สัปดาห์ที่แล้วมีข่าวว่ากระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาถึงการจัดตั้งคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ขึ้นในประเทศไทย โดยอาจต้องใช้เงินถึงสองแสนล้านบาทในการสร้างคลังและสำรองน้ำมันดิบให้พอใช้ถึง 90 วัน
คำถามก็คือเรามีความจำเป็นจะต้องมีคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์หรือไม่ และถ้าจำเป็นต้องมี ควรจะมีเท่าไรจึงจะเหมาะสมเมื่อพิจารณาทั้งในแง่เศรษฐศาสตร์และความมั่นคงด้านพลังงาน
ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 กำหนดให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานมีอำนาจสั่งผู้ค้าน้ำมันต้องสำรองน้ำมันไว้ไม่เกินร้อยละ 30 ของปริมาณการค้าประจำปี แต่ได้มีประกาศของกรมธุรกิจพลังงานเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 กำหนดชนิดและอัตราการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันดิบเอาที่ร้อยละ 5 ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ยกเว้นผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงต้องสำรองไว้ร้อยละ 10
จากข้อกำหนดดังกล่าวทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีน้ำมันสำรองตามกฏหมายหรือที่เรียกว่า Government Reserve ที่ผู้ประกอบการต้องเก็บเอาไว้ตลอดเวลา เอาไปใช้ประโยชน์ในเชิงการค้าไม่ได้ รวมกันแล้วประมาณ 35 วันของปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าน้ำมันจำนวนนี้ทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ย่อมถือเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการ ถ้ารัฐบาลมีนโยบายจะเพิ่มการสำรองในส่วนนี้ (ตามข่าวระบุว่าจะเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 6) นั่นก็หมายความว่าผู้ประกอบการจะมีภาระสูงขึ้น และอาจผลักภาระมาให้ประชาชนได้
จะเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยก็มีน้ำมันสำรองเก็บไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเป็นเวลาประมาณ 35 วัน ถึงจะไม่ได้เรียกว่าเป็นน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ก็ตาม และเมื่อบวกกับน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์ที่ผู้ประกอบการต้องสำรองไว้เพื่อการค้าของตนเองอีกประมาณ 20-25 วัน เราก็จะมีน้ำมันสำรองพอใช้ไปถึง 60 วัน หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดหมายขึ้น
ถามว่าน้ำมันสำรองที่มีอยู่ 60 วันนี้เพียงพอหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าขึ้นอยู่กับสถานะการณ์โลกว่าจะมีเหตุการณ์ผันผวนรุนแรงยืดเยื้อขนาดไหน แต่เท่าที่ประเมินดูในขณะนี้ โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงถึงขนาดทำให้น้ำมันขาดแคลนเป็นเวลานานๆคงยังไม่มี แต่ในแง่ของการป้องกันความเสี่ยง การเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้าก็เป็นเรื่องที่ดี
คำถามที่สำคัญคือการต้องใช้เงินมากถึงสองแสนล้านบาทจะเอาเงินมาจากไหน และถึงแม้จะมีแหล่งที่มาของเงินก็ต้องถามว่า แล้วในแง่ของการจัดสรรทรัพยากรเล่า เงินจำนวนนี้ควรเอาไปลงทุนอย่างอื่นที่ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่ากว่าหรือเปล่า หรือเอาไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือลงทุนในโครงการสวัสดิการสังคมเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน จะดีกว่าเอามาชื้อน้ำมันเก็บเอาไว้โดยไม่รู้ว่าจะได้ใช้หรือเปล่า ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นแน่ๆในอนาคตก็ตาม
และถ้าคิดว่าปริมาณสำรองที่มีอยู่ในปัจจุบันมันน้อยจนเกินไป จะพิจารณาเก็บเพิ่มขื้นก็ต้องศึกษาดูว่าจำเป็นต้องเก็บถึง 90 วันหรือไม่ ผมยังอยากเสนอแนะว่าแทนที่รัฐบาลจะไปคิดการใหญ่ จัดตั้งคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ ใช้เงินอีกสองแสนล้านบาท ทำไมไม่เพิ่มอัตราการเก็บสำรองตามกฏหมายโดยผู้ประกอบการ (Government Reserve) อีก 1-2% แล้วให้ความช่วยเหลือเอกชนเขาไปในรูปของเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำระยะยาว (Soft Loan) หรือให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลงทุนในส่วนนี้ ก็จะทำให้รัฐบาลไม่มีภาระทางการเงินและไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารคลังน้ำมันสำรองฯซึ่งไม่ใช่ภาระกิจของรัฐบาล
ประเด็นหนึ่งที่ผมยังไม่ชัดเจนก็คือ มีข่าวว่าที่เราต้องจัดเก็บปริมาณน้ำมันสำรองสูงถึง 90 วัน มาจากคำแนะนำของทบวงพลังงานสากลหรือ International Energy Agency-IEA และเป็นเงื่อนไขในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ IEA
เรื่องนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่า IEA มีเงื่อนไขอย่างนั้นจริงๆหรือเปล่า และการที่เราจะเข้าไปเป็นสมาชิก IEA จะทำให้เราได้ประโยชน์อะไรบ้าง เท่าที่ผมทราบ IEA เป็นเพียงองค์กรที่ปรึกษาด้านพลังงานให้กับประเทศในกลุ่ม OECD ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว ถึงเวลามีปัญหาเขาจะมาช่วยเราได้หรือเปล่า
ผมกลับคิดว่าถ้าเราจะต้องร่วมมือกับประเทศอื่นๆในเรื่องพลังงาน เราควรร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน จัดตั้งคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์จะดีกว่าไหมครับ
อย่างน้อยก็ยังอยู่ใกล้ๆกัน ถ้ามีการสำรองน้ำมันร่วมกัน นอกจากจะประหยัดไม่ต้องต่างคนต่างทำแล้ว มีอะไรก็ยังส่งน้ำมันหรือหยิบยืมน้ำมันมาใช้มาช่วยกันได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น