วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เปิดใจ สส. เปล่ง สาวผู้พิทักษ์ (เก้าอี้) สภา

วันที่สภาอลวน คนสภาอลเวงวุ่น (30 พ.ค. 2555) มีเหตุการณ์วุ่นวายหลายๆ เหตุการณ์ที่สร้างความอึกทึกอลหม่านในสภาผู้แทนฯ หนึ่งในนั้นมีเหตุการณ์ที่ สส.หญิงจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนหนึ่ง ฉุดลากเก้าอี้ของประธานสภาผู้แทนราษฎรลงจากบัลลังก์

วินาทีต่อมาก็มี สส.หญิงคนหนึ่งฟากรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ขึ้นไปยื้อยุดฉุดดึงเก้าอี้ประธานสภาจาก สส.หญิง ปชป.กลับมาตั้งยังฐานที่ตั้งเดิม จนเหตุการณ์นี้นั้นได้กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในเวลาต่อมา เชื่อว่าคนไทยยังจำกลิ่นอายกับเหตุการณ์วันนั้นได้ดี ชนิดไม่มีลืม และไม่อยากจะลืม (ยกเว้นเสียแต่คนที่ไม่อยากจำ ฮ่าๆ)

วันนี้จึงถือโอกาสพาไปรู้จักเธอให้มากขึ้น “เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.เลย พรรคเพื่อไทย ผู้พยายามปกป้องเก้าอี้ประธานสภาสุดกำลัง พร้อมเจาะเรื่องราวชีวิตของเธอในบางมุมที่น่าสนใจ

สาวกรุงพบรักหนุ่มวิศวะ

สส.เปล่งมณี หรือที่น้องๆ ในพรรคเรียกขานด้วยความคุ้นเคยว่า “พี่เปล่ง” แม้ตอนนี้วัยจะ 50 อัพไปแล้ว แต่ความสวยด้วยรูปร่างและหน้าตาคมของเธอไม่ได้จืดจางไปตามวัย เธอเกิดและเติบโตที่กรุงเทพฯ มีน้องสาว 2 คน และเธอเป็นลูกคนโตของครอบครัว

ในวัยเด็กเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนแสงอรุณ และมัธยมที่โรงเรียนศึกษานารี จากนั้นได้ไปเรียนต่อ ปวส.ด้านช่างสำรวจ (เซอร์เวย์) จนจบ แล้วเธอก็หยุดการเรียนไว้แค่ ปวส. เพื่อต้องการหาประสบการณ์ในการทำงานให้กับตนเอง และด้วยความที่เป็นพี่คนโต ก็อยากให้น้องๆ ได้เรียนหนังสือเต็มที่ จึงได้ไปสมัครทำงานที่บริษัท แสงรุ่งโรจน์พาโก้ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเสาเข็ม อยู่ใต้สะพานพระราม 6 ในตำแหน่งเลขานุการผู้จัดการ

“ตอนที่จบ ปวส.ใหม่ๆ พี่อยากจะทำงานมากกว่านะ ส่วนเรื่องเรียนก็อยากเรียนให้จบปริญญาเหมือนกัน แต่ก็อยากให้น้องๆ ทั้งสองได้เรียนด้วย จึงคิดว่ามาทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปก่อนดีกว่า เรื่องเรียนถ้ามีโอกาสก็คงได้เรียน จึงได้งานที่บริษัท แสงรุ่งโรจน์พาโก้ ในตำแหน่งเลขานุการของผู้จัดการบริษัทอยู่หลายปี”

 

ระหว่างทำงานอยู่นี้ก็ทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับวิศวกรโยธาหนุ่มประจำกองควบคุมการก่อสร้าง สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ที่ชื่อว่า “ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข” ซึ่งต่อมามีการคบหาดูใจกันเกือบ 1 ปี จึงตกลงปลงใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกันที่ จ.เลย ในปี 2528 แต่ว่าการแต่งงานเกิดขึ้นหลังจากที่สามีลาออกจากราชการแล้วหันไปทำงานการเมือง โดยลงสมัครเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) เลย และได้รับเลือกตั้ง ปัจจุบันมีทายาท 4 คน หญิง 3 ชาย 1 โดยคนสุดท้องเป็นชาย

สู่การเมืองแบ่งภาระสามี

ต่อมาในปี 2529 สามีได้หันไปเล่นการเมืองระดับชาติ โดยได้ลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในสังกัดพรรคสหประชาธิปไตย ทำให้เธอรู้สึกว่าตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นได้เห็นสามีทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างหนัก แต่ไม่มีใครมาช่วยแบ่งเบาภาระได้เต็มที่ แม้จะมีลูกน้องก็ตาม ในปี 2534 จึงได้ตัดสินใจลงสนามเลือกตั้ง สจ.เลย ได้รับเลือกตั้ง และทำงานจนครบเทอม

“ก่อนที่พี่จะลงสมัคร สจ.เลย ก็เป็นแม่บ้านเลี้ยงดูลูก ซึ่งตอนนั้นมี 2 คน ทำให้พอมีเวลาจึงไปเรียนปริญญาตรีที่หอการค้าจังหวัดเลย โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยไปสอน จบแล้วจากนั้นก็ต่อโทที่เดียวกันจนจบ ทว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาพี่ได้เรียนรู้การทำงานของท่านปรีชา และรู้ว่าท่านทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนหนักมาก อยากแบ่งเบาภาระบนบ่าของท่านบ้าง อีกอย่างหนึ่งพี่ไม่อยากเป็นแค่เวลาขึ้นเวที นี่คือภรรยาท่าน สส. แต่อยากมีตำแหน่งของตัวเอง จึงตัดสินใจลงสมัคร สจ.ในปี 2534 แล้วได้รับเลือกตั้งและทำงานจนครบวาระ”

เบนเข็มการเมืองระดับชาติ

อย่างไรก็ตาม ในสมัยต่อมาเธอได้ตัดสินใจลงสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ทว่ามีเหตุการณ์ที่ไม่เป็นตามที่ตั้งใจแต่ต้น ทำให้เธอไม่ได้ลงสมัครตำแหน่งดังกล่าว และเธอก็ได้เป็นรองนายกแทน และอยู่ในตำแหน่งนี้ 2 ปีกว่าก็ลาออก เพราะต้องการเบนเข็มเล่นการเมืองระดับชาติ และเธอก็ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในปี 2549 ซึ่งก็ได้รับเลือกตั้งด้วย แต่ที่สุดก็ยังไม่ได้ทำหน้าที่ก็เกิดการรัฐประหาร

“พี่เป็นรองนายก อบจ.เลย อยู่ 2 ปีกว่า ก็ลาออกเพื่อไปสมัคร สว.ในปี 2549 ซึ่งตอนนั้นเลยมี สว.ได้ 2 คน พี่ได้รับเลือก แต่ว่าที่สุดก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะเกิดรัฐประหารขึ้นเสียก่อน” สส.เปล่งมณี กล่าว

ช่วงก่อนรัฐประหารเป็นช่วงที่เธอตั้งใจหันมาทำงานการเมืองระดับชาติเต็มที่ แต่ว่าสถานการณ์และบรรยากาศการเมืองไม่เป็นใจเท่าไรนัก เพราะหลังจากได้เป็น สว. ก็เกิดการรัฐประหาร 2549

ต่อมาหลังการรัฐประหารมีการเลือกตั้ง สส. เธอได้ลงสมัครในนามพรรคพลังประชาชน และได้รับเลือกตั้ง สส.ครั้งแรก ทว่าเป็น สส.รัฐบาลไม่นานก็เปลี่ยนไปเป็นฝ่ายค้าน แต่ต่อมามีการเลือกตั้ง สส.ในปี 2554 ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 โดยลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย และทำหน้าที่ สส.มาจนถึงปัจจุบัน พร้อมควบตำแหน่งวิปรัฐบาลด้วย

ดึงคืนเก้าอี้...สมองสั่งให้ทำ

กับเหตุการณ์ในสภาที่มีการยื้อยุดฉุดดึงเก้าอี้ของประธานสภาคืนจาก สส.หญิงพรรคประชาธิปัตย์ สส.คนกล้าฝ่ายรัฐบาล เล่าว่า โดยส่วนตัวไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนในสภา และไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น จะเจอก็แต่กับคนนอกสภา เมื่อครั้งกลุ่มพันธมิตรฯ บุกสภา ที่ครั้งนั้นว่าแรงแล้ว ครั้งนี้แรงกว่าหลายเท่า เพราะเกิดขึ้นในสภา และคนในสภาเป็นกันเอง

“เมื่อครั้งพันธมิตรฯ บุกสภา ตอนนั้นพี่เป็น สส.สมัยแรก ต้องปีนรั้วกำแพงออกจากสภาเพราะกลัวตาย เพราะข้างนอกเขาตะโกน ฆ่ามันๆๆๆๆๆ พวกเขาเอาโซ่มาคล้องประตูไม่ให้เราออก ตัดน้ำ ตัดไฟ ก็แล้วใครจะอยู่ให้ฆ่า เวลาก็ค่ำเรื่อยๆ ไม่รู้จะเกิดเหตุการณ์อะไร แต่ครั้งนั้นที่พี่ถือว่าหนักหนายังไม่เท่าครั้งนี้” สส.เปล่ง เปิดใจ

เธอกล่าวว่า ความจริงเหตุการณ์วันนั้นเริ่มออกอาการไม่สู้ดีเป็นระยะตั้งแต่เช้า ตั้งแต่ที่ประธานสมศักดิ์ (เกียรติสุรนนท์) ขึ้นมา ทาง สส.ฝ่ายค้านก็ใช้คำพูดที่ไม่สร้างสรรค์บรรยากาศการประชุมต่างๆ นานา

“กราบเรียน ท่านประธานที่ดิฉันไม่เคารพ เป็นอะไรอย่างนี้ตลอดเวลา เวลาพูดอะไรก็ว่าประธานลำเอียง พวกเราก็พยายามอดทนอยากให้การประชุมดำเนินไปด้วยดี แต่ฝ่ายค้านก็ประท้วงตลอด 5 คน 6 คน ให้ลงก็ไม่ลง ให้นั่งก็ไม่นั่ง อย่างนี้ พยายามที่จะเร้าสถานการณ์ให้ตึงเครียดตลอด ทว่าเหตุการณ์วันนั้นเลยเถิด มีการกระชากลากถูประธานลงจากเก้าอี้ พี่เห็นว่ามันเกินไป

พักการประชุมนึกว่าจะคลี่คลาย สส.ฝ่ายค้านหลายคนมานั่งขวาง ยืนขวางทางขึ้นไปทำหน้าที่ของประธาน พี่เข้าไปขอร้องว่าอย่าทำอย่างนี้ได้ไหม ข้างล่างพวกคุณก็ทำมากเกินไปแล้ว ยังทำอีกหรือ แต่ระหว่างที่พูดนั้นพี่เหลือบไปเห็น สส.ฝ่ายค้านผู้หญิงขึ้นมาลากเก้าอี้ตัวสุดท้ายไป (เพิ่งจะเห็น) พี่คิดว่าอย่างนี้ไม่ถูก ก็เลยผละจากคนที่กำลังต่อว่าไปดึงเก้าอี้คืน

พี่มองว่านั่นคือศักดิ์ศรีของประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์ และตำแหน่งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงมา แต่คุณทำอย่างนี้ไม่ถูก เหมือนคุณไม่เคารพเลย สมองพี่ในเวลานั้นสั่งเลยว่าเก้าอี้ต้องอยู่ที่เดิม จึงไปดึงเก้าอี้กลับโดยไม่มีการกระทบกัน”

สส.เปล่งมณี เล่าต่อว่า ณ เหตุการณ์นั้นไม่มีการกระทบกระทั่งกันกับ สส.หญิงของฝ่ายค้าน เพราะเวลาที่ สส.คนนั้นดึงก็ยิ้มและหัวเราะตลอดเวลา เหมือนเล่นสนุกสนาน

“พี่ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน คราวพันธมิตรฯ บุกสภาหนักหนาสาหัสแล้ว แต่นั่นเป็นการเมืองนอกสภา แต่อันนี้คนในสภาด้วยกันเอง ซึ่งพี่ว่ามันขึ้นอยู่กับจริยธรรมคุณธรรมของแต่ละคน เมื่ออยู่ในสภาก็ต้องเคารพสภา เคารพกฎกติกาของสภา จะโกรธจะแค้นกันขนาดไหนก็ต้องรู้จักอดทนอดกลั้น พร้อมกับถามกลับว่าถ้าคนที่ถูกกระทำเป็นพวกคุณ เหตุการณ์จะนิ่งอย่างนี้หรือไม่” สาวผู้พิทักษ์ (เก้าอี้) ย้ำถึงเจตนารมณ์ที่กระทำ เพราะมันทนไม่ได้จริงๆ อ่ะ

 

www.posttoday.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม