสาหัสอย่างไม่มีสาเหตุ
ทั้งสองเหตุการณ์แม้ว่าตำรวจจะตามจับตัวมาดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็วแบบยังไม่ทันข้ามสัปดาห์ แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่การันตีได้เลยว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีกในอนาคต และคนเดินถนนจะมีความปลอดภัยมากขึ้นหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ตำรวจยังพบด้วยว่าผู้ต้องหาทั้งสองคดีเคยเสพยาเสพติด และเคยถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาก่อนไม่น้อยกว่าคนละ 4-5 คดี
พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปราม (ผบก.ป.) ที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์พฤติกรรมอาชญากร บอกว่า ทุกวันนี้อาชญากรรมมิได้เกิดขึ้นโดยฝีมือของอาชญากรเท่านั้น แต่อาจจะเกิดจากฝีมือของกลุ่มคนที่ไร้สติ ขาดจิตสำนึก จิตผิดปกติ หรือบ้าคลั่ง ซึ่งต้องยอมรับว่าอาชญากรรมประเภทนี้ควบคุมได้ยาก
ขณะเดียวกันก็สืบสวนจับกุมได้ยากด้วยเช่นกัน เพราะพฤติกรรมของคนร้ายไม่สามารถกำหนดทิศทางได้ ขึ้นอยู่กับภาวะทางจิต หรือแรงจูงใจของสถานการณ์ในขณะนั้น
อย่างกรณีของคนร้ายที่สาดน้ำกรด ก็เกิดขึ้นจากการถูกกดดันทางสังคม เลยกระทำต่อคนที่สัญจรไปมาบนถนน เพื่อให้เกิดความทุกข์ทรมานเช่นเดียวกับตัวเอง
ส่วนกรณีของ รปภ. ที่ก่อเหตุนั้น ก็เกิดขึ้นมาจากความกดดันที่ตัวเองเคยถูกทำร้าย จึงเกิดความหวาดระแวงต่อสังคม สัญชาตญาณที่เกิดขึ้นจึงเป็นการแสดงออกว่าต้องป้องกันตัวตลอดเวลา
พล.ต.ต.สุพิศาล บอกว่า คนที่มีอาการลักษณะเช่นนี้ จะไม่เลือกพื้นที่ในการก่อเหตุ และเป็นใครก็ได้ จึงค่อนข้างยากแก่การป้องกัน อย่างไรก็ตามอาการนี้ไม่ถือว่าเป็นโรคจิต เพียงแต่เป็นความผิดปกติในทางอารมณ์
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ทั้งสองครั้งนั้นชี้ให้เห็นว่าตำรวจต้องป้องกันภัยต่อสังคม ด้วยการเฝ้ามองข้อผิดปกติในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เมื่อเห็นสิ่งใดผิดปกติก็ต้องรีบเข้าไประงับเพื่อตัดโอกาสการก่อเหตุของคนร้าย
อย่าละเลยว่าเรื่องบางเรื่องเป็นเพียงเหตุเล็กๆ เพราะเหตุเล็กๆ บางเรื่องก็กลายเป็นเหตุใหญ่ได้เหมือนกับสองเหตุการณ์ข้างต้น
ในส่วนของชาวบ้านก็ต้องคอยติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นเหยื่อ เมื่อพบเห็นสิ่งผิดปกติก็ควรแจ้งตำรวจ ขณะเดียวกันเมื่ออยู่ในที่สาธารณะก็ต้องคอยสังเกตสิ่งรอบตัว หรือจดจำสิ่งต่างๆ ไว้ด้วยเพื่อป้องกันตัวเองในเบื้องต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น