บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ที่ระดับ “AA” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงบริการเดินอากาศที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อประเทศ รวมถึงสถานะของบริษัทในการเป็นผู้ให้บริการเดินอากาศเพียงรายเดียวในประเทศไทย สถิติด้านความปลอดภัยที่ดี และคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ นอกจากนี้ การได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลยังเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มสถานะเครดิตให้แก่บริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาระหนี้จำนวนมากของบริษัทและความเสี่ยงของอุตสาหกรรมการบินที่เกิดจากปัจจัยภายนอกหลายประการที่ไม่สามารถควบคุมได้ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนสถานะของบริษัทในการเป็นผู้ให้บริการจราจรทางอากาศเพียงรายเดียวของประเทศ ตลอดจนการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย และผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ทั้งอันดับเครดิต และ/หรือ แนวโน้มอันดับเครดิตอาจมีการเปลี่ยนแปลงหากบริษัทสามารถรักษาผลประกอบการที่ดีขึ้นเช่นนี้เอาไว้จนสามารถลดจำนวนค่าบริการที่รอเรียกเก็บสะสมจากบริษัทสายการบินสมาชิกได้หมด
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรัฐบาลไทยถือหุ้น 91% และที่เหลืออีก 9% ถือหุ้นโดยบริษัทสายการบินต่าง ๆ รัฐบาลไทยในฐานะรัฐภาคีขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization -- ICAO) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบให้ความปลอดภัยในบริการขนส่งทางอากาศเหนือน่านฟ้าประเทศไทยได้มอบหมายให้บริษัทเป็นผู้ให้บริการจราจรทางอากาศ ซึ่งรวมถึงระบบและเทคโนโลยีสำหรับการเดินอากาศของประเทศซึ่งถือเป็นบริการหลักในการให้ความปลอดภัยแก่การขนส่งทางอากาศ ในปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ให้บริการดังกล่าวเพียงรายเดียวของประเทศ โดยมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมเขตแถลงข่าวการบินกรุงเทพฯ (Bangkok Flight Information Region -- BKK FIR) พร้อมขอบเขตการให้บริการทั้งในส่วนของการจราจรทางอากาศ ข่าวสารการเดินอากาศ และเทคโนโลยีการเดินอากาศตามมาตรฐานและระเบียบวิธีขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า การดำเนินงานของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลเป็นสำคัญ โดยงบประมาณการลงทุนต้องได้รับการเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี ในขณะที่โครงสร้าง/อัตราค่าบริการควบคุมจราจรทางอากาศต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการการบินพลเรือน คณะกรรมการของบริษัทจำนวน 9 คนจาก 11 คนได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาล ส่วนอีก 2 คนเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทสายการบินสมาชิก ซึ่งคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลส่วนใหญ่ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม
รายได้ของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยมากกว่า 90% มาจากการให้บริการจราจรทางอากาศ รูปแบบการคิดค่าบริการเป็นลักษณะที่ต้องชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นเนื่องจากบริษัทเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของบริษัทยังมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายต่าง ๆ ในช่วงปีงบประมาณ 2552-2553 บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยมีค่าบริการรอเรียกเก็บสะสมจากบริษัทสายการบินสมาชิกจำนวนมากเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งส่งผลทำให้ปริมาณเที่ยวบินลดลงต่ำกว่าประมาณการ โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2553 บริษัทมีค่าบริการรอเรียกเก็บสะสมจากบริษัทสายการบินสมาชิกอยู่ที่ระดับ 828 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2554 บริษัทมีค่าบริการเรียกเก็บเกินจากบริษัทสายการบินสมาชิกถึง 377 ล้านบาทเทียบกับค่าบริการรอเรียกเก็บจากบริษัทสายการบินสมาชิกจำนวน 181 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของปริมาณเที่ยวบิน โดยในปีงบประมาณ 2554 ปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 14.5% ตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นและไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้น บริษัทมีรายได้รวมเพิ่มสูงขึ้น 16.2% สู่ระดับ 6,067 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2554 เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 518 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2553 เป็น 1,040 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2554 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 9.7% ในปีงบประมาณ 2553 เป็น 20.9% ในปีงบประมาณ 2554 ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมีค่าบริการเรียกเก็บเกินจากบริษัทสายการบินสมาชิกในปีงบประมาณ 2555 เนื่องจากปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2555 ประกอบกับค่าบริการรูปแบบใหม่ที่เริ่มใช้ในเดือนมิถุนายน 2555 จากการปรับค่าธรรมเนียมใหม่และปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นคาดว่าบริษัทจะสามารถลดจำนวนค่าบริการที่รอเรียกเก็บสะสมจากบริษัทสายการบินสมาชิกได้หมดภายใน 2-3 ปี
อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยอยู่ที่ระดับประมาณ 87% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากบริษัทมีแผนการลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศมูลค่า 4,460.31 ล้านบาท โดยบริษัทจะใช้เงินกู้ยืมบางส่วนมาใช้ในการลงทุน โครงการดังกล่าวประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์บริหารการจราจรทางอากาศแห่งใหม่ การเพิ่มขีดความสามารถของระบบเทคโนโลยีจราจรทางอากาศและการพัฒนาระบบเชื่อมต่อโครงข่ายการบริการจราจรทางอากาศทั่วประเทศ รวมทั้งการจัดซื้ออากาศยานบินทดสอบจำนวน 2 ลำ การลงทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของทั้งบริษัทและระบบควบคุมต่าง ๆ อันจะทำให้บริษัทสามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการการเดินอากาศรายอื่น ๆ ได้ แม้ว่าฐานะการเงินของบริษัทจะอ่อนตัวลง แต่สถานะทางธุรกิจยังคงแข็งแกร่งจากการมีสถานภาพเป็นผู้ให้บริการจราจรทางอากาศเพียงรายเดียวของประเทศและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ ทริสเรทติ้งกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น