วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การบรรยาย มองประชาคมอาเซียนจากมุมข่าว

กวี จงกิจถาวร ประธาน SEAPA บรรยายพิเศษ “มองประชาคมอาเซียนจากมุมข่าว” อธิบายพลวัตอาเซียนในรอบ 45 ปี จับตาพม่าผงาดจาก ZERO เป็น HERO ส่วนไทยจะตกกระป๋องไปอีกนาน อินโดฯ จะเป็นพี่ใหญ่ ภาษาจะครองอาเซียน ไม่แทรกแซงความหมายที่เปลี่ยนได้

ใครๆ ก็อยากเข้าอาเซียน
ประเทศภาคีสมาชิกได้ร่วมลงนามเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 หรือเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ขณะนั้นประเทศไทยสามารถเป็นตัวกลางในภูมิภาคได้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น ไม่มีเรื่องบาดหมางกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ มีความน่าเชื่อถือสูง มีนโยบายทางการทูตอิสระ แน่นอน และได้รับการสนับสนุนจากโลกเสรี

ไทยต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกลไกที่จะลดความขัดแย้งในภูมิภาค ซึ่งขณะนั้น ประเทศมาเลเซียมีปัญหากับประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ ไทยยังส่งเสริมการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศในภูมิภาค เพื่อรับมือกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ในประเทศอินโดจีน ในปี 1992 หลังจากสงครามในประเทศกัมพูชาสิ้นสุดลง จึงเป็นเรื่องน่าแปลกที่เวียดนามเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอินโดจีนได้เข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน

สำหรับประเทศติมอร์ตะวันออกจะเข้ามาเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นประเทศที่ 11 แต่ประเทศอินโดนีเซียคัดค้านเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียสนับสนุน แต่กลับพบว่าประเทศสิงคโปร์ไม่ต้องการให้ประเทศติมอร์ตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน เนื่องจากไม่ต้องการให้ประเทศติมอร์ตะวันออกตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศอินโดนีเซียอีกครั้ง

ลึกๆ แล้ว สิงคโปร์ต้องการให้ประเทศติมอร์ตะวันออกอยู่ภายใต้อิทธิพลของออสเตรเลียเหมือนเดิม ต่างจากประเทศบรูไนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนหลังได้รับเอกราชไม่ถึง 1 สัปดาห์ นับเป็นประเทศที่ฉลาดมาก เพราะการได้เข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนทำให้อาเซียนสามารถปกป้องประเทศสมาชิก

ส่วนประเทศปาปัวนิวกีนี ยังไม่แน่ชัดว่าจะสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนหรือไม่ เนื่องจากประเทศที่สนับสนุนมีเพียงประเทศฟิลิปปินส์กับประเทศอินโดนีเซีย ส่วนประเทศอื่นๆ ไม่เห็นด้วย

เหตุที่ประเทศปาปัวนิวกีนีอยากเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนเพราะไม่อยากโดดเดี่ยว และประเทศปาปัวนิวกีนีถูกประเทศออสเตรเลียรังแกมาตลอด จึงหวังการปกป้องจากอาเซียน ฉะนั้นประเด็นที่สำคัญของอาเซียนคือ ร่วมกันแล้วแข็งแรง เหมือนต้นข้าว 10 ต้นมัดรวมกัน ดังปรากฏในสัญลักษณ์ของอาเซียน

เมื่อ 45 ปีก่อน ศรีลังกาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่อยากเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน เพราะไม่ต้องการอยู่ในกลุ่มประเทศเอเชียใต้และประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่อาเซียนไม่สนใจ สาเหตุหนึ่งอาจมาจากกรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับกลุ่ม “พยัคฆ์ทมิฬไทเกอร์” ซึ่งเป็นปัญหาเชื้อชาติ และอาเซียนไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง

ปัจจุบันอาเซียนมีสมาชิก 10 ประเทศ หากต้องการแข่งขันกับสหภาพยุโรป ซึ่งมีสมาชิก 27 ประเทศ คงต้องเพิ่มจำนวนประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเพิ่มประเทศติมอร์ตะวันออกเข้ามา

ผมกล้าท้าทายว่า ในอีก 10-15 ปีข้างหน้าประเทศออสเตรเลียกับประเทศนิวซีแลนด์จะเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน ผมเชื่อว่าเป็นไปได้เพราะแนวคิดใหม่ไม่สนใจเรื่องภูมิศาสตร์แล้ว แต่สนใจเรื่องผลประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนั้นความหมายของอาเซียน ไม่ใช่เป็นแค่กลุ่มประเทศในเอเชียอาคเนย์อีกต่อไป

คุณสมบัติของอาเซียน
การเมืองในอาเซียนมีระบบที่หลากหลาย ในความหลากหลายดังกล่าวทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ยุ่งยากเพราะคิดอะไรไม่เหมือนกัน อย่างประเทศมาเลเซียคิดไปอย่างหนึ่ง ประเทศอินโดนีเซียก็คิดไปอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น

เพราะฉะนั้น สำหรับการเขียนข่าวที่เกี่ยวกับอาเซียน จำเป็นต้องคิดถึงความหลากหลายและความต้องการในแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น อาเซียนไม่เหมือนสหภาพยุโรปที่เมื่อจะรับสมาชิกประเทศใหม่ จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งด้านการเมือง ความคิด การบริหารธุรกิจ สังคมอย่างเท่าเทียมกัน ตัวอย่างประเทศตุรกีที่ไม่สามรถเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้ ส่วนอาเซียนให้เข้ามาเป็นสมาชิกก่อน แล้วค่อยจัดการที่หลัง

ประเทศอินโดนีเซียเป็นชาติมุสลิมที่ใหญ่ที่สุด ส่วนประเทศไทย พม่า และลาว เป็นประเทศพุทธศาสนา และฟิลิปปินส์เป็นคริสเตียน โดยไม่มีการแทรกแซงทางการเมือง ไม่ใช้กำลังต่อกัน และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาอาเซียน

ผมคิดว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้าภาษาอินโดนีเซียจะเป็นภาษาของอาเซียน เพราะเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีบารมี โดยเฉพาะหลังจากปี ค.ศ. 1998 หลายประเทศให้การยอมรับ

ส่วนประเทศไทยเคยมีบารมีสูงมากในปี ค.ศ. 1995 เนื่องจากมีนโยบายส่งเสริมประชาธิปไตยและนโยบายสิทธิมนุษยชน ตอนนี้ประเทศไทยตกกระป๋องไปแล้ว และจะตกกระป๋องไปอีกนาน

‘พม่า’น่าจับตาในอาเซียน
ตอนนี้ประเทศที่เป็นตัวแปรใหม่สำหรับสมาชิกอาเซียน คือ ประเทศพม่า ประเทศพม่า สามารถล้มโต๊ะอาเซียนได้ พม่าเปลี่ยนจาก Zero มาเป็น Hero ตอนนี้หลายๆ ประเทศเริ่มลดการคว่ำบาตรพม่าไปเรื่อยๆ

ส่วนประเทศไทยลืมไปเลย ไม่มีใครสนใจ เพราะมัวห่วงว่าอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะกลับประเทศหรือไม่ ปัญหานี้อีก 3 ปีก็ไม่จบ แต่ประเทศไทยจบ

65 ปีหลังสงครามโลก ประเทศไทยได้รับสิทธิพิเศษในโลกเสรี ในฐานะที่มีการพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ไม่ขาดตอน แต่รัฐบาลไม่มีนโยบายต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้ประเทศในอาเซียนต่างยืนเรียงหน้าเพื่อแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยแม้ได้สิทธิล่วงหน้ามา 65 ปีแล้ว แต่การพัฒนาก็ไปไม่ถึงไหน

‘ไม่แทรกแซง’ ความหมายที่เปลี่ยนได้
เรื่องการไม่แทรกแซงทางการเมืองในประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะสร้างความมั่นใจต่อกัน ตอนนี้มีการแทรกแซงโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ไปจับมือกับประเทศกัมพูชาและอีกหลายประเทศในอาเซียน แต่เป็นประเด็นที่ยังไม่มีใครกล้าที่จะคุย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ในประเด็นการไม่แทรกแซง

การตีความหมายของการไม่แทรกแซงทางการเมืองภายในสมาชิกอาเซียนได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เป็นเทคนิคหนึ่งที่อาเซียนชอบใช้ คือตีความความหมายเข้าข้างตัวเอง เหมือนประเทศญี่ปุ่นที่ตีความหมายเข้าข้างตัวเองว่า แม้รัฐธรรมนูญห้ามใช้กำลัง แต่ถ้าส่งกำลังไปช่วยส่งเสริมการรักษาสันติภาพในประเทศอื่นๆ ทำได้ หลักการไม่แทรกแซงนั้น ไม่ใช่ลักษณะที่ตัวแข็งไม่เปลี่ยนแปลง แต่อยู่ที่การตีความหมาย

manager.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม