วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แอมเนสตี้ เผย สถานการณ์การพม่ารุนแรง ต้องยกเลิกประกาศฉุกเฉิน

วันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องพม่า: ต้องตอบสนองความต้องการด้านมนุษยธรรมและแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบโดยทันที

 

ในขณะที่สถานการณ์ในรัฐยะไข่ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือกำลังตึงเครียดมาก ทางการพม่าควรประกันให้ผู้พลัดถิ่นสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเต็มที่และไม่มีข้อจำกัด และให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ความรุนแรงในชุมชนที่เกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระและไม่ลำเอียง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555

 

รัฐบาลพม่ายังควรหาทางยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐยะไข่โดยเร็วสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และอำนวยความสะดวกให้ผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติเข้ามาทำงาน และให้แก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบที่มีต่อชาวโรฮิงญาที่เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นปัญหาที่ดำเนินมานับทศวรรษ

 

ปัจจุบันความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในอย่างน้อยแปดพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายนได้ลดลงอย่างมาก แต่การละเมิดสิทธิยังคงเกิดขึ้นต่อชาวยะไข่พุทธ ชาวยะไข่มุสลิม และชุมชนชาวโรฮิงญาที่เป็นมุสลิม รวมทั้งการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่ของเมืองดอและยะทีดอง

 

ตามข้อมูลของรัฐบาล ประชาชนอย่างน้อย 50 คนได้ถูกสังหาร และกว่า 30,000 คนต้องอพยพหลบหนีความรุนแรง บ้านเรือนถูกทำลายหลายพันหลัง

 

ต้องมีการตอบสนองความต้องการด้านมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานของประชาชนเหล่านี้โดยเร่งด่วน เนื่องจากพวกเขาขาดทั้งอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัยและยารักษาพยาบาล ทางการพม่าควรอนุญาตให้หน่วยงานช่วยเหลือทั้งในและนอกประเทศ สามารถเข้าถึงประชากรผู้พลัดถิ่นทุกคนอย่างเต็มที่และไม่มีเงื่อนไขจำกัด รวมทั้งผู้อพยพประมาณ 1,500 คนที่หลบหนีข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมายเข้าไปอยู่ในประเทศบังคลาเทศตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว

 

เมื่อวานนี้ หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของบังคลาเทศได้กักตัวชายชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 150 คน ระหว่างที่พยายามหลบหนีเข้าประเทศด้วยเรือขนาดเล็กในแม่น้ำนาฟ พวกเขาหลบหนีการจับกุมโดยพลการของเจ้าหน้าที่ชายแดนพม่าและกองทัพพม่าตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ระหว่างอยู่ที่เมืองดอ

 

ควรมีการสอบสวนสาเหตุเบื้องต้นของความรุนแรงอย่างถี่ถ้วน อย่างเป็นอิสระและอย่างไม่ลำเอียง และให้นำตัวผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงมาลงโทษ

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อสังเกตต่อไปว่า สาเหตุความรุนแรงครั้งนี้มีความสำคัญเท่ากับผลกระทบที่เกิดขึ้น และทางการพม่าควรให้คำมั่นสัญญาแบบเดียวกันที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว

 

การทำงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลกชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอาจเป็นสิ่งจำเป็นในบางกรณี แต่ก็เป็นการระงับสิทธิบางอย่างชั่วคราวแม้จะเป็นการปกป้องสิทธิส่วนอื่น ๆ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐยะไข่ควรยกเลิกโดยเร็วสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และควรให้คณะผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติ โดยเฉพาะที่ประกอบด้วยตัวแทนจากประชาคมอาเซียน ให้เข้าไปทำหน้าที่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง

 

สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างชุมชนชาวยะไข่และโรฮิงญาเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านศาสนา ผู้สังเกตการณ์ควรพยายามประกันว่า ในการรักษาความสงบระหว่างชาติพันธุ์จะต้องไม่นำไปสู่การจำกัดเสรีภาพด้านศาสนา

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเน้นว่า การฟื้นฟูสภาพก่อนเหตุการณ์รุนแรงยังไม่เพียงพอ เนื่องจากในหลายทศวรรษที่ผ่านมานโยบายของทางการพม่ามีแนวโน้มที่จะเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อชาวโรฮิงญา ในระหว่างปี 2534-2535 กองกำลังทหารได้บังคับให้ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนต้องอพยพหลบหนีไป แม้ว่าพม่าจะเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ทางการพม่ายังคงปฏิเสธไม่ยอมให้สัญชาติต่อลูกหลานชาวโรฮิงญา ผลจากการอ้างพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2525 เพื่อปฏิเสธการให้สัญชาติต่อบุคคล เป็นเหตุให้ชนกลุ่มน้อยด้านชาติพันธุ์และศาสนาสามารถเข้าถึงสิทธิอย่างจำกัดในด้านการเรียนหนังสือ การทำงาน การเดินทาง การแต่งงาน การปฏิบัติตามหลักศาสนา และการได้รับบริการด้านสุขภาพ

 

ตามถ้อยคำของอดีตนักโทษการเมืองเมื่อเร็ว ๆ นี้ การเลือกปฏิบัติเช่นนี้เป็นผลมาจากอคติต่อชาวโรฮิงญาซึ่งลุกลามมากยิ่งขึ้น

 

ทางการพม่าต้องอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาได้รับสัญชาติ เพื่อให้ได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้ และให้ยกเลิกนโยบายและการปฏิบัติใด ๆ ที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อพวกเขา

 

ข้อมูลพื้นฐาน

 

ในวันที่ 28 พฤษภาคม ได้เกิดเหตุการณ์สังหารและข่มขืนกระทำชำเราต่อหญิงชาวยะไข่ที่เป็นพุทธอายุ 27 ปีที่เมืองดอ มีรายงานข่าวว่าวันต่อมา ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่เป็นมุสลิมสามคน ในวันที่ 3 มิถุนายน ฝูงชนชาวยะไข่ประมาณ 300 คนที่เมืองตองกุบ ได้บุกเข้าไปขวางรถโดยสารซึ่งกำลังเดินทางไปยังกรุงย่างกุ้ง เนื่องจากเชื่อว่าผู้กระทำผิดอยู่ในรถคันดังกล่าว จากนั้นได้ลากตัวผู้โดยสารชาวมุสลิม 10 คนลงมาซ้อมจนเสียชีวิต เป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงด้านชาติพันธุ์และศาสนาอย่างกว้างขวางและดำเนินสืบมาจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐยะไข่เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน แต่สถานการณ์ก็ยังตึงเครียดเช่นเดิม

 

www.matichon.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม