วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อู่ตะเภาแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ของใคร

เมื่อลาว เขมร และเวียดนามใต้ล่มสลายลงเพราะลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างต่อเนื่องกันนั้น ได้สร้างความโศกสลดให้สหรัฐเป็นอย่างยิ่ง เหมือนกับสหรัฐแพ้สงครามเองเลยทีเดียว แต่เมื่อประเทศไทยที่อยู่ใต้วงล้อมของ “ลัทธิคอมมิวนิสต์” กลับยืนหยัดอยู่ได้ด้วยโครงสร้างที่ค้ำจุนประเทศที่แตกต่างกับประเทศอื่นๆ คือ การยึดเหนี่ยวของคนในชาติที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของคนไทยทุกเผ่าพันธุ์ จึงทำให้สหรัฐ ซึ่งหมดหวังแล้วที่จะหยุดการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียอาคเนย์ได้กลับมีความหวังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในระยะนั้นประเทศไทยจึงเป็นปราการสุดท้ายที่ทำให้สหรัฐไม่พ่ายแพ้ “สงครามเย็น” ต่อประเทศกลุ่มคอมมิวนิสต์ และยังรักษาหน้าตาไว้ได้ในสังคมโลก

 

“การที่ประเทศไทยไม่ล้มลงตามประเทศอื่นๆ ไปด้วยในครั้งนั้นได้ทำให้คนในประเทศตะวันตกรู้จักในหลวงของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ฝ่ายตรงกันข้ามคือกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ก็ศึกษาอย่างลึกซึ้งต่อสถาบันกษัตริย์ไทยด้วย เป็นผลทำให้แกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งจีนและโซเวียตเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงพระราชภารกิจของในหลวง จึงเกิดความศรัทธาต่อกษัตริย์ไทยเป็นอย่างมากเช่นกัน
การเดินทางไปจีนแดงของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือการเดินทางของแกนนำ พคท.บางส่วนที่ไปพบกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ล้วนได้รับคำยกย่องเกี่ยวกับในหลวงกลับมาทุกครั้ง ในที่สุดสังคมไทยก็กลับมามีความสุขอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พคท.ไม่ยอมรับการใช้กองกำลังต่างชาติเข้ามาปลดปล่อยประเทศไทย การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก็เกิดขึ้นอย่างเต็มใจในเวลาต่อมา
ในยุคสมัยนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แม้จะจบลงด้วยการเชิญฐานทัพอเมริกาออกจากประเทศไทยไปโดยการเจรจาของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ด้วยตนเองก็ตาม ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน
หลังสงครามเย็นยุติลงอย่างสิ้นเชิง สหรัฐและยุโรปพยายามส่งออก “ลัทธิประชาธิปไตย” แบบตะวันตกเข้ามาบงการในประเทศอื่นๆ ในเอเชียให้ซื้อลัทธินี้มาใช้ในการปกครองประเทศ โดยไม่ยอมรับรู้ว่ามันจะเหมาะสมหรือไม่กับประเทศที่ผู้คนยังไม่มีการศึกษาเพียงพอ ยังไม่เข้าใจระบบประชาธิปไตยที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร การบังคับในเรื่องนี้ทำให้ประเทศไทยต้องรับเอาระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งปรากฏผลขึ้นในปัจจุบันนี้ คือ สภาพการเมืองที่ไร้คุณธรรม ไร้ประสิทธิภาพ ทุจริตและเล่นพรรคเล่นพวกเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มเดียวมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่ยอมเล่นตามบทบาทที่สหรัฐ และยุโรปกำหนดมา เช่น ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ฯลฯ โดยเฉพาะ “จีน” ซึ่งนอกจากไม่ยอมรับแล้วยังโต้ตอบอีกด้วย สหรัฐจึงยกระดับจีนขึ้นมาเป็นคู่แข่งขันหรือศัตรูแทนรัสเซียไปโดยปริยาย
การที่สหรัฐเข้ามาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาครั้งนี้ ย่อมสร้างความลำบากใจให้รัฐบาลไทยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สหรัฐ กับจีน อยู่ในฐานะที่เป็นเสมือนคู่แข่งกันทางการเมืองระดับประเทศและยังเป็นคู่แข่ง “ทางทหาร” อีกด้วย นอกจากนั้นทั้งสองประเทศยังได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจที่บันดาลให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการทหารต่อประเทศไทยได้โดยไม่ยากนัก
กรณีที่สหรัฐขอใช้สนามบินอู่ตะเภา โดยอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับการทหารนั้น แบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีแรกใช้เป็นศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติ กรณีนี้ยาวนานและมีบุคลากรมากมาย จึงน่าจะต้องนำไปพิจารณาในสภาค่อนข้างแน่นอน ส่วนกรณีที่ 2 เป็นการใช้สนามบินเพื่อการศึกษาขององค์การนาซา เกี่ยวกับการก่อตัวของเมฆที่มีผลต่อสภาพอากาศ โดยเคยทำมาทั้งที่ฮ่องกงและญี่ปุ่นแล้วในปี 2544 นั้น การพูดจาไม่ชัดเจนทำให้กลายเป็นข้อที่น่าสงสัยอีกว่าเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้น สหรัฐน่าจะไปขอใช้ที่ประเทศอื่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากกว่าประเทศไทย น่าจะทันเวลาและได้ผลมากกว่า เพราะภัยจากธรรมชาติเกือบทั้งหมดไม่เคยมีการก่อตัวขึ้นในประเทศไทยเลย เหตุผลนี้จึงไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้คนไทยเชื่อถือได้ ซึ่งประเทศจีนเองก็คงไม่เชื่อเช่นเดียวกัน แต่ถ้าการใช้อู่ตะเภาในเรื่องยุทธศาสตร์ทางทหารแล้วน่าจะมีเหตุ มีผลมากกว่า โดยเฉพาะการช่วยเหลือในภารกิจของ “สงครามอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ “ให้คุณประโยชน์” ต่อสหรัฐ ได้สูงกว่าทุกประเทศ
ข้อเท็จจริงในกรณีที่ 2 นี้จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เป็นเพียงกระทรวงต่างประเทศของไทย ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนขึ้นมาเท่านั้นเอง เพราะประเทศไทยมีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรอยู่ดวงหนึ่งได้รับพระราชทานชื่อว่า “ไทยโชติ” โดยมีหน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรูปขององค์กรมหาชนชื่อ GISTDA เป็นผู้กำกับดูแล GISTDA ได้เซ็นสัญญาร่วมมือทางด้านเทคนิคอวกาศกับองค์การนาซามาหลายปีแล้ว (ขณะเดียวกันก็ทำกับจีนด้วยผ่านโครงการมหาวิทยาลัยอูฮั่น ซึ่งมีข้อตกลงใกล้ชิดกันมากกว่า) GISTDA ขอให้นาซาศึกษาสภาพเมฆหมอกของท้องฟ้าประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่เหนือทะเล เพื่อหาทางศึกษาให้ดาวเทียมของไทยมองทะลุเมฆลงมาได้ตลอดเวลา จะได้พยากรณ์อากาศและปริมาณน้ำได้ถูกต้องมากขึ้น ซึ่งในที่สุดก็มีการตกลงกันดังกล่าวเพื่อให้ความรู้แก่บุคลากรของ GISTDA และอีกหลายหน่วยงานในการวิเคราะห์พื้นที่ผ่านเมฆระดับต่างๆ และอีกหลายเรื่อง
ถ้ารัฐบาลแถลงข่าวตรงๆ แบบมีเหตุผลเรื่องนี้คงไม่บานปลายออกไปเรื่อยๆ ถ้ารู้จักแยกเรื่องแถลงข่าว เอาเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์ออกจากเรื่องศูนย์การช่วยเหลือ ทุกอย่างก็จะเรียบร้อย แต่ถ้ารัฐบาลจะเอาเรื่องเหล่านี้ปะปนกันทั้ง 2 กรณีไปต่อรองกับสหรัฐ เพื่อใครคนหนึ่งเรื่องก็จะบานปลายไปเรื่อยๆ จนก้าวล้ำเข้าไปใน “มิติของความมั่นคง” เมื่อนั้น จีนก็จะทนไม่ได้กับเรื่องนี้อีกต่อไป “อู่ตะเภาก็จะกลายเป็นเรื่องที่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อใครบางคนไปจริงๆ” รู้จักทำงานให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียบ้าง ถนัดแต่สลับขาหลอกอยู่เรื่อยๆ พอจะทำดีบ้างใครเขาจะไปเชื่อครับ

www.komchadluek.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม