วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พิษสุนัขบ้า ไม่ได้ระบาดแค่ในหน้าร้อน

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสก่อโรคในสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงสุนัขเท่านั้น

พาหะนำโรคที่สำคัญในประเทศไทย คือ สุนัข รองลงมาคือแมว ส่วนในต่างประเทศมักเกิดจากสัตว์ป่ากินเนื้อต่าง ๆ เช่น สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า ค้างคาว ฯลฯ

แม้ว่าปัจจุบันอัตราการป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยจะลดลงเรื่อย ๆ แต่ยังคงมีคนที่ถูกสุนัขหรือสัตว์ที่บ้าหรือสงสัยว่าบ้ากัด แล้วมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 ราย ทำให้ต้องเสียเงินซื้อวัคซีนจากต่างประเทศปีละหลายพันล้านบาท

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เฉพาะหน้าร้อนอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่เกิดจากความเครียดที่มาจากความร้อน

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ป่วยมักเสียชีวิต แต่อย่างไรก็ดีโรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ ซึ่งวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการระวังไม่ให้ถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาทิ สุนัข, แมว กัดหรือข่วน นอกจากนี้เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี

ผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ เพราะถูกกัดโดยสุนัขจรจัดหรือสุนัขที่มีเจ้าของ แต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

การช่วยเหลือสุนัขจรจัดโดยการให้อาหาร แต่ไม่นำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและคุมกำเนิดไม่ให้มีลูก เป็นการเพิ่มจำนวนสุนัขจรจัดและแพร่กระจายโรคพิษสุนัขบ้า

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า “ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดวัคซีนให้สุนัข 60-70% จึงจะสามารถป้องกันโรคได้ หากพบว่ามีหมาบ้าจะต้องฉีดวัคซีนให้กับสุนัขตัวอื่น ๆ รอบบริเวณ เพื่อให้สุนัขมีภูมิคุ้มกัน แต่ปัญหาก็คือประเทศไทยมีสุนัขชุกชุม และสุนัขจรจัดอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเราไม่รู้จำนวนที่แน่นอน และสุนัขพวกนี้ก็จับมาฉีดยาได้ยาก อยากฝากถึงพวกรักสุนัขว่าถ้าคิดจะช่วยสุนัขก็อยากให้ช่วยให้ครบวงจร ไม่ใช่แค่เอาข้าวไปโปรยให้สุนัขกิน แต่ต้องช่วยเอาสุนัขไปฉีดวัคซีนและทำหมันไปพร้อม ๆ กันด้วย”

การป้องกันอีกวิธีหนึ่งคือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเดิมต้องฉีดรอบสะดือ 14 เข็ม หรือ 21 เข็ม ถ้าหยุดต้องเริ่มต้นใหม่ แต่ปัจจุบันมีวัคซีนที่ทำจากเซลล์เพาะเลี้ยง ไม่ต้องฉีดทุกวัน มี 2 แบบคือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อและฉีดเข้าชั้นผิวหนัง

นอกจากนี้ยังมีเซรุ่ม ที่จะสามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ดีกว่า แต่เซรุ่มมีราคาแพง โดยเฉพาะเซรุ่มที่ทำจากเลือดคน ส่วนเซรุ่มที่ทำจากเลือดม้าแม้จะมีราคาถูกกว่าแต่ก็ยังนับว่าแพงอยู่ดี โดยการฉีดเซรุ่มจะต้องทำการคำนวณน้ำหนัก ฉีดเข้าที่แผลให้ได้มากที่สุด ที่เหลือค่อยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่เพราะเซรุ่มมีราคาแพง จึงมีการเสนอให้ฉีดแค่เฉพาะที่แผลโดยไม่ให้เกินน้ำหนัก และไม่จำเป็นต้องฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อ

สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยง อาทิ สุนัข แมว และผู้ที่ต้องคลุกคลีกับสัตว์พวกนี้เป็นประจำ ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า โดยฉีด 3 เข็ม ในระยะเวลา 1 เดือน โดยจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือผิวหนังก็ได้

ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนล่วงหน้าคือ หากถูกสัตว์กัด การฉีดวัคซีนกระตุ้นเพียง 1-2 เข็ม ร่างกายก็จะได้ภูมิต้านทานที่สูงพอจะป้องกันโรคอย่างได้ผล รวมทั้งไม่เสี่ยงต่อการแพ้เซรุ่ม หรือเจ็บปวดรอบ ๆ แผลจากการฉีดเซรุ่ม

“เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวพบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปลอม แพร่ระบาดในเมืองจีน ก่อนหน้านี้ก็มีข่าววัคซีนปลอมแพร่ระบาดในอินเดีย ดังนั้นควรระมัดระวังวัคซีนที่นำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกให้การยอมรับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าเพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้น” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กล่าวสรุป.

www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม