(19 มิ.ย.55) ในการประชุมสังคมวิทยาระดับชาติ ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “แผ่นดินเดียวกันแต่เหมือนอยู่คนละโลก ? : วาระการวิจัยเพื่ออนาคต” ผกาวดี สุพรรณจิตวนา นักวิชาการสาธารณสุข เสนองานวิจัยเรื่อง “การช่วยเหลือทางการแพทย์ในสถานการณ์ความรุนแรงกับพลวัตของความไว้วางใจ” โดยกล่าวว่า เหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดคำถามคือ กรณี เสธ.แดง ที่ถูกยิงห่างจากประตูโรงพยาบาลจุฬาฯ ไม่เท่าไหร่ แต่ถูกนำส่งโรงพยาบาลที่ไกลออกไปมาก ประเด็นสำคัญคือ เกิดอะไรขึ้นกับความไว้วางใจของบุคลากรหรือของสถาบันทางด้านการรักษาพยาบาล จนทำให้ไม่กล้านำคนเจ็บสาหัสเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ได้ชื่อว่าอันดับหนึ่งของประเทศ
โดยเมื่อย้อนดูที่มา จะพบการแสดงบทบาทของบุคลากรทางการแพทย์หลายอย่างที่นำมาสู่จุดนั้น บุคลากรทางการแพทย์หลายคนแสดงจุดยืนโดยไม่ใช่ความรู้ทางการแพทย์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่บอกว่าในฐานะแพทย์ รู้สึกหรือมีจุดยืนอย่างไรกับความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิด
อีกกลุ่มคือกลุ่มที่เอาความรู้ความสามารถทางการแพทย์มาเป็นเงื่อนไขทางการเมืองเรียกร้องประเด็นบางอย่างทางการเมือง เช่น การแถลงข่าวงดตรวจตำรวจในเครื่องแบบ ประเด็นนี้ก่อให้เกิดการวิจารณ์จริยธรรมทางการแพทย์อย่างรุนแรงทั้งในกลุ่มแพทย์เองและสังคมทั่วไป หรือการใช้ความรู้ทางการแพทย์เจาะเลือดไม่ใช่เพื่อการรักษา แต่เพื่อแสดงออกทางการเมืองว่า พร้อมพลีเลือดเพื่อประเทศชาติ ทั้งสองกรณีนี้เป็นกลุ่มที่บอกว่าความรู้ทางการแพทย์ถูกนำมาใช้สนับสนุนทางการเมือง
และกลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่บอกว่า ไม่เข้าข้างฝ่ายใด ใครเข้ามาก็รักษา ปัญหาคือพื้นที่รักษาอยู่ตรงไหน โดยพื้นที่ที่เข้าไปรักษาบางครั้งเกี่ยวข้องกับการบอกว่าตัวเองอยู่ข้างไหน ทั้งนี้ บางที ทำงานอยู่ที่เดิม แต่ถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นกลาง
ผกาวดีชี้ว่า บทบาทของบุคลากรทางการแพทย์อย่างน้อยสามบทบาทซ้อนทับกัน และไม่สามารถแสดงความชัดเจนในตัวเองออกมาได้ โดยการอ้างว่า ให้ความช่วยเหลือโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด บางทีไม่ได้ถูกสาธารณชนรับรู้ในลักษณะนั้น โดยเฉพาะคู่กรณีของแต่ละฝ่ายไม่ได้รับรู้ว่าความเป็นกลางของบุคลาการทางการแพทย์ในช่วงที่มีวิกฤตทางการเมืองนั้นเป็นกลางจริงหรือไม่ จนนำมาสู่การบุกโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อตรวจค้นในเดือนเมษายน หรือประนามบุคลาการทางการแพทย์ในหลายเหตุการณ์ว่าไม่มีจริยธรรม
คำถามคือ เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ ควรทำอย่างไร อยู่เฉยๆ ใครเข้ามาก็รักษา หรือเมื่อถูกกล่าวหาจะทำอย่างไร และเครื่องมือ-ความรู้ทางการแพทย์ สามารถเป็นเงื่อนไขในการแสดงความเห็นทางการเมือง ได้หรือเปล่า ทำให้เกิดสันติวิธีหรือลดความรุนแรงได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม เรื่องการช่วยเหลือหรือการแทรกแซงทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นในต่างประเทศเช่นกัน โดยยังเป็นที่โต้แย้งกันอย่างมาก และปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุป โดยการช่วยเหลือหรือการแทรกแซงทางวัฒนธรรมนั้นมีหลักการว่าต้องยึดความทุกข์-ความยากลำบากของมนุษย์ กรณีกาชาดมีหลักที่ยึดว่า ไม่เผยแพร่หรือประนามฝ่ายใดในพื้นที่ที่ตัวเองทำงาน แต่ก็มีแพทย์กลุ่มย่อยที่ทำงานกับกาชาด บอกว่ากาชาดไม่เป็นกลางจริง แต่สนับสนุนความรุนแรงให้ดำรงอยู่และรุนแรงมากขึ้น เพราะเมื่อเจอรัฐทำรุนแรง กลับปิดปากเงียบ ก้มหน้าก้มตารักษาต่อไป ด้วยเหตุนี้ แพทย์บางกลุ่มจึงแยกตัวออกมา โดยกลุ่มที่เด่นมากคือ กลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน เพื่อเผยแพร่ว่าประเทศนั้นๆ รัฐบาลโหดร้ายกับประชาชนอย่างไร
อย่างไรก็ตาม การแยกตัวออกมาไม่ได้ทำให้เกิดคำถามเรื่องการปฏิบัติที่แตกต่างเท่านั้น แต่มีความไม่ไว้วางใจในจริยธรรมทางการแพทย์ในทางระหว่างประเทศด้วย ที่พูดถึงมาก คือ กรณีกาชาดในอิรักที่โดนทั้งคาร์บอมและระเบิดหลายครั้ง มีคำถามว่ากาชาดเข้าไปช่วยอย่างดีที่สุดแล้ว ทำไมจึงถูกทำร้าย ก็มีงานศึกษาพบว่า การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในอิรักทั้งหมด ถูกกำหนดโดยรัฐบาลจอร์จ บุชทั้งสิ้น โดยเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ทางการทหาร เพื่อให้ประชาชนอิรักหันมาหาสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ยังมีคำถามถึงอิสระในการให้ความช่วยเหลือด้วย โดยพบว่าองค์กรช่วยเหลือทางมนุษยชนหลายแห่งดำรงอยู่ด้วยเงินบริจาคโดยเฉพาะจากแถบยุโรปหรือสหรัฐฯ รวมถึงการบริจาคให้กับองค์กรต่างๆ ก็ขึ้นกับความสนใจของผู้บริจาค เช่น กรณีสึนามิอาจได้รับความสนใจมาก ขณะที่ไม่มีใครยอมบริจาคให้คองโก ซึ่งเกิดการฆ่าจำนวนมาก
รวมถึงปัญหาด้านจริยธรรมที่เกิดจากการขยายขอบเขตหน้าที่จากการเป็นผู้ช่วยเหลือมาเป็นผู้สร้างเงื่อนไขให้เกิดสันติภาพ โดยในลิเบีย บาห์เรน ซีเรีย บุคลากรทางการแพทย์ถูกจับ ถูกฆ่า และถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนการก่อการร้าย ทั้งที่แพทย์ทำงานที่เดิม รักษาคนไข้ที่เดิม แต่ประเด็นคือชุมชนนั้นต่อต้านรัฐบาล เมื่อรัฐบาลทหารยึดพื้นที่นั้นได้ ก็จับแพทย์ที่ผ่าตัดผู้ประท้วงมาฆ่าด้วยข้อหาช่วยเหลือผู้ก่อการร้าย
"ส่วนของไทยเอง ตั้งแต่ 7 ต.ค.51 จนกระทั่งถึง 29 เม.ย.53 ในเหตุการณ์บุกโรงพยาบาลจุฬาฯ จะเห็นว่ามันมีปัญหาความไม่ไว้วางใจจากการแสดงบทบาทดังที่ดิฉันได้กล่าวมาตอนต้น แล้วสุดท้ายการปฏิเสธการรักษาแบบมีเงื่อนไขของแพทย์บางกลุ่มและการใช้ความรู้ทางการแพทย์แสดงออกทางการเมือง ย่อมนำไปสู่การที่มีทั้งแนวคิด จริยธรรมและหลักการปฏิบัติทางการแพทย์ที่มีการโต้แย้งกันอยู่และหาข้อสรุปไม่ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่เหมาะสมที่สุดที่ตัวเองควรจะทำในแต่ละสถานการณ์ แม้จะประกาศว่าเป็นกลางอย่างที่สุดและไม่เลือกฝ่ายมากที่สุด สังคมก็ยังไม่สามารถรับรู้ในประเด็นนั้นได้ จึงกลายเป็นบริบทที่ยังท้าทายบุคลากรทางการแพทย์และบริบทในประเทศไทย ซึ่งความรุนแรงก็ยังไม่จบสิ้นซะทีเดียว"
อย่างไรก็ตาม ผกาวดีกล่าวถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่ายังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยจากการได้มีการลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อไปดูว่าผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงมีการปฏิบัติทางการแพทย์อย่างไร เบื้องต้นพบว่า มีการใช้ความรู้ทางการแพทย์ตอบโต้กับอำนาจและความรุนแรง อาทิ การปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลคนไข้ที่ทหารต้องการตามจับ การห้ามไม่ให้ทหารเข้าไปตั้งค่ายในสถานีอนามัย หรือการยืนยันจะเข้าไปในพื้นที่ แม้จะถูกไล่จากประชาชนเพราะไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น