วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

KU Eco-Library ห้องสมุดต้นแบบแห่งการเรียนรู้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ในยุคของการสื่อสารไร้รอบเขต การค้นหาข้อมูลและความรู้ต่างๆ สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 1 ของประเทศ และอันดับที่ 44 ของโลก จากการจัดอันดับของ UI Green Metric University Ranking ปี 2011 ก็ได้มุ่งเน้นการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว หรือ KU Green Campus และได้จัดทำห้องสมุดแห่งแรกที่ได้พัฒนาให้เป็น Eco-Library สำหรับห้องสมุด Eco เป็นอย่างไรนั้น มาทำความรู้จักกับห้องสมุดต้นแบบแห่งการเรียนรู้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันก่อน

KU Eco-Library เป็นห้องสมุดที่นำผลงานสร้างสรรค์จากการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักหอสมุดและศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากวัสดุเหลือใช้ หรือ ที่รู้จักกันว่า Scrap Lab คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ที่ใครๆ ก็ทราบกันดีว่าเป็นผู้มีแนวคิดในการออกแบบที่เฉียบแหลม โดยออกแบบเนรมิตให้เป็นห้องสมุดต้นแบบแห่งการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการสัมผัสจริงจากงานออกแบบสร้างสรรค์บนเส้นทางสีเขียว โดยผ่านสื่อความรู้ การสัมผัสจริง นอกจากสื่อสิ่งพิมพ์ และทรัพยากรสารสนเทศที่รวบรวมไว้ให้บริการจากห้องสมุดทั่วๆ ไป แต่ KU Eco-Library เน้นให้ผู้ใช้บริการได้เรียนรู้การออกแบบตกแต่งห้องสมุดด้วยวัสดุเหลือใช้ ไม่ว่าจะเป็นการนำดัชนีตู้บัตรรายการหนังสือที่ไม่ใช้แล้ว เนื่องจากปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อสะดวกและรวดเร็วต่อการค้นหาข้อมูล มาดัดแปลงเพื่อใช้ออกแบบให้ดูสวยงามและเป็นประโยชน์ การออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากโต๊ะและเก้าอี้ที่เสื่อมสภาพของห้องสมุด การนำชุดยูนิฟอร์มที่ไม่ใช้แล้วมาออกแบบเป็นชุดเก้าอี้รับแขก การใช้เศษผ้าจากโรงงานมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์เพื่อใช้ในงานห้องสมุด และการนำกล่องกระดาษใส่แฟ้มมาประดับตกแต่งเป็นช่องใส่หนังสือด้วยการออกแบบที่ดูสวยงาม ไม่เปลืองพื้นที่ใช้สอย เป็นต้น

KU Eco-Library ห้องสมุดเพื่อความยั่งยืนแห่งนี้ ได้ออกแบบที่เน้นการใช้ครุภัณฑ์เก่าและวัสดุเหลือใช้ต่างๆ โดยนำความรู้จาก Scrap Lab มาใช้ในการคัดเลือกวัสดุศึกษาและออกแบบพื้นที่การใช้งานของ Eco-Library ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ

Common reading space หรือ Eco-space ให้บริการหนังสือทั่วไป เช่น วรรณกรรมเยาวชน เรื่องสั้น เรื่องแปล หนังสือธรรมะ และหนังสือด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน

Kid Playspace เพื่อใช้งานที่หลากหลายสำหรับเด็ก เช่น หนังสือนิทาน หนังสือการ์ตูน หนังสือส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ

Alumni space เป็นพื้นที่ให้บริการแก่นิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับศึกษาหาความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ การศึกษาต่อ รวมทั้งจุดบริการข่าวสารเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตเก่ากับมหาวิทยาลัยฯ

ทั้ง 3 ส่วนได้ถูกออกแบบโดยไม่มีประตูปิดกั้น เปิดให้ทุกคนที่ใฝ่รู้เข้ามาใช้งาน ส่วนสีสันที่เลือกใช้เป็นสีขาวด้าน เห็นลายไม้ให้ความรู้สึกสงบอบอุ่นเหมือนห้องสมุดในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นผลิตมาจากวัสดุเหลือใช้ที่พัฒนาร่วมกับผู้ประกอบหลายภาคส่วน

จุดเด่นของ Eco-space คือ Trees of Knowledge ซึ่งเป็นชั้นวางหนังสือทรงกลมขนาดใหญ่ทำจากแผ่น MDF คละสี ซึ่งเหลือจากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งมองแล้วเหมือนต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยความรู้และมีพื้นที่ภายในที่สงบเป็นจุดรวมสายตาของห้อง รอบๆ ห้องประกอบด้วย Waterfall of Intelligence ซึ่งเป็นม่านที่มีวารสารต่างๆ สอดอยู่มากมาย ช่วยลดเสียงสะท้อน และเพิ่มความอบอุ่นกับผู้ใช้ แถบสีต่างๆ มาจากการคัดเลือกและตัดเย็บจากผ้าคงคลังของโรงงาน ส่วนบริเวณใต้หน้าต่างอีกด้านของ Eco-space คือ Canyon of Discovery ที่ออกแบบให้มีจังหวะและจัดวางชั้นหนังสือคล้ายซอกหินผา จะเป็นบริเวณอ่านหนังสือที่มีแสงธรรมชาติ และ stations สำหรับ check-out หนังสือด้วยตนเอง

ส่วนการให้บริการใน KU Eco-Libray มุ่งเน้นให้บริการแบบประหยัดพลังงานและทรัพยากร ผู้ใช้บริการสามารถมีส่วนร่วมด้วยการบริการตนเองและช่วยบริการผู้อื่น โดยสืบค้นหนังสือด้วยตนเองผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จัดไว้ให้บริการ ยืมหนังสือด้วยตนเองผ่านเครื่องยืมอัตโนมัติ ช่วยกันจัดเก็บหนังสือที่ใช้แล้วให้เป็นระเบียบ และช่วยกันดูแล Eco-Library ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงาน Kasetsart University Eco-Library ห้องสมุดเพื่อความยั่งยืนแห่งแรกของประเทศไทย จะเป็นห้องสมุดต้นแบบเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของนักเรียน นิสิต บุคลากร ชุมชน และประชาชนทั่วไป อ่านได้ทุกวัน อ่านได้ทั้งครอบครัว เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม พร้อมพึ่งพาตนเองโดยใช้ระบบห้องสมุดเปิดเผยรหัส “จินดามณี” ที่พัฒนาขึ้นร่วมกับการใช้โปรแกรม Open Source อื่นๆ เพื่อการใช้บริการ บริการจัดการแบบประหยัดทรัพยากร สร้างความมีส่วนร่วม มีสัจจะ และมีจิตสาธารณะ สนใจจะมาศึกษาดูต้นแบบของ KU Eco-Library ได้ที่ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

www.banmuang.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม