อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ บริษัทในกลุ่ม บี.กริม เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าในโครงการ SPP (Small Power Producer) รายแรกๆ และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย บริษัทวางแผนขยายโรงไฟฟ้าเป็น 16 โรง ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตโรงละ 90 เมกะวัตต์ และขายให้โรงงานกว่า 800 ราย ใน 6 นิคมอุตสาหกรรม
กลุ่ม อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ แจ้งแผนการดำเนินการขยายกิจการโรงผลิตไฟฟ้า ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย หรือ Small Power Producer (SPP) เพิ่มขึ้นเป็น 16 โรงจากเดิมในปัจจุบัน อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ มีโรงผลิตไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการอยู่ทั้งสิ้นจำนวน 3 โรง แบ่งเป็นจำนวน 2 โรงตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี และอีก 1 โรงตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้เบียนโฮ ประเทศเวียดนาม ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 363 เมกะวัตต์ สำหรับจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากกว่า 200 ราย
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (President) กล่าวว่า “เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างมาก ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในภาพรวมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม โดยในปี 2555 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน” ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปีเดียวกันนี้ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 26,355เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 7.27 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2554 ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 24,568เมกะวัตต์ และคาดการณ์ว่าในปี 2556 ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 27,443 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 4.13 เปอร์เซ็นต์จากปัจจุบัน
ดังนั้น อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จึงวางแผนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าว โดยปัจจุบันบริษัทกำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าอยู่อีก 3 โรง และตั้งเป้าว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 10 โรง รวมกับโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการอยู่จะเป็นจำนวนทั้งสิ้น 16 โรงใน 6 นิคมอุตสาหกรรมให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 16 โรง จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมากกว่า 800 ราย นอกเหนือจากที่ส่งให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
“ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเรียลเซ็คเตอร์ ที่ต้องการไฟฟ้าเพื่อไปผลิตสินค้าส่งออก ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และครอบคลุมอุตสาหกรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์, ไอที จนถึงระบบการคมนาคมขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นางปรียนาถกล่าวปิดท้าย
สำหรับกระบวนการผลิตไฟฟ้าของอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต นั้นระบบ Co-Generation Combined Cycle จะช่วยในเรื่องของการใช้ก๊าซธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากมีการใช้เชื้อเพลิงในปริมาณที่น้อยลง ทำให้ลดต้นทุนของประเทศในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งยังได้ผลผลิตไอน้ำที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆต่อไปได้ ทำให้เกิดการใช้พลังงานที่คุ้มค่า นอกจากนี้บริษัทยังคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและชุมชนเป็นหลัก ตามแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม บี.กริม ที่ยึดหลัก “การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี” ดังนั้น อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จึงส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคมและเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยได้ริเริ่มและดำเนินโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์ร่วมกับชุมชนมากมายอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย โครงการปลูกป่าชายเลน และโครงการการเรียนการสอนร่วมกับกรมอาชีวศึกษา เป็นต้น”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น