วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

งานเข้า อู่ตะเภา ประเด็นเด็ดทางการเมือง

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาจนได้ เมื่อ "องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา)" ได้ทำหนังสือมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อขอเช่าพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาสำหรับการสำรวจเมฆ ใช้ในการพยากรณ์อากาศที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตามแนวคิดที่จะใช้สนามบินแห่งนี้เป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (HDRC: Humanitarian and Disaster Relief Centre)

เมื่อข่าวถูกเผยแพร่ออกไป ได้สร้างความหวั่นใจให้หลายๆ ฝ่าย ที่เกรงว่าจะเป็นเรื่องทางทหารของสหรัฐอเมริกา อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย และอาจจะสร้างความไม่พอใจกับมหาอำนาจในภูมิภาคเดียวกันอย่างประเทศจีน ตลอดจนกระทบต่อความมั่นคงในการรวมประชาคมอาเซียนต่อไปในอนาคต

แม้การเข้ามาของ พล.อ.มาร์ติน อี.เดมพ์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐ หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา จะประกาศชัดเจนแล้วว่า โครงการดำเนินการที่อู่ตะเภาเป็นเรื่องของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไม่มีวาระซ่อนเร้นในการจะนำอากาศยานเข้ามาตรวจสภาพอากาศในภูมิภาคนี้ก็ตาม

แต่ก็ยังมีบางกลุ่มโยงเรื่องไปถึงกระแสข่าวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะขอวีซ่าเข้าสหรัฐ จึงนำเรื่องดังกล่าวมาต่อรองกับนาซา ในการขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา

เป็นเรื่องเป็นราวมากยิ่งขึ้นอีก เมื่อมีผู้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการอนุมัติให้นาซาเข้ามา ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 อาทิ นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2550 ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า รัฐบาลควรเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรค 2 ว่าด้วยสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ต้องการยื้อไม่ให้รัฐบาลเซ็นสัญญากับต่างประเทศได้โดยง่าย เพราะเป็นการตกลงเพื่อผลประโยชน์ระยะยาว

แต่ทางฝ่าย พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาโต้เเย้งว่า การเข้ามาของสหรัฐเพื่อขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นไปเพื่อจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการทหาร ไม่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และไม่เกี่ยวกับความมั่นคง มีเพียงแต่ความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ ในฐานะหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลก็มีหน้าที่ดูแลและตรวจสอบในเรื่องที่หลายฝ่ายกังวล

รวมถึง นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุม ครม.เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ย้ำชัดว่าเป็นเรื่องวิชาการ ไม่กระทบต่อความมั่นคง ไม่มีใครทำนอกเหนือกฎหมาย ส่วนจะเข้ามาตรา 190 วรรค 1 หรือ 2 หรือไม่นั้น ฝ่ายกฎหมายจะพิจารณายืนยัน ส่วนรัฐบาลได้ทำตามกฎหมายทุกอย่าง

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2504 กองบัญชาการทหารสูงสุดได้อนุมัติสร้างสนามบินแห่งใหม่ของกองทัพเรือ บริเวณหมู่บ้านอู่ตะเภา จังหวัดชลบุรี มีทางวิ่งลาดยางความยาว 1,200 เมตร บนพื้นที่ 20,000 ไร่ โดยใช้ชื่อว่า สนามบินอู่ตะเภา

ต่อมาเมื่อการก่อสร้างเสร็จ ได้เกิดการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้ และประเทศลาว ในตอนนั้นรัฐบาลสหรัฐเห็นว่าควรขยายสนามบินขนาดใหญ่ในประเทศไทยเพิ่มเติม รัฐบาลไทยและอเมริกาจึงมีโครงการร่วมกันปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภาในปี พ.ศ.2508 เพื่อเป็นหน่วยในการลำเลียงหน่วยรบไปยังจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ภายในประเทศ

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสนามบินอู่ตะเภากับประเทศสหรัฐนั้น ทางสหรัฐเคยใช้เป็นฐานปฏิบัติการทางทหารมานานนับสิบปี ทำให้ทราบถึงจุดยุทธศาสตร์บริเวณนั้นเป็นอย่างดี ทั้งยังเคยใช้สนามบินอู่ตะเภาทำสงครามในอินโดจีน ในปี พ.ศ.2510

ครั้งนั้น สหรัฐได้ย้ายฐานบินทิ้งระเบิด บี 52 จากเกาะกวมมาอยู่ที่อู่ตะเภา และใช้สนามบินอู่ตะเภาปฏิบัติการทิ้งระเบิดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา ทำให้หลายฝ่ายไม่อาจทนได้

ทำให้ในปี พ.ศ.2517 เกิดกระแสพลังของนิสิตนักศึกษาประชาชน ร่วมกันชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านขับไล่ให้พวกทหารอเมริกันที่มีฐานทัพอยู่ในประเทศไทย รวมถึงที่สนามบินอู่ตะเภา หรือเขตท่าเรือขนถ่ายอาวุธสงครามทุกแห่งออกไป

ประกอบกับทหารฝ่ายอเมริกันกับฝ่ายรัฐบาลเวียดนามใต้ได้พ่ายแพ้สงครามกองทัพกู้ชาติของผู้นำโฮจิมินห์ และกองทัพกู้ชาติเวียดนามเหนือยกทัพบุกเข้าล้อมตีฝ่ายเวียดนามใต้จนกรุงไซ่ง่อนแตก

1 ปีต่อมา ทหารอเมริกันจึงเริ่มถอนกองกำลังทหารหน่วยบินต่างๆ และหน่วยอื่นๆ ออกจากฐานทัพที่มีอยู่ในประเทศไทย เหตุการณ์ครั้งนั้นคนไทยถูกเพื่อนบ้านมองอย่างหวาดระแวงจนต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่นาน

ถัดมาในปี พ.ศ.2519 กองทัพสหรัฐได้ถอนกำลังทหารออกจากประเทศไทยจนหมดสิ้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ และเป็นสนามบินสำรองของท่าอากาศยานดอนเมือง นอกจากนี้ การบินไทยได้ตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานลำตัวกว้างแห่งที่สองขึ้นที่สนามบินอู่ตะเภา สามารถรองรับเครื่องบินตระกูลโบอิ้ง 737, 747 และ 777 และเครื่องบินตระกูลแอร์บัส A300, A330, A340

สนามบินอู่ตะเภามีโอกาสได้ใช้ระบายผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศไทย แทนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองที่ปิด เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2551 จากเหตุการณ์ยึดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ยังถูกใช้งานในภารกิจเที่ยวบินทางทหาร และเที่ยวบินขนส่งเพื่อมนุษยธรรมในเหตุการณ์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ

ภายหลังเหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง รัฐบาลได้เห็นความจำเป็นในการเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา-พัทยา ให้มากขึ้น จึงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ โดยใช้รูปแบบใกล้เคียงกับท่าอากาศยานพิษณุโลก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังจังหวัดชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด อาคารเหล่านี้ เริ่มก่อสร้างปี พ.ศ.2553 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2555

ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาพัทยา หรือสนามบินอู่ตะเภา เป็นที่ตั้งของกองการบินทหารเรือ, กองเรือยุทธการ และกองการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือไทย

ล่าสุดสนามบินอู่ตะเภากลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเรื่องความเหมาะสมในการให้นาซาเข้ามาใช้พื้นที่

www.matichon.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม