วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

หนังสือพิมพ์บ้านเมือง » ช้างคืนถิ่นเพื่อพัฒนาสุรินทร์บ้าน

จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงช้างมากที่สุดในประเทศไทย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศว่าเป็นเมืองช้าง โดยส่วนใหญ่จะเลี้ยงช้างในบริเวณพื้นที่บ้านตากลางและหมู่บ้านใกล้เคียงในตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม การเลี้ยงช้างของคนสุรินทร์จะแตกต่างจากการเลี้ยงช้างของคนในภูมิภาคอื่นที่เลี้ยงช้างเพื่อเอาไว้ใช้แรงงานเป็นเสมือนเครื่องมือในการทำมาหากิน แต่คนสุรินทร์จะเลี้ยงช้างและปฏิบัติต่อช้างเสมือนหนึ่งเป็นเพื่อน เป็นสมาชิกหนึ่งในครอบครัว ทุกเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญของชุมชน จะต้องมีช้างเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเสมอจนกลายเป็นวิถีชีวิตความผูกพันระหว่างคนกับช้างที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งเมืองสุรินทร์จนถึงปัจจุบัน

เมื่อกระแสการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้รุกคืบเข้าในพื้นที่ ความต้องการพื้นที่เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจก็มีมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้การบุกรุกคืบเข้ามาในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูดิน ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงสายทอ และป่าบุ่ง-ป่าทาม บริเวณวังทะลุ ซึ่งเดิมเคยเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชอาหารช้างและสมุนไพรรักษาช้าง จึงทำให้พืชอาหารช้างในพื้นที่ลดลงไม่เพียงพอกับความต้องการของช้างที่มีอยู่ในพื้นที่ ประกอบกับควาญช้างหรือเจ้าของช้างไม่มีอาชีพอื่นที่มั่นคงนอกจากการเลี้ยงช้าง ควาญช้างหรือเจ้าของช้างจึงต้องนำช้างไปรับจ้างอยู่ตามปางช้างต่างๆ และในอีกส่วนหนึ่งได้นำช้างไปเร่ร่อนขายของที่ระลึกและขายของต่างๆ เพื่อความอยู่รอดของคนกับช้างจนเป็นที่ติดปากของคนกรุงเทพฯ ว่าช้างขอทาน และจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวควาญช้างจะนำไปหากินในพื้นที่จังหวัดและปริมณฑลจนเป็นที่รำคาญของบรรดานักท่องเที่ยวตลอดจนบรรดาผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่

จากสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น นายสมพงษ์ อนุยุทธพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ในสมัยนั้น ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาหมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และองค์กรเอกชนต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกจังหวัด เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนและพัฒนาหมู่บ้านช้างตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่แสดงถึงวิถีชีวิตความผูกพันระหว่างคนกับช้างซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในโลก โดยคณะกรรมการได้มอบหมายให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ (อบจ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการดำเนินการจัดทำ “โครงการช้างคืนถิ่นเพื่อพัฒนาสุรินทร์บ้านเกิด” เพื่อรวบรวมช้างในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ที่ออกไปเร่ร่อนตามจังหวัดต่างๆ ให้กลับมาอยู่รวมกันอย่างอบอุ่น และช่วยกันพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนให้เป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลกตลอดจนฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้มีความเหมาะสมต่อการเลี้ยงช้างอย่างยั่งยืนต่อไป

โครงการนำช้างคืนถิ่นเพื่อพัฒนาสุรินทร์บ้านเกิด ได้ริเริ่มเปิดโครงการเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2549 โดยใช้สถานที่ศูนย์คชศึกษาบ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เป็นสถานที่ดำเนินงาน ปัจจุบันมีช้างที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 69 เชือก และมีช้างเร่ร่อนที่แจ้งความจำนงขอเข้าร่วมโครงการอีกประมาณหลายเชือก แต่เนื่องจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ในสมัยนั้นมีงบประมาณอย่างจำกัดจึงไม่อาจที่จะรับช้างเข้าร่วมโครงการในขณะนั้นได้ทั้งหมด

ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานตามโครงการนำช้างคืนถิ่นเพื่อพัฒนาสุรินทร์บ้านเกิด ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ศูนย์คชศึกษาและบริเวณใกล้เคียงมาโดยตลอด ทั้งนี้โดยได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการต่างๆ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ให้การสนับสนุนงบประมาณแบบบูรณาการ (C.E.O) แก่ส่วนราชการที่รับผิดชอบในการดำเนินการสนับสนุนโครงการงบประมาณ 17,330,000 บาท สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุรินทร์รับผิดชอบในการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาศูนย์คชศึกษาและดำเนินการก่อสร้างอาคารโอท็อป ที่จอดรถ ห้องน้ำ และปรับภูมิทัศน์ โดยใช้งบประมาณผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ (C.E.O) จำนวน 8,000,000 บาท สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุรินทร์รับผิดชอบให้จังหวัดเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูดิน อำเภอท่าตูม จำนวน 6,255 ไร่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ รับผิดชอบ ในการปลูกแปลงพืชอาหารจำนวน 300ไร่ โดยใช้งบ C.E.O งบประมาณ 2,751,000 บาท โครงการชลประทานสุรินทร์ใช้งบประมาณ C.E.O 6,000,000 บาท สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์รับผิดชอบการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ปลูกพืชสวนหลังบ้านโดยใช้เงินงบประมาณ C.E.O 579,000 บาท สำนักงานทางหลวงชนบทซึ่งดูแลรับผิดชอบและบูรณะเส้นทางเข้าสู่หมู่บ้านช้างโดยใช้เงินงบประมาณของทางหลวงชนบทตลอดจนองค์การบริหารส่วนตำบลกระโพรับผิดชอบปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในตำบลกระโพ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์รับผิดชอบในการดูแลบริหารจัดการศูนย์คชศึกษาจ้างช้างเร่ร่อนเข้าร่วมโครงการและจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในศูนย์คชศึกษา

ผลการพัฒนาที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี ของโครงการช้างคืนถิ่นเพื่อพัฒนาสุรินทร์บ้านเกิด เป็นเพียงก้าวย่างแรกของการพัฒนาสู่การเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น ยังคงมีสิ่งต่างๆ ที่รอคอยการเติมเต็มลงไปให้กับโครงการ เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ในด้านการจัดการการท่องเที่ยวและสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนแห่งบ้านตากลาง ตำบลกระโพอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นต้องใช้เงินงบประมาณในการดำเนินงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องได้รับเงินสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงมหาดไทย มูลนิธิหมู่บ้านช้างการบินไทย มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย สมาคมช้างไทย ตลอดจนห้างร้านเอกชน

ชาวสุรินทร์ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้ช้างได้กลับมาอยู่ที่บ้านเกิดเมืองนอนอย่างสมศักดิ์ศรีของชาวช้าง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพาหนะของพระมหากษัตริย์ไทยในเวลาที่ต้องต่อสู้กับอริราชศัตรู เคยเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติในฐานะเครื่องหมายบนผืนธงชาติสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัยจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนเชื่อว่าโครงการนำช้างคืนถิ่นเพื่อพัฒนาสุรินทร์บ้านเกิดจะผลักดันให้วิถีชีวิตความผูกพันระหว่างคนกับช้างกลับมาแน่นแฟ้นเหมือนเดิมเช่นในอดีตกาล และสามารถนำมาอวดชาวโลกได้ชื่นชมอย่างมีศักดิ์ศรีตลอดจนความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวจังหวัดสุรินทร์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวที่ผ่านมาถือว่ายังไม่ผ่านตามวัตถุประสงค์ของคนสุรินทร์ที่อยากให้ช้างกับคนมาอยู่ร่วมกัน ยังมีช้างอีกหลายเชือกที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการที่จะต้องออกไปเร่ร่อนขายอาหารยามเวลาค่ำคืน บางครั้งต้องได้รับอุบัติเหตุจากการเร่ร่อนเดินทางไปไกลแสนไกลด้วยความลำบากและกล้ำกลืนจากชีวิตที่ยากจน ทีคนบางคนได้ถามกันว่าคนขอทานหรือช้างขอทานกันแน่ นี่เป็นเรื่องที่คนในจังหวัดสุรินทร์ต้องออกมารับกรรมแทนกับคำพูดที่นักท่องเที่ยวบางคนที่พูดออกไป

เรื่องราวทั้งหมดผู้สื่อข่าวเองไม่ได้มีเจตนาที่จะต้องเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียกับใคร ที่ชาวช้างได้พูดออกมาหลายปากว่าช้างที่ได้อยู่ดีกินดีนั้นมันเป็นช้างที่มีนายทุนหนุนหลังและช้างทุกเชือกที่เห็นและได้เข้าโครงการนั้นถือว่าเป็นช้างที่มีผู้ดูแลอยู่แล้วส่วนช้างที่ออกไปเดินเร่ร่อนนั้นเป็นเพียงช้างที่คนกับช้างและครอบครัวของช้างออกไปหาลำไพ่พิเศษ แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ประชาชนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกันหมด ช้างของใครหรือคนของผู้ใดโครงการต่างๆ ที่ทางรัฐบาลได้จัดสรรเข้ามาต้องได้รับผลประโยชน์ด้วยกันทั้งหมดอย่ามัวแต่เลือกข้างเลือกสีกันอยู่เลยครับช้างก็หิวคนก็หิวแต่ผลประโยชน์ฯของช้างต้องมาก่อน ฝาก “กิตติภัทร์ รุ่งธนเกียรติ” ว่าที่นายก อบจ.สุรินทร์ คนใหม่ คนมีฝีมือในการบริหารที่จะเข้ามาบริหารไปไม่กี่วันนี้ช่วยสานต่อหน่อยครับ อย่ามัวให้คนกับช้างออกเดินเร่ร่อนขอทานอยู่เลยครับ เพราะคนสุรินทร์บางคนได้ผลประโยชน์จากช้างมหาศาลแล้ว ถึงอย่างไรก็ให้ควาญช้างได้ผลประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนเท่านี้ก็ชื่นใจแล้วครับ


www.banmuang.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม