วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

หายห่วง หนี้ยุโรป ย้ำ ธปท รับไหว

แบงก์ชาติ ประเมินสถานการณ์รับมือผลกระทบวิกฤติหนี้ยุโรป ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการพิเศษมารับมือ ยังไม่เห็นสัญญาณการไหลออกของเงินทุนที่น่ากังวล เสถียรภาพระบบการเงินของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี มีความมั่นคง ยอมรับถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในขณะนี้

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวหลังการประชุมระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ว่าการหารือร่วมกันในครั้งนี้ คณะกรรมการทุกคนได้วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ และประเมินว่า ระบบสถาบันการเงินของไทยนั้น มีเสถียรภาพที่ดี มีปัจจัยพื้นฐานเข้มแข็ง มีความมั่นคง เพียงพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดขณะนี้ คือ ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปที่ยืดเยื้อ และอาจกระทบต่อเสถียรภาพของตลาดการเงินระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลก ซึ่งในระยะสั้นอาจสร้างความผันผวนทั้งตลาดเงินตลาดทุนไทย ส่วนสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศ อาจตึงตัวเป็นระยะ โดยในระยะยาวเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจากปัญหายุโรปย่อมส่งผลกระทบต่อไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ทั้ง 2 บอร์ด ได้หารือเกี่ยวกับทางเลือกของนโยบายและความเป็นไปได้ในการใช้เครื่องมือเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และสนับสนุนให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ การประชุมร่วมจะมีขึ้นเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หรือเมื่อมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม จากการประเมินที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการใดๆ เป็นพิเศษเพิ่มเติม เพื่อรองรับปัญหาของยุโรป แต่จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

“การประชุมรอบถัดไปจะมีขึ้นเดือน ธ.ค.นี้ แต่ขณะนี้ที่ประชุมเห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะนำเครื่องมือทางการเงินออกมาใช้กรณีพิเศษ เพียงแต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากตลาดโดยรวมยังมีความเป็นห่วงต่อผลกระทบที่จะลุกลามในวงกว้าง” นายประสาร กล่าว

ขณะที่เรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนนั้น ที่ประชุมไม่ได้มีการพิจารณาเป็นการเฉพาะ แต่ประเมินการเคลื่อนย้ายเงินทุนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ยังเป็นเงินสุทธิไหลเข้า แม้ในช่วงเดือนหลังๆ จะมีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้บ้าง แต่สถานการณ์ไม่ได้อยู่ในระดับน่าเป็นห่วง

นายประสาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุมประเมินว่า หากกรีซจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วปัญหาน่าจะลดได้ระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นสถานการณ์ต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากปัญหาจากกรีซมีผลกระทบ 4 ด้าน คือ 1.ตลาดการเงิน โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน 2.หนี้สินภาครัฐที่อยู่ในระดับสูง 3.ความสามารถในการแข่งขันที่แตกต่างกันมาก ซึ่งไม่สามารถใช้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเดียวกันเป็นเครื่องมือ และ 4. ประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายของสถาบันต่างๆ ยังมีไม่เพียงพอ ถือเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งเชิงโครงสร้าง โดยประเทศไทยต้องติดตามผลที่จะเกิดขึ้นว่าจะมีลักษณะอย่างไรหรือยืดเยื้อเพียงไร ซึ่งปัญหาดังกล่าวต้องใช้เวลาในการไตร่ตรอง

“หลังผลการเลือกตั้งของกรีซ น่าจะทำให้ตลาดการเงินโลกคลายความกังวลได้ระดับหนึ่ง โดยคาดว่าในช่วง 1-2 วัน ตลาดการเงินจะมีทิศทางค่อนไปในทางที่ดี ประกอบกับในช่วงสัปดาห์นี้ จะมีการประชุมระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งน่าจะมีมาตรการบางอย่างออกมาเพิ่มเติม” นายประสาร กล่าว

สำหรับประชุมร่วมระหว่าง กนง. และ กนส. นั้นถือเป็นการหารือร่วมกันครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์ที่เกิดจากแนวคิดต้องการดูแลสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ควรจะพิจารณาให้ครอบคลุมทุกด้าน ซึ่ง กนง.จะดูแลด้านการเงิน ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย การเคลื่อนย้ายเงินทุน อัตราแลกเปลี่ยน ส่วน กนส. จะเน้นการกำกับสถาบันการเงิน การดูแลเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ดังนั้นจึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและการประสานงานในแต่ละด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น และหากมีความจำเป็นในการดำเนินการมาตรการต่างๆ ควรเลือกใช้เครื่องมือที่มีความผสมผสาน

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ถึงแม้ผลการเลือกตั้งของประเทศกรีซ จะออกมาในทางที่ดีและนักลงทุนให้การตอบรับ โดยตลาดหุ้นในหลายประเทศปรับตัวขึ้น แต่ช่วงนี้นักลงทุนไทยควรระวังความผันผวนต่อเนื่องในช่วง 1-2 เดือนนี้ เนื่องจากสถานการณ์ของกรีซ แม้จะได้รัฐบาล แต่ยังต้องติดตามดูว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ หรือมีเงื่อนไขต่อรองในระยะต่อไปอย่างไร

ด้าน นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวในการสัมมนาวิกฤติหนี้อียูผลกระทบการคลังสัมมนาวิกฤติหนี้อียูผลกระทบและทางออก ว่ากรณีที่กรีซจะต้องออกจากยูโรโซน คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจในสหภาพยุโรปขยายตัวติดลบ 0.9% ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 5.5% แต่หากอียูติดลบมากขึ้น ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากประเทศไทยยังคงพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูง และผลกระทบทางอ้อมจากการส่งออกของประเทศไทยกรณีที่อียูติดลบจะมีมากขึ้น

 

www.banmuang.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม